แอร์ไลน์ฝ่าปัจจัยลบ “ราคาน้ำมันโลก” กวาดกำไร Q1/2561 กระเป๋าตุง “AAV-BA” อู้ฟู่สุดๆ

2231

จากตัวเลขของกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยในช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม 2561 มีจำนวนรวม 10.6 ล้านคน และเติบโตต่อเนื่องถึงร้อยละ 15 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มาจากเอเชียตะวันออก อยู่ที่ร้อยละ 64 โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีน และอาเซียน รองลงมาคือกลุ่มนักท่องเที่ยวจากยุโรปที่สัดส่วนร้อยละ 24 ขณะที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้มีการขยายตัวสูงสุดที่ร้อยละ 19 และร้อยละ 16 ตามลำดับ

จากแนวโน้มนี้ส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีอัตราการเติบโตอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจสายการบิน

AAV-BA” กวาดกำไรอื้อ

“ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV ผู้ถือหุ้นร้อยละ 55 ใน บจ. ไทยแอร์เอเชีย ซึ่งประกอบธุรกิจสายการบินไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า ไตรมาส1/2561 ที่ผ่านมาไทยแอร์เอเชียมีปริมาณการขนส่งผู้โดยสารรวมที่ 5.64 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 16 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการเปิดเส้นทางบินใหม่จำนวน 7 เส้นทาง จากกรุงเทพฯ (ดอนเมือง) ไประนอง, ยะโฮร์ บาห์รู, เฉิงตู และชุมพร รวมถึงจากภูเก็ตไปมาเก๊าและคุนหมิง อีกทั้งจากเชียงใหม่ไปอุดรธานี

พร้อมทั้งเพิ่มความถี่เที่ยวบินในเส้นทางบินที่ได้รับความนิยมทั้งหมด 12 เส้นทาง จากกรุงเทพฯ (ดอนเมือง) และพัทยา (อู่ตะเภา) และยกเลิกการให้บริการในเส้นทางบิน กรุงเทพฯ (ดอนเมือง) – ติรุจิรัปปัลลิ, เชียงใหม่–อุบลราชธานี และอุบลราชธานี – พัทยา (อู่ตะเภา) เพื่อการจัดการรายได้และบริหารการใช้เครื่องบินอย่างเหมาะสม

ส่งผลให้ผลประกอบการของบริษัทฯ ในไตรมาส 1/2561 มีรายได้รวมอยู่ที่ 11,642 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 22% และมีกำไรสุทธิ 1,004.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 520 ล้านบาท

เช่นเดียวกับ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส (BA) ที่ได้ประกาศผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ในไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ว่าบริษัทฯ มีรายได้รวมอยู่ที่ 7,830.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2560 และมีกำไรสุทธิเท่ากับ 719.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2560 จำนวน 154.3 ล้านบาท หรือร้อยละ 27.3

โดยรายได้รวมที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการเติบโตของธุรกิจสายการบิน ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสนามบินและกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงธุรกิจสนามบิน โดยมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 ร้อยละ 6.1 และร้อยละ 17.1 ตามลำดับ

THAIกำไรลดลง 432 ล้านบาท

ในฟากของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI นั้น ได้ระบุว่า ผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาส1/2561 ของ บมจ.การบินไทยและบริษัทย่อยมีรายได้รวมทั้งสิ้น 53,466 ล้านบาท  เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 3,662 ล้านบาท หรือ 7.4% โดยเพิ่มขึ้นทั้งจากรายได้ค่าโดยสารและค่าน้ำหนักส่วนเกิน รายได้ค่าระวางขนส่งและไปรษณียภัณฑ์และรายได้จากการบริการ

และมีกำไรจากการดำเนินงานธุรกิจการบิน จำนวน 3,836 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 49.4% แต่เมื่อหักค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นครั้งเดียวที่มีสาเหตุหลักเกิดจากการรับรู้ผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์และเครื่องบินจำนวน 2,473 ล้านบาท และมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ 583 ล้านบาท พบว่าบริษัทฯ และบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิ  2,737 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 432 ล้านบาท (13.6%)

NOK” สัญญาณดี-ขาดทุนลดลงชัดเจน

สำหรับ บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK ผู้บริหารสายการบินนกแอร์ ได้รายงานผลประกอบการไตรมาสแรกของปี 2561 ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า บริษัทและบริษัทย่อยมีรายได้รวม 6,083.13 ล้านบาท มีผลขาดทุนสำหรับไตรมาสนี้ 1.18 ล้านบาท แบ่งเป็นผลขาดทุนของบริษัทใหญ่จำนวน 26.88 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีตัวเลขขาดทุนอยู่ที่ 295.57 ล้านบาท

“ปิยะ ยอดมณี” ซีอีโอ บมจ. สายการบินนกแอร์ กล่าวว่า ผลการดำเนินงานในไตรมาสแรกของปีนี้ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าแผนการฟื้นฟูธุรกิจของสายการบินให้ผลลัพธ์อย่างดีเยี่ยม และสายการบินกำลังแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้อง

นักวิเคราะห์แนะเปลี่ยนไปลงทุนใน AOT

นักวิเคราะห์จากบริษัท หลักทรัพย์หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า แม้ว่ากำไรในไตรมาส1/2561 ของกลุ่มธุรกิจสายการบินมีแนวโน้มที่ปรับตัวดีขึ้น ยกเว้นบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) แต่มีมุมเชิงลบต่อผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/2561 เนื่องจากเข้าสู่ช่วงโลว์ซีซั่นของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ส่งผลให้ดีมานด์นักท่องเที่ยวชะลอตัวลง ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่ออัตราการบรรทุกผู้โดยสาร และความสามารถในการปรับขึ้นอัตราค่าโดยสาร

นอกจากนี้ ต้นทุนหลักอย่างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงโลกที่มีทิศทางปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง และค่าเงินบาทที่อ่อนค่าจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประสิทธิภาพในการทำกำไรของกลุ่มธุรกิจสายการบินในระยะสั้น จึงแนะนำให้  “ซื้อ” ที่มูลค่าเหมาะสม ปลายปี 2561 ที่ 8 บาท

แต่ในเชิงกลยุทธ์จึงแนะนำให้เปลี่ยนไปลงทุนใน บมจ.ท่าอากาศยานไทย หรือ AOT ซึ่งเป็นธุรกิจที่ไม่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันเครื่องบิน แต่มีประเด็นการเก็งกำไรต่อการประมูลดิวตี้ฟรีเฟส2 เป็น Catalyst ระยะสั้น  โดยแนะนำให้ ซื้อ” ที่มูลค่าเหมาะสม ฯ สิ้นงวด 2560/2561 ที่ 92 บาท โดยมีปัจจัยบวกระยะสั้นคือ ประเด็นการเข้ารับบริหารสนามบินภูมิภาคที่คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในไตรมาส 2 นี้  และข้อสรุปการประมูลดิวตี้ฟรีเฟส2 ภายในสิ้นปีนี้

 

ขอบคุณภาพ Features จาก : เว็บบอร์ด-Postjung