อเล็กซ์ เรนเดลล์ :  รักษ์สิ่งแวดล้อมคือชีวิตประจำวัน

2499

อเล็กซ์ เรนเดลล์ ผู้ร่วมก่อตั้ง ศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษาประเทศไทย  (EEC  Thailand)

ถึงวันนี้เราทุกคนบนโลกคงยอมรับกันแล้วว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อม อยู่ใกล้ตัวเรามากขึ้นทุกที อากาศที่ร้อนมากขึ้นทุกปี ฝนที่ตกหนักกว่าเมื่อก่อน หรือพายุรุนแรงที่เกิดขึ้นบ่อยขึ้น ล้วนเป็นผลที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติที่มีมนุษย์เป็นผู้กระทำ  

ความตระหนักถึงการรุกรานธรรมชาติจนทำให้โลกเริ่มไม่น่าอยู่ จึงค่อยๆ เกิดขึ้นจากองค์กรที่ตั้งขึ้นมาเพื่อการนี้ ขยายต่อมาจนถึงองค์กรธุรกิจทั่วโลก  ที่นำแนวทาง ESG (Environmental, Social, Governance)  การดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และเป็นองค์กรที่มีธรรมาภิบาล มาใช้เป็นหลักในการดำเนินธุรกิจ

และเมื่อมองมาที่ประเทศไทย หนึ่งในผู้สร้างความตื่นตัวให้กับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่นักวิชาการ ไม่ใช่ข้าราชการ ไม่ใช่ผู้บริหารองค์กร แต่เป็นหนุ่มน้อยนักแสดงขวัญใจคอละครที่ทุกคนรู้จักกันดี  “อเล็กซ์ เรนเดลล์” 

ห้องรับแขก 362Degree ได้มีโอกาสต้อนรับ  อเล็กซ์ เรนเดลล์ ในฐานะ ผู้ร่วมก่อตั้ง ศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษาประเทศไทย (EEC  Thailand)  พูดคุยถึงมุมมองที่มีต่อสิ่งแวดล้อมโลก และสิ่งแวดล้อมในเมืองไทย 

“ผมมาสนใจสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง หลังเรียนจบปี 2555  โดยเริ่มจากเรื่องช้างเป็นเรื่องแรก ก่อนจะเปิดเป็นองค์กรอย่างจริงจังใน ปี 2558 ในชื่อ ศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษาประเทศไทย หรือ  EEC  Thailand  ผ่านมาถึงวันนี้กว่า 8 ปี ตลอดเวลาที่ผ่านมาผมว่าประเทศไทยมีการพัฒนาการรับรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ  ซึ่งการได้ทำงานในวงการบันเทิงเป็นนักแสดงด้วย  ทำให้ได้มีโอกาสไปร่วมงานด้านสิ่งแวดล้อมอยู่เป็นประจำ ได้เห็นถึงความสนใจของหน่วยงาน องค์กรต่างๆ ที่มีต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น” อเล็กซ์ เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการเข้ามาทำงานด้านสิ่งแวดล้อม 

EEC Thailand เป็นองค์กรย่อมาจาก Environmental Education Centre หรือ ศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษา เราสร้างกระบวนการการเรียนรู้เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในมุมมองของเรา โดยปกติจะมีการจัดกิจกรรมทำค่ายให้กับเยาวชนทุกสัปดาห์ มีค่ายป่า ค่ายทะเล เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เพราะเรามองว่าเรื่องของการศึกษา  การมอบองค์ความรู้ให้กับผู้ที่เข้ามาร่วมกับเรา จะเป็นจุดเริ่มต้นในการแก้ปัญหาได้ในหลายๆ อย่าง เพราะเราเชื่อว่า การศึกษาคือการแก้ที่ต้นเหตุ

อเล็กซ์ เล่าต่อว่า “ถ้าย้อนไปเมื่อ 8 ปีที่แล้ว เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นความสนใจเฉพาะกลุ่ม คนทั่วไปไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก  แต่ผ่านมาถึงวันนี้ เรื่องสิ่งแวดล้อมอยู่ใน Feed ของเรา อยู่ในโซเชียลของเรา มันเป็นเรื่องแมส องค์กรใหญ่ๆ เข้ามาให้ความสนใจ มีเครื่องมือ มีโนว์ฮาวในการสร้างการรับรู้ให้กับประชาชน ที่พวกเราพยายามให้โนว์ฮาวตรงนี้มาดัดแปลงไปในทางที่เป็นประโยชน์ต่องานของเรา”

