8 เทรนด์การตลาดแห่งเอเชียที่น่าจับตามองในปี 2561

1495

รายงานข่าวจากสหพันธ์การตลาดแห่งเอเชีย (Asia Marketing Federation : AMF) องค์กรระดับภูมิภาคและเป็นเครือข่ายของสมาคมการตลาดในเอเชีย เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย จัดทำรายงานพิเศษหัวข้อ 8 เทรนด์การตลาดแห่งเอเชียที่น่าจับตามองในปี 2561

โดยรายงานดังกล่าวนี้เป็นการสังเคราะห์สภาพแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงของตลาดในภูมิภาค ผนวกกับความรอบรู้อย่างมืออาชีพและภูมิปัญญาของสมาคมการตลาดจากประเทศสมาชิกในเอเชีย ประกอบด้วย จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ฮ่องกง สิงคโปร์ ไต้หวัน มองโกเลีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ไทย มาเลเซีย พม่า กัมพูชา เวียดนาม ศรีลังกา และบังคลาเทศ พบว่า 8 เทรนด์การตลาดแห่งเอเชียที่น่าจับตามองสำหรับปี 2561 ดังนี้

1.ดิจิทัลเทคโนโลยี และ IoT จะส่งผลกระทบอย่างสูงกับการปฏิบัติทางการตลาด โดยการมาถึงของเทคโนโลยีใหม่ๆ จะส่งผลกระทบกับแวดวงธุรกิจในหลายแง่มุม โดยเฉพาะธุรกิจในรูปแบบ consumer-to-consumer business ซึ่งได้รับโอกาสทางการขายที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลผ่านช่องทางการขายออนไลน์ (Internet marketplaces)

ในขณะเดียวกันยังเปิดโอกาสให้นักการตลาดสามารถพัฒนาการสื่อสารกับผู้บริโภคให้ก้าวไปอีกขั้นด้วยการสื่อสารระดับตัวต่อตัว (one-on-one personalization/customization) ที่เข้าถึงทุกๆ คนได้พร้อมๆกัน เป็นการปลดล็อครูปแบบการตลาดเดิมๆ

และเมื่ออุปกรณ์ใหม่ๆ อาทิ Smart TV, PCs, Smartphones, Tablets, Drones, Virtual Reality, Personal Robots ฯลฯ แพร่หลาย ก็เป็นโอกาสให้นักการตลาดสามารถนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence (AI) ล้ำหน้ามาใช้ได้ ซึ่งเทคโนโลยี AI นี้เองที่จะเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาสินค้าและบริการแห่งอนาคตให้มีคุณภาพสูง แม่นยำ มีประสิทธิภาพสูงทั้งด้านเวลาและการลงทุน

ดังนั้น ในมุมของคนทำงานก็ต้องมีการปรับตัวเช่นกัน เมื่อการตลาดก้าวสู่ยุคดิจิทัล นักการตลาดจะต้องมีความรู้ด้านเทคโนโลยีมากขึ้น และสามารถนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาปรับใช้ในการทำงานการตลาดได้อย่างกลมกลืน

การตลาดเอเชียกำลังจะก้าวสู่ยุคการตลาดดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ด้วยการพัฒนาของเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่หลากหลาย ทั้ง Internet of Things (IoT) ecosystem, การเข้าสู่ยุค cloud-based era และโซลูชั่นใหม่ๆ ทางการสื่อสาร เช่น fixed mobile convergence (FMC) ซึ่งเชื่อมต่อระบบโทรศัพท์พื้นฐานและโทรศัพท์เคลื่อนที่เข้าด้วยกันเป็นหนึ่งเดียว

ทั้งหมดนี้เปิดโอกาสให้โมเดลธุรกิจใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงบริษัทดั้งเดิมก็ก้าวสู่ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงเพื่อพัฒนารูปแบบธุรกิจสู่อนาคต

