ธุรกิจหวั่น “ค่าจ้างขั้นต่ำ” ใหม่พ่นพิษทุบเศรษฐกิจทั่วประเทศซ้ำรอยปี’55

1465

ค่อนข้างแน่นอนแล้วว่า แนวทางการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศไทยในปี 2561 นี้ มีอัตราตั้งแต่ 308-330 บาทต่อวัน จากฐานค่าจ้างเดิมที่ 300 บาทต่อวัน ซึ่งใช้มาตั้งแต่เดือนเมษายน 2555

หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 19 ครั้งที่ 2/2561 ได้ข้อสรุปแนวทางการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำสำหรับปี 2561 ว่า แบ่งเป็น 7 ระดับ ประกอบด้วย 1. กลุ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 308 บาทต่อวัน มี 3 จังหวัด ได้แก่ ยะลา นราธิวาส และปัตตานี 2. กลุ่มค่าจ้างขึ้นต่ำ 310 บาทต่อวัน มี 22 จังหวัด เช่น นครศรีธรรมราช, มหาสารคาม, สิงห์บุรี เป็นต้น 3. กลุ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 315 บาทต่อวัน มี 21 จังหวัด เช่น สระแก้ว, บึงกาฬ, นครสวรรค์, น่าน, อ่างทอง เป็นต้น

4. กลุ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 318 บาทต่อวัน มี 7 จังหวัด เช่น จันทบุรี, ปราจีนบุรี, สมุทรสงคราม เป็นต้น 5. กลุ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 320 บาทต่อวัน มี 14 จังหวัด เช่น พระนครศรีอยุธยา, สระบุรี, สุพรรณบุรี, อุบลราชธานี เป็นต้น 6. กลุ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 325 บาทต่อวัน มี 7 จังหวัด เช่น กรุงเทพฯ, นครปฐม, นนทบุรี เป็นต้น และ 7. กลุ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 330 บาท ซึ่งเป็นอัตราสูงสุด มี 3 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต, ระยอง และชลบุรี

พร้อมทั้งระบุว่า กระทรวงแรงงานมีกำหนดเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในสิ้นเดือนมกราคมนี้ และมีแผนจะประกาศใช้อัตราค่าจ่างอัตราใหม่ในวันที่ 1 เมษายน 2561 นี้เป็นต้นไป

หวั่นซ้ำรอบขึ้นค่าแรง 300 บาทในปี 55-56

แน่นอนว่า ทันทีที่คณะกรรมการค่าจ้างสรุปแนวทางการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำออกมาหลายฝ่ายต่างออกมาวิเคราะห์กันไปต่างๆ นานา ซึ่งส่วนใหญ่วิตกว่าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในปีนี้จะทำให้ต้นทุนของกลุ่มผู้ประกอบการพุ่งสูงขึ้นไปอีก กระทั่งในที่สุดก็จะมีกลุ่มผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งที่แบกภาระไม่ไหว และต้องปิดกิจการลงไปเหมือนเมื่อครั้งที่ประเทศไทยประกาศขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน (บางจังหวัด) ในเดือนเมษายน 2555 และเพิ่มเป็น 300 บาทต่อวันทั่วประเทศเมื่อต้นปี 2556

ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติ  ภาพจาก: YouTube

ครั้งนั้น “ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้ว่าการแบงก์ชาติในยุคนั้นได้ระบุว่า การปรับค่าแรง 2 รอบในปี 2555 และ 2556 นั้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนค่าแรงเพิ่มขึ้นถึง 60% (ค่าจ้างขั้นต่ำก่อนหน้านั้นอยู่ที่ 150-180 บาทต่อวัน) ซึ่งถือว่าสูงมากหากเทียบกับการปรับในอดีต โดยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี ที่มีอยู่เกือบ 2.9 ล้านราย

ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ เพราะในปี 2556-2557 มีข่าวการปิดตัวของผู้ประกอบการจำนวนมหาศาล โดยเฉพาะในภาคการผลิต อาทิ สิ่งทอ  เครื่องนุ่งห่ม เครื่องหนัง อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ยางและเม็ดพลาสติก และก่อสร้าง ฯลฯ  ซึ่งบางส่วนก็ทำการโยกฐานการผลิตจากประเทศไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้านแทน

“นพพล ตั้งทรงเจริญ” ประธานหอการค้าจังหวัดระยอง ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อการจ้างงานในจังหวัดแน่นอน โดยเฉพาะโรงงานขนาดเล็ก และกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี รวมถึงภาคการเกษตรซึ่งที่ผ่านมาราคาพืชผลทางการเกษตรก็ยังตกต่ำ การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะยิ่งไปซ้ำเติมผู้ประกอบการไปอีก