“วันนี้เรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อม ในโรงเรียนมาการเรียนการสอนมากขึ้นกว่าในอดีต เพียงแต่ สิ่งแวดล้อมในเวลานี้มีปัญหามากขึ้นกว่าในอดีต ทำให้มีงานที่เพิ่มขึ้นมา หากคนไม่เข้าใจจริงๆ ก็คิดว่าต้องทำงานเพิ่ม จึงกลับมาที่ว่าทำไมเราจึงทำเรื่องของการให้การศึกษา เพราะเราคิดว่า ถ้าเราสามารถปลุกให้คนได้เข้าใจอย่างลึกซึ้งจริงๆ  ก็จะนำไปสู่การตัดสินใจ การบริหาร การใช้ชีวิตของแต่ละคนในครัวเรือน ในระดับจังหวัด  ทุกคน ถ้าเราสามารถสร้างให้เป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิต อยากให้วิชาสิ่งแวดล้อมศึกษา มันสำคัญ เหมือนกับวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เพราะคนเราบางทีเราเรียนคณิตศาสตร์ บางคนอาจไม่ได้ใช้ แต่ทุกคนต้องการความยั่งยืนในทุกๆ มุมมอง การใช้ชีวิต การเงินของเราก็ต้องการความยั่งยืน ลูกหลานของเราก็ต้องการสร้างความยั่งยืนให้กับเขา ดังนั้น เรื่องของ Sustainability  ได้ครอบคลุมไปทุกอุตสาหกรรมแล้ว”

“เรื่อง ESG หากมองในแง่มุมของผู้หลักผู้ใหญ่ ผมคิดว่าท่านเข้าใจ และมีหลายๆ ส่วน หลายๆ องค์กรที่จะเดินไปสู่จุดนั้นให้ได้ แต่ด้วย ESG เป็นเรื่องที่สื่อสารยากกับคนทั่วไป หากเราไม่ได้เรียนมาด้านนี้ หรือสนใจด้านนี้ ก็จะไม่เข้าในว่า เศรษฐกิจหมุนเวียน มันเวิร์คอย่างไร  ดังนั้นผมคิดว่าเรื่องของการสื่อสารที่จะอธิบายให้คนเข้าใจ หรือวิธีการที่จะให้ความรู้กับผู้คนยังต้องทำกันอีกเยอะ” 

“ผมเชื่อว่าการจัดกิจกรรมอย่างที่ผมทำอยู่ มีส่วนช่วยให้ผู้คนมีความเข้าใจได้  เราพยายามทำให้เป็น Edutainment  มีความบันเทิงแฝงอยู่ในนั้น จริงๆ แล้วความบันเทิงควรเป็นตัวนำด้วยซ้ำ คนทั่วไปอะไรก็ตามถ้าบันเทิงเป็นตัวนำก็จะให้ความสนใจ แต่ถ้ามาเล่าเหมือนเดิม เป็นสารคดีมันจะเข้าถึงคนยาก ผมคิดว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมมันมีทั้งการแก้และการปรับ คือการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน การปรับตัวของสังคมให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน บางสิ่งบางอย่างคนก็อาจจะมองว่ามันสายไป แต่ผมเชื่อว่าอย่างไรมนุษย์ก็จะสามารถหาทาง หานวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะสร้างความยั่งยืนได้ เพราะไม่มีทรัพยากรเราอยู่ไม่ได้จริงๆ โลกมีอยู่แค่นี้ แต่คนมีมากขึ้น มากขึ้น คนก็แย่งกันมากขึ้น ดังนั้นเราจึงต้องหาสมดุลให้ได้”  

เมื่อถามถึงมุมมองด้านสิ่งแวดล้อม ของอเล็กซ์  เขามองสถานการณ์สิ่งแวดล้อมในปัจจุบันว่า  “ปัญหาสิ่งแวดล้อมในวันนี้มาถึงจุดที่ทุกคนจะเห็นว่ามันคือปัญหาที่กระทบกับชีวิตของคนทั่วไปแล้ว เมื่อก่อนคนจะมองเรื่องนี้ไม่จริงจังมาก เห็นไปเรื่องไกลตัวมาก แต่เมื่อเวลาผ่านไป คนเริ่มเห็นผลกระทบ เราเห็นการรบกัน เห็นคนหนีออกมาเพราะทรัพยากรที่นั่นไม่สามารถจะอยู่ได้  มองในมุมใหญ่คือ เรื่องของ Climate Change  การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลให้กับการใช้ชีวิตของคนทั่วโลก จึงคิดว่า ณ ตอนนี้ เป็นจุดที่คนเริ่มมาสนใจ เริ่มที่จะมาช่วยกัน อยู่ในจุดที่ทุกคนเห็นแล้วว่า ถ้าเราไม่ช่วยกันก็จะอยู่ยากทั้งในระดับบุคคล และระดับองค์กร”

