สกสว. หารือร่วมกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ มุ่งขับเคลื่อนงานวิจัยเกิดประโยชน์ต่อประชาชน ได้รับการคุ้มครองอย่างเป็นธรรม

125

สกสว. ร่วมประชุมติดตามผลการดำเนินงานด้าน ววน. ของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม มุ่งขับเคลื่อนงานวิจัยตอบเป้าประเทศ สร้างผลผลิต ผลลัพธ์ ผลกระทบ เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณด้าน ววน. เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ผศ. ดร.แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง ผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจการพัฒนา ด้านสังคม สิ่งแวดล้อม เชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) พร้อมผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ เข้าร่วมประชุมติดตามผลการดำเนินการด้าน ววน. ของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ซึ่งได้รับงบประมาณเพื่อสนับสนุนงานมูลฐาน (Fundamental Fund-FF) ที่มีวัตถุประสงค์ในการเสริมสร้างศักยภาพในการพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) และสามารถตอบสนองแนวนโยบายของชาติ นำไปสู่การพัฒนาบุคลากรและโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และการบริหารจัดการงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีธรรมาภิบาล โดยมี เกิดโชค เกษมวงศ์จิตร รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ ให้การต้อนรับ พร้อมหารือแนวทางการขับเคลื่อนงานวิจัย และนำเสนอความคืบหน้างานวิจัย ที่ได้รับงานประมาณสนับสนุนจากกองทุน ววน.ที่ผ่านมา

เกิดโชค เกษมวงศ์จิตร

เกิดโชค เกษมวงศ์จิตร กล่าวถึงภารกิจของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ว่ามีหน้าที่ในการส่งเสริม คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน โดยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เพื่อให้ประชาชนมีความสมานฉันท์ ได้รับการคุ้มครองและมีหลักประกันด้านสิทธิและเสรีภาพในระดับสากล ช่วยให้การละเมิดสิทธิมนุษยชนลดลง โดยการขับเคลื่อนแผนและส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพ รวมทั้งการบังคับใช้ พ.ร.บ. การผลักดันร่างกฎหมาย และปฎิบัติตามหลักองค์การสหประชาชาติ (UN) 

“ทำอย่างไรที่จะสร้างเกราะคุ้มครองและสิทธิเสรีภาพให้กับประชากรทั้ง 77 ล้านคน ซึ่งตรงกับงานวิจัยที่จะร่วมหารือกับ สกสว.ในวันนี้ เพราะงานวิจัยนี้จะช่วยให้ประชากรอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของประเทศได้รับรู้ รับทราบ และมีพัฒนาการด้านสิทธิและเสรีภาพอย่างแท้จริง โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน ซึ่งกองทุน ววน.ถือเป็นประโยชน์ต่อกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เป็นอย่างมาก” เกิดโชค กล่าว

ผศ.ดร.แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง

ผศ.ดร.แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง กล่าวถึงการทำงานของกองทุน ววน. ว่า มีหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุนและขับเคลื่อนระบบการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และสหวิทยาการ เพื่อสร้างองค์ความรู้ พัฒนานโยบายสาธารณะ และสนับสนุนการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ในเชิงเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งประกอบด้วย 5 ส่วนหลัก คือ 1. การจัดทำแผนด้าน ววน. 2. จัดสรรงบประมาณจากกองทุน ววน. 3. ขับเคลื่อนระบบส่งเสริมและกลไกการพัฒนาระบบและบุคลากร ววน. 4. สร้างระบบการนำผลงาน ววน. ไปใช้ประโยชน์ และ 5. การประเมินผลการดำเนินงานของระบบ ววน. เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศได้อย่างสมดุลและยั่งยืน

ทั้งนี้ ได้มีการแนะนำถึงแผนปฏิบัติการ ร่วมนำเสนอโครงการที่สำคัญ หรือโครงการเด่น การนำเสนอภาพรวมการบริหารจัดการงานวิจัยของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ พร้อมทั้งนำเสนอและรายงานความคืบหน้าโครงการวิจัยที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุน ววน. ในช่วงที่ผ่านมา อาทิ 1. โครงการประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองพยาน และแนวทางการพัฒนางานคุ้มครองพยานของประเทศไทย 2. โครงการศึกษาผลสัมฤทธิ์ของการนำหลักสูตรสิทธิมนุษยชนศึกษาไปประยุกต์ใช้ในสถานศึกษา เป็นต้น

ขณะที่ แผนงานวิจัย ในระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) ของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ นั้น ประกอบด้วย 1. ด้านการจัดตั้งสถาบันพัฒนาสิทธิมนุษยชน 2. การนำ IT/นวัตกรรม มาใช้ในการส่งเสริมสิทธิฯ 3. ขยายความร่วมมือกับเครือข่ายตามแผนสิทธิฯ 4. ข้อพิพาท (แพ่ง-อาญา) ที่เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย 5. รูปแบบ/แนวทางในการติดตาม ประเมินผล การพัฒนาบุคลากรด้านการไกล่เกลี่ย 6. หน่วยงานในการส่งเสริม สนับสนุนการดำเนินงานไกล่เกลี่ย 7. ผลักดันสร้างกลไกระดับชาติ/นโยบายด้าน สิทธิมนุษยชน 8. การปฏิบัติตามข้อเสนอแนะตามพันธกรณีและมาตรฐานสากล 9. พัฒนากฎหมายที่สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ 10. ผู้ถูกละเมิดสิทธิ เข้าถึงความช่วยเหลือตามหลักสากล 11. ขยายความร่วมมือช่วยเหลือกับเครือข่าย ในประเทศและต่างประเทศ และ 12. การศึกษาคุณลักษณะที่สำคัญของบุคลากรกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในอนาคต สู่การเป็น Digital DNA ต่อไป

สุดท้ายนี้ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ “ชี้การทำงานวิจัยได้สร้างการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดของคนทำงาน ที่ต้องกลับมาทบทวนบทบาทของตัวเอง และวางตัวเป็นผู้มีบทบาทหลักในการคุ้มครองพยาน เพื่อให้ตรงตามความคาดหวังของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้มากขึ้น ทั้งยังสามารถนำงานไปปรับใช้ในหลักสูตรอบรมแนวทางการดูแลพยานในเชิงจิตวิทยาที่กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพเป็นหน่วยงานหลักในการจัดอบรม” ผศ.ดร.แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง ได้กล่าวชื่นชมหน่วยงานที่การทำวิจัยได้มีส่วนช่วยในการเปลี่ยนวิธีคิด และนำไปสู่การปรับรูปแบบการทำงาน ทั้งนี้ หน่วยงานควรมีการสื่อสารผลลัพธ์และผลกระทบจากงานวิจัยให้แก่สาธารณะมากขึ้น