พร้อมทั้งอธิบายว่า จังหวัดระยองแม้ว่าจะอยู่ในพื้นที่อีอีซี แต่ก็มีภาคธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เพียงแค่ 10% เท่านั้น ส่วนใหญ่ยังเป็นภาคการเกษตรถึง 80-90%

เช่นเดียวกับ “วีระยุทธ สุขวัฑฒโก” ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคเหนือ ที่ระบุว่า อัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ประกาศออกมานั้นจะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อธุรกิจเอสเอ็มอี ที่สำคัญในช่วงที่ผ่านมาภาพรวมเศรษฐกิจก็ยังอยู่ในภาวะซบเซา แน่นอนว่าหากมาตรการนี้ออกมาผู้ประกอบการมีโอกาสปิดกิจการอีกจำนวนมากแน่นอน

ภาพจาก : MThai News

ดัชนี้ตลาดหุ้นปรับตัวลดลงทันที

อย่างไรก็ตาม หลังจากมีมติเรื่องปรับค่าจ้างขั้นต่ำใหม่สำหรับปี 2561 ออกมาเมื่อวันที่ 17 มกราคมที่ผ่านมา ในวันรุ่งขึ้นกระแสดังกล่าวส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นของไทยทันที

โดย “คณฆัส จิรเสวีนุประพันธ์” ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) โนมูระ พัฒนสิน ได้ออกมาระบุว่า ตลาดหุ้นไทยในวันที่ 18 มกราคม ดัชนีเริ่มมีการปรับตัวลดลงบ้าง ซึ่งก็ยอมรับว่าปัจจัยที่กดดันให้ตลาดหุ้นไม่สามารถไปต่อได้ไกลนักนั้นเป็นผลหลังจากการที่กระทรวงแรงงานได้มีการประชุมโดยมีข้อสรุปให้พิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำออกมานั่นเอง

ซึ่งมติดังกล่าวที่ออกมานั้นมีผลทำให้บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ที่มีต้นทุนด้านการใช้แรงงานสูงได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะธุรกิจรับเหมาก่อสร้างที่ใช้แรงงานในระดับปฏิบัติการเป็นจำนวนมาก

ขณะที่ “ประกิต สิริวัฒนเกตุ” ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยฯ บล. กสิกรไทย ประเมินว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในรอบนี้ส่งผลกระทบจริงไม่มากนัก เนื่องจากตลาดแรงงานในช่วงที่ผ่านมีความตึงตัวน้อยลง (อัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.2%) ไม่เหมือนปี 2555-2556 ที่ตลาดแรงงานมีความตึงตัวมาก (มีอัตราการว่างงานอยู่ที่ 0.7%) ที่สำคัญในครั้งนั้นมีการขึ้นค่าจ้างขึ้นสูงมากทำให้กระทบต่อภาคการผลิตและเงินเฟ้ออย่างรุนแรง

สำหรับครั้งนี้ กลุ่มที่ธุรกิจที่น่าจะได้รับผลกระทบด้านต้นทุนมากที่สุดคือ ธุรกิจภาคเกษตรกรรม ส่วนภาคการก่อสร้างคาดว่ามีผลกระทบไม่มาก เนื่องจากปัจจุบันมีสัดส่วนแรงงานเมื่อเทียบกับใช้เครื่องจักรเพียง 5.8% สำหรับภาคโรงแรมและร้านอาหาร ค้าส่ง-ค้าปลีก และภาคอุตสาหกรรมการผลิตนั้นคาดว่าจะได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อย

อย่างไรก็ตาม ยังประเมินว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นการช่วยผู้มีรายได้น้อย ทั้งผู้ที่อยู่ในและนอกภาคเกษตร ช่วยสนับสนุนให้กำลังซื้อโดยรวมดีขึ้น จากก่อนหน้านี้ที่กำลังซื้อหลักๆ กระจุกอยู่กับผู้มีรายได้ปานกลางจนถึงสูง ซึ่งปัจจัยนี้ถือเป็นปัจจัยบวกต่อกลุ่มค้าปลีก

กลินท์ สารสิน ประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)

วอนทบทวนใหม่ให้สอดรับกับความเป็นจริง

และไม่เพียงแค่ในฟากของกลุ่มผู้ประกอบการเท่านั้นที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางการปรับขั้นค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้ หลายๆ ภาคส่วนก็ได้ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยในเช่นกัน พร้อมทั้งยังเสนอให้คณะกรรมการค่าจ้างแรงงานกลับไปทบทวนอีกรอบ