อเล็กซ์ มองต่อถึงสถานการณ์สิ่งแวดล้อมในประเทศไทยว่า  “หากมองภาพรวมทั้งประเทศ ผมถือว่าเราโชคดีที่ ประเทศไทยมีทะเลทั้ง 2 ฝั่ง มีป่าที่อุดมสมบูรณ์ทั้งภาคเหนือ ภาคใต้ ทุกที่ที่เราไปสามารถหาป่าที่สมบูรณ์ได้ และผมคิดว่าคนไทยไม่ว่าจะแง่เศรษฐกิจ การงาน ก็ได้พึ่งพาอาศัยธรรมชาติอยู่  ทุกที่ที่เราพาคนไปก็จะได้เห็นว่า คุณภาพของคนในพื้นที่ ขึ้นอยู่กับคุณภาพของสิ่งแวดล้อม หากสิ่งแวดล้อมตายลงไป ชีวิตของผู้คนก็ได้รับผลกระทบ ในมุมมองของเราก็คือทำอย่างไรให้คนกับทรัพยากรธรรมชาติ อยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืนอยู่คู่กันได้” 

“เราจะบอกว่าเราจะไม่ใช้ทรัพยากรเลยก็คงเป็นไปไม่ได้ เราต้องใช้ทรัพยากรในการใช้ชีวิต70-80% ของการท่องเที่ยวที่มาหมุนเวียนเป็นรายได้ให้กับประเทศเรา ก็มาจากการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ คนมาดูธรรมชาติของเรา เราได้มามาก แต่สิ่งที่เราขาดคือการลงทุนในการดูแลรักษา การจัดการต่างๆ เพื่อความยั่งยืนให้กับพื้นที่  เวลานี้อยู่ในช่วงที่เราจะต้องยกระดับขึ้นไปเรื่อยๆ”

และเมื่อถามถึงชีวิตส่วนตัวของคนในวัยรุ่น วัยทำงานที่มีอนาคตสดใสในวงการบันเทิง แต่กลับมาทุ่มเทให้กับงานด้านสิ่งแวดล้อม  อเล็กซ์ เล่าว่า   ถึงวันนี้ได้บอกตัวเองว่ามันมาถึงจุดที่งานด้านสิ่งแวดล้อมเป็นงานของเราแล้ว เราเริ่มด้วยความที่มันเป็นเหมือนงานอดิเรก แต่ก็ทำมาเรื่อยๆ  วันนี้งานของเราคือทุกวัน  กลายเป็นชีวิตประจำวัน ออฟฟิศ ผมเข้าไปก็คุยแต่เรื่องสิ่งแวดล้อม จะออกแบบกิจกรรมอย่างไร ออกไปงานอีเวนต์ต่างๆ ก็เป็นงานสิ่งแวดล้อม ดังนั้นโลกของผมจึงอยู่ในประเด็นสิ่งแวดล้อมมากถึง 95%  ไม่รู้สึกว่ามันมาแย่งเวลาส่วนตัวของเรา แต่กลับรู้สึกดีด้วยซ้ำที่เราได้ทำในสิ่งที่เราชอบ เป็นงานที่มีความท้าทายอยู่ตลอดเวลา แต่เราก็เชื่อในสิ่งที่ทีมงานวางแผนมา เชื่อในวัตถุประสงค์ที่เราอยากไปให้ถึง เราคิดว่าเราทำได้”

“ผมเหนื่อยมาก บอกตามตรงว่าเหนื่อยมาก ในแง่การบริหาร ช่วงโควิดก็กระทบเรา รวมตัวไม่ได้ เดินทางไม่ได้ รู้สึกเหนื่อยมาก แต่ก็เหนื่อยด้วยการก้าวหน้าอยู่ตลอดเวลา ทุกครั้งที่เหนื่อย เราก็จะกลับมาถามตัวเองว่า คงไม่มีงานไหนที่เราทำแล้วจะมีความสุขเท่างานนี้  รวมถึงความสุขจากการแสดง ผมโชคดีที่มี 2 โลกนี้ “ จบบทสนทนาด้วยรอยยิ้มแห่งความสุขจากงานที่ทำ พร้อมบอกกับคนไทยทุกคนว่า 

“ปัญหาสิ่งแวดล้อมวันนี้มาถึงยุคที่ถ้าเราไม่ช่วยกันอนุรักษ์ ช่วยกันดูแลทรัพยากรของเรา ในวันข้างหน้าเราจะอยู่ยาก เพราะผมเชื่อว่าในสังคมวันข้างหน้า มันจะเป็นเรื่องปกติที่การดูแลสิ่งแวดล้อมต้องเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คน ใครไม่ดูแลจะถูกมองเป็นลบ โลกกำลังหมุนไปในทิศทางนั้นอยู่  องค์กรในปัจจุบัน ถ้ามีการทำลายสิ่งแวดล้อม ก็จะไม่ได้รับความร่วมมือ คุณต้องมีการตอบแทนคืนสิ่งแวดล้อม มันไม่ใช่ยุคของการ Take อย่างเดียวแล้ว แต่ต้อง Give ต้อง Invest เพื่อให้สิ่งแวดล้อมยังคงอยู่ไปยาวๆ แต่ทั้งหมดทั้งมวลประชาชนก็ต้องมีส่วนร่วม ใครดนเดียวทำ ไม่มีวันสำเร็จแน่นอน”