2.การผสานกันอย่างกลมกลืนระหว่างหัวใจผู้ประกอบการและการตลาด “Entrepreneurship” จะเป็นกุญแจสำคัญของความสำเร็จทางการตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่สถานการณ์ทางธุรกิจไม่แน่นอนและมีการแข่งขันสูงอย่างในยุค VUCA (volatility, uncertainty, complexity, and ambiguity)

บริษัทขนาดกลางและเล็กยิ่งต้องนำเอา entrepreneurial marketing หรือการตลาดเชิงผู้ประกอบการมาใช้ ทั้งการมุ่งสร้างสินค้าใหม่ๆ เปิดตลาดใหม่ๆ เห็นโอกาสใหม่ๆ และสร้างสรรค์นวัตกรรมสินค้าและรูปแบบการตลาดใหม่ๆ เพื่อชนะใจผู้บริโภค

หากนักการตลาดมีหัวใจของผู้ประกอบการและเจ้าของกิจการมีหัวใจการตลาด ธุรกิจก็จะมีพลังและพร้อมก้าวนำทุกสถานการณ์อย่างรอบคอบและรัดกุม

ภาพจาก : เดลินิวส์

3.พลังของคนรุ่นใหม่ผ่านออนไลน์และโซเชียลมีเดีย สื่อออนไลน์และโซเชียลมีเดียยังคงเป็นแพลตฟอร์มสำคัญที่ส่งผลการเติบโตของธุรกิจในทุกๆ ภาคส่วน โดยแพลตฟอร์มใหม่ๆ เหล่านี้ไม่ได้เข้ามาทดแทนสื่อแบบเดิมๆ แต่จะเข้ามาช่วยเสริมพลังในด้านการตลาด

บริษัทต่างๆ ควรเริ่มพิจารณาการใช้โซเชียลมีเดียเป็นหนึ่งในหมากสำคัญทางกลยุทธ์ร่วมกับการพิจารณาเรื่อง Content Marketing โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกลุ่มผู้บริโภค Gen Y และ Gen Z ที่ใช้โซเชียลมีเดียป็นแหล่งสำคัญในการหาข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการซื้อสินค้า

อย่างไรก็ตาม แม้คนในสังคมจะใช้โซเชียลมีเดียมากขึ้น แต่ผู้บริโภคกลับมีความเป็นปัจเจกนิยม (individualism) มากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องการตัดสินใจต่างๆ ผู้บริโภคจะมีความคิดเห็นเป็นตัวของตัวเองสูงขึ้น และนี่ก็เป็นจุดกำเนิดของ Celebgrams หรือผู้บริโภคที่ผันตัวมาเป็นผู้นำความคิดทางออนไลน์ในสังคมยุคใหม่

และเมื่อกลุ่มคนรุ่นใหม่ขยายตัวขึ้น เทรนด์ E-commerce ก็เติบโตขยายตัวตาม ดังนั้น จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่นักการตลาดต้องตามติดเทรนด์ ความต้องการของผู้บริโภค พร้อมพิจารณาเรื่องการตลาดและช่องทางการขายออนไลน์อย่างจริงจัง และนี่คือโอกาสใหม่ๆ ของบริษัท Startups และ SMEs อย่างแท้จริง

4.บริษัทต่างๆเริ่มหันมาพิจารณาเรื่อง ผลตอบแทนทางการตลาด หรือ return-on-marketing (ROM) อย่างจริงจัง ในยุคแห่งการแข่งขันนี้ ความมีประสิทธิภาพเป็นสิ่งสำคัญที่จะกำหนดผลกำไรของบริษัท ในมุมมองด้านการตลาดนั้น แม้หลักๆ จะยังเป็นการวิเคราะห์ในรูปแบบเดิมๆ แต่บริษัทควรมีการวิเคราะห์เพิ่มเติมเชิงข้อมูล (data-driven analysis) มากขึ้น เพื่อให้ได้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจที่แม่นยำ

