80 นร.เก่าเตรียมอุดมฯ แนะรับมือคลื่นความเปลี่ยนแปลง ในหนังสือ “80 วิสัยทัศน์ ถอดรหัสอนาคต”

4158

ในวาระเฉลิมฉลอง 80 ปี โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา สมาคมนักเรียนเก่าเตรียมอุดมฯ ได้จัดทำหนังสือที่ระลึก 80 ปีเตรียมอุดม 80 วิสัยทัศน์ ถอดรหัสอนาคต” รวมบทสัมภาษณ์นักเรียนเก่า 80 คนที่อยู่ในหลากหลายวงการ ว่าด้วยการเตรียมพร้อมรับมือกับอนาคตท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีและวิถีชีวิต เพื่อให้สามารถยืนหยัดสู้กับคลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลงนี้ได้อย่างอยู่รอดปลอดภัย และนี่คือบางส่วนจากหนังสือเฉพาะกิจเล่มนี้

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ต.อ.46 : รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

“ทุกวันที่ 4 ธันวาของทุกปี ผมจะรีบกลับบ้าน คอยเฝ้าทีวีเพื่อรอฟังพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ครั้งหนึ่งน่าจะเป็นปี ‘46 ในช่วงท้ายของพระราชดำรัส พระองค์ตรัสอวยพรว่า “ขอให้ทุกคนประสบความสำเร็จที่แท้จริง” ประโยคนี้ลึกซึ้งมาก ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ที่ทำเรื่องเศรษฐกิจพัฒนา ผมคิดว่าเราต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่าแผนพัฒนาเศรษฐกิจที่นำไปสู่การพัฒนาที่ ‘สำเร็จที่แท้จริง’ คืออะไร เราพัฒนามา 50 ปีแล้ว เศรษฐกิจโตไป 5% หรือ 10% ก็ยังไม่สำเร็จ ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่หัวโตแต่ตัวลีบ คือกรุงเทพฯ ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ภาคตะวันออกก็อาจจะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ตามกรุงเทพฯ แต่ที่อื่นผอมแห้งแรงน้อยหมด”

“เราตั้งใจทำนโยบายที่กระจายโอกาสให้สู่ทุกคน ดูแลทุกคน เริ่มจากนโยบายระดับประเทศ เช่น เรื่องภาษี สวัสดิการพื้นฐานที่เหมาะสม สวัสดิการผู้มีรายได้น้อย เป็นต้น วางองค์กรโครงข่ายที่เหมาะสม แทนที่จะเป็นกรุงเทพฯ ที่เดียว ก็ทำหลายๆ จังหวัดร่วมกัน ตามด้วยนโยบายระดับชุมชน สร้างชุมชนให้มีความเข้มแข็ง บริหารจัดการกันเอง และมีนโยบายระดับตัวบุคคล ทั้งสามส่วนนี้รวมกันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ทุกคนลืมตาอ้าปากได้ เมื่อเราทำเรื่องโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ได้ เราจะเห็นประเทศไทยรูปแบบใหมที่มีโอกาสเต็มไปหมด และเด็กๆ ก็ไม่จำเป็นต้องเข้ามากรุงเทพฯ เขาสามารถกลับไปสร้างอนาคตที่บ้านเขาได้ นี่คือความหมายที่ผมคิดว่า พระองค์ท่านทรงอวยพร”

สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ต.อ.39 : รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

“ผมว่าประเทศไทยอยู่ในภาวะพิเศษ เป็นภาวะที่เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่ต้องปฏิรูปการวางพื้นฐานสำคัญของประเทศ และรัฐบาลจะทำเรื่องปฏิรูปเป็นเรื่องหลัก…GDPประเทศเราดีมากเลย…การเติบโตเราสูงมาก จากติดลบในไม่กี่ปีเราเทิร์นกลับมาได้ขนาดนี้ แต่ปรากฏว่าทั้งหมดมันไม่ลงไปข้างล่าง เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยกระจุกมายาวนาน เพราะฉะนั้นรัฐบาลนี้ต้องสร้างความเข้มแข็งของข้างล่างที่เรียกว่า Local Economy ให้กับกลุ่มของตัวเล็กทั้งหลาย เช่น SME กลุ่ม Startup รวมถึงที่ผมกำลังทำมากที่สุดคือตัวสินค้าของชุมชน วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์…เราจะสร้าง Thailand Brand ให้ได้”

บุญชัย โชควัฒนา ต.อ.28 : ประธานกรรมการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน)

