รู้ก่อนกังวล ลดเสี่ยงเลี่ยงมะเร็ง สำหรับทุกคนในครอบครัว

676

ทำไมต้องรอให้สงสัยว่าเราเสี่ยงเป็นมะเร็งหรือไม่? 

โรงพยาบาล พญาไท 2 สนับสนุนการรณรงค์เดือนแห่งการตระหนักถึง “โรคมะเร็ง” เพื่อให้คนทั่วโลกเล็งเห็นความสำคัญในการใส่ใจและป้องกันโรคมะเร็งก่อนจะเกิดอาการน่าสงสัย ซึ่งในปัจจุบัน โรคมะเร็ง นับเป็นโรคที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนไทย และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของคนทั่วโลก สำหรับประเทศไทย จากสถิติโรคมะเร็งของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบว่า แต่ละปีมีคนไทยป่วยเป็นมะเร็งรายใหม่ประมาณ 140,000 คน เสียชีวิตประมาณ 83,000 คน โดยโรคมะเร็งที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทย 5 อันดับแรก คือ 

·      มะเร็งตับและท่อน้ำดี

·      มะเร็งปอด

·      มะเร็งเต้านม

·      มะเร็งปากมดลูก

·      มะเร็งเม็ดเลือดขาว

วัยไหนเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็ง 

ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง จะเริ่มตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป แต่สำหรับกลุ่มโรคมะเร็งทางพันธุกรรมจะมีความเสี่ยงเกิดโรคมะเร็งในช่วงอายุตั้งแต่อายุ 40 ปี หรือน้อยกว่านั้น และกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ ของโรคมะเร็ง เป็นมะเร็งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ อีก 5 เปอร์เซ็นต์เป็นโรคมะเร็งที่เกิดจากพันธุกรรม โดยผู้ที่มียีนมะเร็งทางพันธุกรรมนี้จะมีแนวโน้มที่จะเกิดโรคมะเร็งเช่นเดียวกับคนในครอบครัวมากถึง 14 เปอร์เซ็นต์ ตามสถิติทางการแพทย์นั้นถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่สูง จึงต้องเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงนี้เป็นพิเศษ!! โรคมะเร็งทางพันธุกรรมเป็นโรคมะเร็งที่สามารถถ่ายทอดได้จากรุ่นสู่รุ่น และสามารถเกิดได้ตั้งแต่อายุยังน้อย

โรคมะเร็งทางพันธุกรรมนั้น เราไม่สามารถรู้ได้จนกว่าจะได้รับการตรวจเลือดหรือเกิดโรคมะเร็งขึ้นมาเสียก่อน แต่อย่างไรก็ดีคนไข้สามารถตั้งข้อสังเกตถึงความเสี่ยงได้จากข้อมูลการพบญาติในสายใกล้ชิด เช่น ยาย แม่ พี่น้องของคุณแม่ และพี่น้องของเราเอง มีประวัติป่วยเป็นโรคมะเร็ง ตั้งแต่ 1 – 2 คนขึ้นไป ให้ตั้งข้อสงสัยว่าตัวเราเองอาจมีสิทธิ์เป็นโรคมะเร็งทางพันธุกรรม หรือป่วยเป็นโรคมะเร็งตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 50 ปีหากสันนิษฐานว่าตัวเองอาจเป็นโรคมะเร็งที่เกี่ยวข้องกับพันธุกรรม ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยก่อนที่จะเกิดอาการน่าสงสัย เพื่อเป็นการป้องกันและรู้ทันไว้ก่อนในเบื้องต้น

ใส่ใจสุขภาพ และตรวจประเมินเบื้องต้นได้ด้วยการตรวจสารบ่งชี้มะเร็ง อีกหนึ่งวิธีตรวจที่ช่วยคัดกรองโรคมะเร็ง ด้วยการตรวจเลือด การตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็งจะใช้วิธีเจาะเลือดเพื่อหาค่าความผิดปกติภายในร่างกาย แนะนำให้ทำการตรวจควบคู่กับการตรวจคัดกรองในรูปแบบอื่นของมะเร็งชนิดนั้นๆ เพื่อความละเอียดและแม่นยำ เพราะถ้าหากเราพบความผิดปกติตั้งแต่ระยะเริ่มแรกของโรคก็ยิ่งเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายได้มากขึ้น โดยแพทย์จะซักประวัติและนำไปคำนวณหา

ความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งทางพันธุกรรม และหากพบว่าคนไข้มีความเสี่ยงจากประวัติครอบครัว แพทย์จึงทำการตรวจเลือดหายีนมะเร็งทางพันธุกรรมเพื่อยืนยันอีกครั้งว่าคนไข้มีสิทธิ์เป็นโรคมะเร็งชนิดใดได้บ้าง จากนั้นแพทย์จะทำการตรวจยีน 2 กลุ่ม คือยีน BRCA1 และ ยีน BRCA2 ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการเจริญเติบโตของเซลล์ หากพบว่ายีนทั้ง 2 กลุ่มนี้มีความผิดปกติ นั่นหมายความว่ามีโอกาสเกิดโรคมะเร็งและสามารถสืบทอดทางพันธุกรรมได้นั่นเอง

สังเกต สงสัย อาการก่อนเกิดโรคมะเร็ง?  

–          มีการเปลี่ยนแปลงของระบบขับถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ อย่างการถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ หรือปัสสาวะเป็นเลือด

–          มีการกลืนอาหารลำบาก หรือมีอาการเสียด แน่นท้องเป็นเวลานาน

–          มีอาการเสียงแหบและไอเรื้อรัง

–          มีเลือดออกผิดปกติ เป็นแผลเรื้อรัง

–          มีการเปลี่ยนแปลงของหูดหรือไฝตามร่างกาย

–          มีก้อนตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย

ตรวจมะเร็งก่อนเสี่ยงมีข้อดีมากกว่าที่คิด 

คนส่วนมากมักจะไม่อยากมาตรวจเพราะกลัวว่าจะเจอว่ามีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็ง แต่ความเป็นจริงแล้วการตรวจเลือดหายีนโรคมะเร็งทางพันธุกรรมนั้นมีข้อดีมากกว่าที่คิด และในปัจจุบันวิทยากรทางการแพทย์ก้าวหน้าไปมาก มีแนวทาง และยารักษาโรคใหม่เสมอ การที่คนไข้รู้ตัวเร็วจึงมีแต่ข้อดีมากกว่าข้อเสีย จึงอยากให้มองว่าเป็นโอกาสที่จะทำให้คนไข้ต่อสู้กับโรคร้ายได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะการตรวจสารบ่งชี้มะเร็งร่วมกับการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ ไม่เพียงแต่ช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นโรคมะเร็ง แต่ยังช่วยให้เรามีโอกาสรักษาโรคที่พบในระยะเริ่มต้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ และใช้ชีวิตในทุกๆ วันได้อย่างไม่ต้องเป็นกังวล และมีสุขภาพที่แข็งแรงจากการวางแผนดูแลตัวเองเมื่อได้รับการตรวจสุขภาพเป็นประจำในทุกๆ ปี

ใช้ชีวิตอย่างไรให้ไกลจากโรคมะเร็ง 

–          ไม่สูบบุหรี่ และไม่อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ต้องสูดดมควันบุหรี่ งดการดื่มแอลกอฮอล์

–          รับประทานอาหารอย่างพอเหมาะ ให้ได้สารอาหารครบถ้วน

–          ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

–          ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

–          ฉีดวัคซีนป้องกันในมะเร็งที่มีวัคซีน เช่น วัคซีนป้องกันไวรัสเอชพีวี สาเหตุมะเร็งปากมดลูก

–          หมั่นตรวจเช็กสุขภาพ โดยเฉพาะตรวจเช็คความเสี่ยงมะเร็งก่อนสงสัย เพื่อป้องกันไว้ก่อน 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ศูนย์มะเร็ง โรงพยาบาลพญาไท 2 ชั้น 7 อาคาร A โทร 02-617-2444 ต่อ 4701, 4732 หรือ 

Call Center 1772