และในยุคนี้มีเครื่องมือเทคโนโลยีการวิเคราะห์การตลาดที่ซับซ้อน รวมถึงการนำข้อมูล Big Data มาใช้ เพื่อให้ได้รายละเอียดเชิงลึกที่หลากหลายเกี่ยวกับความชอบของลูกค้าและแนวโน้มที่เกิดขึ้นใหม่ จากมุมกว้างไปจนถึงระดับบุคคล

ข้อมูลเหล่านี้ทำให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมีประสิทธิภาพสูง บริษัทได้รับ Hit Rate จำนวนมากและแม่นยำ นำไปสู่ผลตอบแทนทางการตลาดที่สูงและมีประสิทธิภาพกว่า

5.การขยายตัวของตลาดฮาลาล เทรนด์หนึ่งในเอเชียที่น่าสนใจคือ การเพิ่มขึ้นของความต้องการของกลุ่มสินค้าและบริการที่ได้รับการรับรองจากมุสลิมและฮาลาล ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่หมวดหมูอาหาร ความงาม แฟชั่น ท่องเที่ยว การเงินและการธนาคาร

โดยส่วนหนึ่งมาจากกำลังซื้อของประชากรมุสลิมที่มีมากในทวีปเอเชีย (60% ของประชากรมาเลเซีย) และ 4 ใน 5 ประเทศที่มีประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลกนั้นตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิกอีกด้วย ได้แก่ อินเดีย ปากีสถาน อินโดนีเซีย และบังคลาเทศ

ดังนั้น เทรนด์การเติบโตของสินค้าและบริการด้านฮาลาลในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการจึงมีการเติบโตสูงมาก ทั้งในประเทศที่มีประชากรมุสลิมเป็นหลักและประเทศอื่นๆ ทั่วเอเชีย อาทิ เกาหลีใต้ ไทย และสิงคโปร์ ตัวอย่างเช่น สิงคโปร์ได้มีการทำ “คู่มืออาหารฮาลาล” เพื่อช่วยเหลือนักท่องเที่ยวที่กำลังมองหาอาหารฮาลาลในประเทศสิงคโปร์

และนอกเหนือจากนี้ ในกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมนั้น กลุ่ม Millennials Gen นับเป็นสัดส่วนที่ใหญ่ที่สุด ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ธุรกิจต่างๆ ในทุกๆ ประเทศควรมีข้อมูลเกี่ยวกับฮาลาลทางแพลตฟอร์มดิจิทัลและโซเชียลมีเดียประกอบด้วย

6.ยุคแห่งการสร้างประสบการณ์ของผู้บริโภค เมื่อคุณภาพกลายเป็นมาตรฐานที่ทุกๆ สินค้าและบริการต้องมี ในยุคนี้สิ่งที่จะทำให้แต่ละแบรนด์แตกต่าง และคงอยู่ในใจผู้บริโภคได้คือการสร้างประสบการณ์ ซึ่งประสบการณ์เหล่านั้น จะต้องถูกร้อยเรียงผ่านทุกๆ Touch Points ในทุกๆ ขั้นตอนของการเดินทางของลูกค้า (Customer Journey) นอกเหนือจากช่องทางเดิมๆ นักการตลาดต้องคำนึงถึงการสร้างประสบการณ์ผ่านทุกๆช่องทางรวมถึงดิจิทัล ซึ่งมีบทบาทสำคัญมาก

เมื่อผู้บริโภคมีความต้องการที่ซับซ้อน เฉพาะตัว และเร่งด่วน เทรนด์ของ Omni-Channel หรือการผนวกช่องทางออนไลน์กับออฟไลน์เข้าด้วยกันแบบไร้รอยต่อจึงมีความสำคัญมาก เช่น บนเว็บไซต์, บนโมบาย, หน้าร้าน, การบริหารความสัมพันธ์ลูกค้าและการรับชำระเงิน ทั้งหมดเพื่อสร้างประสบการณ์ซื้อขายที่ดีให้กับลูกค้า ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของความสำเร็จ

การสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้บริโภคนั้นควรเกิดขึ้นในทุกๆ ช่องทางอย่างต่อเนื่อง 24×7×365 และในอนาคตอันใกล้เราจะเห็นว่า Customer Loyalty Program จะไม่ใช่เพียงแค่การทำธุรกรรมอีกต่อไป แต่จะก้าวไปเป็นการสร้าง Emotional Frameworks ที่มีอิทธิพลอย่างมากจาก Big Data และพฤติกรรมแต่ละช่วงชีวิต

ภาพจาก : Techsauce

7.การเกิดขึ้นของ Fintech จะนำไปสู่สังคมไร้เงินสดที่แท้จริง ด้วยเทคโนโลยี digital payment อันทันสมัยทำให้หลายๆ ประเทศในเอเชีย อาทิ จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่นนั้นได้ก้าวสู่สังคมไร้เงินสดไปแล้ว และประเทศอื่นๆ ก็พร้อมแล้วที่จะก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงนี้ โดยธุรกรรมการเงินจะสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้นผ่าน online transactions และ mobile payment gateways ที่ปลอดภัยและทันสมัย

การปรากฏตัวของ  Fintech (ซึ่งจะร่วมมือกับธนาคารทั่วไป) จะแข็งแกร่งขึ้นและส่งผลกระทบอย่างสูงต่อระบบธนาคารทั่วไป จึงเป็นผลให้ธนาคารต่างๆ ทบทวนความพร้อมในการให้บริการทางดิจิทัล และเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับธุรกิจที่เป็น digital base ให้ดียิ่งขึ้น

เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าด้านการเงินจะกระตุ้นความมั่นใจของผู้บริโภคให้ก้าวสู่สังคมไร้เงินสดได้เร็วขึ้น รวมถึงความนิยมในเรื่อง cryptocurrency ที่กำลังแพร่หลาย จะทำให้ผู้คนจำนวนมากได้รับประโยชน์และผลกำไรจากมูลค่าที่สูงขึ้นอย่างไม่หยุดนิ่งของ cryptocurrency

และ 8.การเติบโตของกลุ่ม Young Entrepreneurs ในยุคนี้เป็นยุคที่ใครๆ ก็ก้าวขึ้นมาเป็นเจ้าของกิจการ นักศึกษามหาวิทยาลัย และคนรุ่นใหม่ก้าวขึ้นมาทำธุรกิจในรูปแบบต่างๆ และเทรนด์การเติบโตของผู้ประกอบการอิสระรุ่นใหม่ที่เพิ่มมากขึ้น ก็นำไปสู่การเติบโตของธุรกิจออนไลน์ การแสวงหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต รวมถึงการขยายตัวของธุรกิจพื้นที่อย่าง Co-Working Space และ พื้นที่ที่เอื้อต่อการสร้างนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ เช่น Incubation hubs ต่างๆ

แม้ว่าคนรุ่นใหม่ที่กระตือรือร้นอยากเป็นเจ้าของกิจการนั้นจะเก่งด้านเทคโนโลยี มีความคิดสร้างสรรค์ และเปิดกว้างในการหาพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจ แต่อัตราความล้มเหลวของเหล่า StartUp นั้นก็สูงมาก

สิ่งหนึ่งที่สำคัญและเป็นเคล็ดลับความสำเร็จของหลายๆ เจ้าที่อยู่รอดคือ การตั้งเป้าหมายที่สูงกว่าแค่ตัวเลขทางธุรกิจ แต่เป็นเป้าหมายทางสังคมที่ต้องการให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี และตอกย้ำในความเชื่อของพวกเขา จึงเป็นความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากความสามารถ พร้อมความโปร่งใสในการทำธุรกิจที่ไม่ซ้ำใคร บวกความตั้งใจที่จะทำธุรกิจด้วยเป้าหมายที่ชัดเจน

ทั้ง 8 เทรนด์นี้เป็นแนวโน้มทางการตลาดที่จะเกิดขึ้นทั่วภูมิภาคเอเชียที่น่าจับตามองตลอดปี 2561 นี้