“ผมตั้งสถาบันยุทธศาสตร์เชิงบวก (iSAB) ตอนนี้ทำรุ่น The Master…หลักสูตรนี้เน้น 2-3 เรื่อง คือ ความดีความซื่อสัตย์สุจริต เรื่องการคิดเชิงสร้างสรรค์ต่างๆ ในวิธีการทางบวก และอีกอันคือ Leadership วิทยากรจะพูด 3 เรื่องนี้แทรกเข้าไปในการบรรยาย ผมคิดว่า 3 ข้อนี้สำคัญมากสำหรับคนเรา Leadership ไม่มี ธุรกิจก็ไม่เติบโต ไม่สำเร็จ และถ้าไม่มีความคิดเชิงบวก คิดแต่ทำแล้วแย่งชิงกัน มันก็ไม่มีประโยชน์ แต่ในเชิงบวก มันทำให้คนคิดในสิ่งที่ดีๆ แล้วก็สร้างสรรค์ในสิ่งที่ดีๆ เรื่องของความดี เน้นมากเลย ความดีจะต้องเกิดขึ้นในจิตใจของคนตั้งแต่เล็กขึ้นไปเลย”

ประภาส ชลศรานนท์ ต.อ.39 : รองประธาน บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน)

“ส่วนตัวผมเอง ผมมองไปถึงด้านมืดของความสัมพันธ์ของมนุษย์ ทุกวันนี้เรามีโลกเสมือนที่ซ้อนทับกับโลกจริง เราคุยกันน้อยลง เราเจอกันน้อยลง เชื่อไหม เพื่อนหลายคนเราไม่ได้คุยกับเขาเลยแต่เรากลับไม่รู้สึกว่าโหยหาที่จะเจอ เพราะเราเห็นผ่านตามโซเชียลเน็ตเวิร์คอยู่ตลอดเวลา เมื่อเราเจอกันบนโลกจริงน้อยลง ฐานะทางสังคมเอย ขั้นตอนอันละเมียดละไมทางสังคมเอย มันก็เปลี่ยนไป ผมเพิ่งได้ยินเรื่องการขอลูกสาวเขาแต่งงาน ลูกเขยขอทางไลน์ แม่ก็ยกให้ทางไลน์ ผมเพิ่งได้ยินเรื่องซอฟต์แวร์ของการจูบกันผ่านอุปกรณ์บางอย่างแล้วนำมาต่อกับสมาร์ทโฟน อุปกรณ์บ้าๆ ที่คิดค้นขึ้นมาให้มีแรงสั่น มีความชื้นเหมือนปากจริงๆ ด้านมืดไหมละครับ

แล้วผมก็มองเห็นและเสียดายความหนืดทางสังคมที่มีคุณค่า อย่างเช่นเรื่องของรูปถ่าย รูปถ่ายของมนุษย์เริ่มจะไร้ค่าแล้ว เราถ่ายกันทุกๆ วินาที ถ่ายทุกอย่าง และเกือบทั้งหมด เราดูเพียงครั้งเดียวแล้วก็ถ่ายใหม่ บางทีผมก็คิดถึงเรื่องที่ไร้สาระอย่างหนังสือพิมพ์ใช้แล้ว ต่อไปแต่ละบ้านคงไม่มีหนังสือพิมพ์ติดบ้านกัน เพราะเราอ่านข่าวอ่านทุกอย่างจากสมาร์ทโฟนและคอมพิวเตอร์ ต่อไปนี้เราจะคว้าอะไรเร็วๆ มาห่อของ มากวาดขยะ หรือเช็ดอะไรที่เลอะเทอะได้จากที่ไหน บางทีผมก็คิดอะไรไร้สาระอย่างนี้”

สุภชัย วีระภุชงค์ ต.อ.42 : รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยนครพัฒนา จำกัด

“ผมเข้าไปกัมพูชาตั้งแต่อายุ 28 ตอนนี้ผม 56 เดือนหนึ่งอยู่ต่างประเทศ 20 วัน ได้เห็นว่ารอบบ้านเราเติบโตเร็วมาก โตจนเรียกว่านักธุรกิจต้องออกไปทำ ถ้าไม่ทำวันนี้ อาจจะยังไม่ตกขบวน แต่มันทำให้สูญเสียโอกาสในการแข่งขัน วันนี้ CLMV โตแบบก้าวกระโดด 7-8% ทุกประเทศ แล้ว GDP เขาโตไปถึงรากหญ้า แต่บ้านเราวันนี้เป็นขาลง GDP โตแต่ระดับบนกับกลาง รากหญ้าเรากำลังแย่ คนไทยอาจจะค่อนข้างกลัว คิดถึงแต่ปัญหา ธุรกิจ SME เลยไม่กล้าออกไปนอกบ้าน”

พิทักษ์ พฤทธิสาริกร ต.อ.43 : ประธานเจ้าหน้าที่บริหารปฏิบัติการ (ซีโอโอ) บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด

“ถ้าถามผมเรื่องการศึกษา ผมมองว่าเราต้องไม่สอนให้เขาจำ และต้องไม่สอนทักษะที่ไปซ้ำกับคอมพิวเตอร์ แต่ให้ไปเน้นเรื่องการสร้างสรรค์ เพราะมันเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ AI เข้าถึงได้ยาก ต้องสอนให้คิด อ่านแล้วประเมินแล้ว ตัดสินใจได้ อันนี้เป็นทักษะที่จะต้องมีสำหรับคนที่จะอยู่ในโลกหลังจากนี้ ผมอยู่ในวงการรถยนต์ เรารู้ว่าเทคโนโลยีหลักจะไปทางไหนนี้ แต่ถ้าเรากระโดดเต้นตามเทคโนโลยีย่อยที่เป็นข่าวอยู่เรื่อยๆ ผมว่าเรางมไป แต่ทุกคนก็ควรจะต้องสนใจเรื่องเทคโนโลยีให้มากขึ้น เพราะมันมีผลมากกว่าชีวิตสมัยก่อน นักบัญชีหรือทนายที่รู้เรื่องเทคโนโลยีถึงจะอยู่ได้ แต่ถ้าเป็นนักบัญชีหรือทนายที่ไม่รู้เรื่องเทคโนโลยีอะไรเลย ก็จะตามโลกไม่ทัน”
รวิศ หาญอุตสาหะ ต.อ.57 : กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศรีจันทร์โอสถ จำกัด

“คนจะประสบความสำเร็จได้ มันต้องล้มมาก่อนหลายครั้ง โอกาสที่ทำงานชิ้นแรกแล้วประสบความสำเร็จเลย ยากมาก มันเป็นกระบวนการเรียนรู้ เราก็เรียนรู้จากมันตลอดเวลา สมัยก่อนรุ่นผมไม่ได้รับการสนับสนุนให้ทำแบบนี้ เราถูกสอนให้ตั้งใจเรียนแล้วไปทำงานบริษัท กว่าเราจะเริ่มรู้ตัวว่าเราอยากจะลองโน่นลองนี่ ยุคผมอย่างเร็วก็เกือบ 30 แล้ว ยุคนี้อายุ 15 เขาก็ลองแล้ว ซึ่งดี ในฐานะมนุษยชาติ คนรุ่นใหม่จะต้องเก่งกว่าคนรุ่นก่อน เมื่อคนรุ่นหลังได้ความรู้จากคนรุ่นก่อน บวกกับสิ่งที่พวกเขากล้าทำสิ่งใหม่ๆ ประเทศไทยก็จะดีขึ้น”

พ.ต.นพ.สรวิชญ์ สุบุญ ต.อ.62 : แพทย์ประจำสำนักงานแพทย์ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม

“ทุกวันนี้ในโซเชียลมีเดีย ข้อมูลผิดถูกเยอะแยะไปหมด พอเริ่มไอ มีไข้ ก็เสิร์ชกูเกิ้ลถามโรคกันแล้ว คือถ้าแค่บอกว่าไอกับเป็นไข้ เป็นได้ร้อยโรคเลยนะ บางทีเตรียมข้อมูลมาเถียงหมอด้วยซ้ำ เราก็รับมือกับคนไข้กันไป อันนี้ไม่เป็นไร ไม่ได้ทำร้ายใคร แต่ข้อมูลผิดๆ ที่แชร์กันสนั่น อันนี้แหละที่ผมมองว่าไม่โอเค”

นรีกุล เกตุประภากร ต.อ.76 : นิสิตปี 2 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“วัยรุ่น 4.0 เป็นคนที่มีความคิดของตัวเอง แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นยุคที่กระแสฉาบฉวยมีมาก แห่ซื้อตามกัน แห่เป็นตามกัน ซึ่งจริงๆ ทุกคนมีความแตกต่าง มีลักษณะพิเศษของตัวเอง เราต้องหาตัวเองให้เจอ เพราะทุกวันนี้โลกทุกอย่างเปิดกว้าง มีอาชีพเยอะมาก ชอบอะไร ถนัดอะไร และไม่ควรหยุดพัฒนาตัวเอง ความชอบและความถนัด มันก็จะนำเราไปสู่อะไรสักอย่างในอนาคตได้”

ยังมีอีกหลากหลายมุมมองจากนักเรียนเก่าที่น่าสนใจ อาทิ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์, ธงชัย ล่ำซำ, สิริเกศ จิรกิติ, ปนัดดา เจณณวาสิน, เผ่าทอง ทองเจือ, บุรณี รัชไชยบุญ, รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ, โยธิน ดำเนินชาญวนิชย์, กริช ทอมมัส, ธนา เธียรอัจฉริยะ ฯลฯ ใครอยากอ่านฉบับเต็ม สามารถสั่งซื้อได้ในราคาเล่มละ 500 บาท บวกค่าจัดส่ง 50 บาท โดยโอนเงินเข้าบัญชีสมาคมนักเรียนเก่าเตรียมอุดมฯ ธนาคารกรุงไทย เลขที่ 052-1-27283-1 แล้วส่งหลักฐานการโอนเงินพร้อมแจ้งชื่อที่อยู่สำหรับการจัดส่งหนังสือไปที่ email : cupsaa6061@gmail.com หรือสอบถามเพิ่มเติมที่สมาคมนักเรียนเก่าเตรียมอุดมฯ โทรศัพท์ 02-2522325