ล่าสุด  “กลินท์ สารสิน” ประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ซึ่งประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย  และประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ให้สัมภาณ์หลังประชุม กกร.ว่า กกร. มีมติเห็นชอบเสนอให้รัฐบาลมีการทบทวนมติอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับปี 2561 ดังกล่าว โดยมองว่าเป็นอัตราที่ไม่สอดคล้องไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจความเป็นจริงของแต่ละจังหวัด และไม่สอดคล้องกับมติคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด และบทบัญญัติของกฎหมาย (มาตรา 87 แห่ง พรบ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541) ที่กำหนดไว้

พร้อมยังระบุด้วยว่า หลังจากที่มีมติของคณะกรรมการค่าจ้างแรงงานกลางออกมาได้มีการสอบถามความคิดเห็นไปยังสมาชิกของ กกร. ที่เกี่ยวข้องทั้งหอการค้าจังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ ถึงผลกระทบต่อการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้ พบว่ามีการปรับค่าข้างขั้นต่ำสูงเกินกว่าคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดพิจารณา และมี 38 จังหวัดไม่เห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้น

ที่สำคัญ นโยบายดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าจ้างแรงงานและการผลิตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภาคเกษตร ภาคบริการ และ SMEs เนื่องจากต้นทุนค่าจ้างแรงงานและการผลิตเพิ่มขึ้นทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถปรับตัวได้ทัน สุดท้ายจะเป็นตัวเร่งให้เกิดการเลิกจ้างงาน

เช่นเดียวกับ “เจน นำชัยศิริ” ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่บอกว่า ต้องการให้มีการพิจารณาทบทวนใหม่อีกครั้งก่อนที่จะนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในช่วงปลายเดือนมกราคมนี้ เนื่องจากอัตราที่ออกมาไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงของสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน

ภาพจาก : สำนักข่าวทีนิวส์

ชี้รายได้ที่เพิ่มขึ้นของแรงงานหนุนตัวเลขจีดีพี

รายงานข่าวจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับปี 2561 นี้ จะส่งผลกระทบทางตรงต่อต้นทุนภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 0.4 ของต้นทุนทั้งหมด

นอกจากนี้ ธุรกิจอื่นๆ ที่แต่เดิมจ่ายค่าจ้างในอัตราที่สูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำไม่มากหรือพึ่งพิงแรงงานกึ่งมีฝีมือก็อาจจะได้รับผลกระทบทางอ้อมเนื่องจากจำต้องปรับเพิ่มค่าจ้างของแรงงานกึ่งมีฝีมือเพื่อรักษาระดับความต่างของค่าจ้างท่ามกลางสภาวะตลาดแรงงานที่ตึงตัวขึ้น ซึ่งจะทำให้ต้นทุนของอุตสาหกรรมในภาพรวมเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 0.3 ของต้นทุนทั้งหมด

สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจนั้น ประเมินว่ารายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพบางส่วนของแรงงาน รวมถึงช่วยหนุนการใช้จ่ายของครัวเรือนให้เพิ่มขึ้น

ในขณะเดียวกันการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น ซึ่งเมื่อประกอบกับต้นทุนการผลิตอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้นแล้วอาจทำให้ผู้ประกอบการบางส่วนถ่ายโอนภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นผ่านทางด้านราคาสินค้าและบริการ ซึ่งก็คาดว่าจะทำให้ระดับราคาสินค้าและบริการของผู้บริโภคในปี 2561 เพิ่มขึ้นราวร้อยละ 0.06 เมื่อเทียบกับกรณีไม่มีการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ

อย่างไรก็ตาม รายได้ของแรงงานที่เพิ่มขึ้นก็จะช่วยหนุนมูลค่าจีดีพีได้บางส่วน ประกอบกับภาครัฐมีมาตรการควบคุมราคาสินค้าภายในประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำกระทบภาพรวมเศรษฐกิจอย่างจำกัด

ทั้งนี้ จากการประเมินผลกระทบต่อมูลค่าจีดีพีของไทยในปี 2561 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะส่งผลต่อมูลค่าจีดีพีอย่างไม่มีนัยสำคัญ กล่าวคือ ผลสุทธิของมูลค่าจีดีพีจะลดลงเล็กน้อยราวร้อยละ 0.02 เมื่อเทียบกับกรณีไม่มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ

ดังนั้น จึงยังคงประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2561 ไว้ที่ร้อยละ 4.0 และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยในปี 2561 ที่ร้อยละ 1.1 เหมือนเดิม

 

 

ขอบคุณภาพ Featured จาก DDproperty