เรื่องโดย : ผศ.ดร.ณัฐธเดชน์ ชุ่มปลั่ง ภาควิชาสาธารณสุขศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ International University of Health and Welfare ประเทศญี่ปุ่น
เมื่อวันที่ 31ตุลาคมที่ผ่านมานี้ หลายพื้นที่และเมืองหลักๆในญี่ปุ่นได้มีการเฉลิมฉลองเทศกาลฮาโลวีนด้วยการประดับประดาด้วยฟักทองหน้าตาแปลกๆ ตลอดจนตกแต่งร้านเพื่อต้อนรับคืนวันปล่อยผี
โดยเฉพาะย่าน “ชิบุย่า” ที่นับเป็นอีกจุดหนึ่งที่ได้รับความนิยมมากที่สุด จนมีชื่อเสียงระดับโลกในเรื่องจำนวนผู้เข้าร่วม และการมีอิสระในการแต่งตัว
โดยในปีนี้บรรยากาศยังคงเต็มไปด้วยฝูงคนทั้งชาวญี่ปุ่นและต่างชาติ ที่ต่างพากันแต่งกายหลากหลายสีสัน แปลกตา ในรูปแบบของผีต่างๆ แต่งคอสเพลย์เลียนแบบตัวการ์ตูนดังๆ แต่งชุดเป็นฮีโร่ที่ชื่นชอบ
กล่าวกันว่าปีนี้มีผู้เข้างานกว่าล้านคน มีผลทางเศรษฐกิจกว่า 1,000 ล้านเย็น
“ฮาโลวีน” เข้ามาในญี่ปุ่นได้อย่างไร?
เทศกาลฮาโลวีนในญี่ปุ่นมีขึ้นครั้งแรกในช่วงหลังปี 1995 เป็นต้นมาโดยมีการจัดงานแต่งกายแนวแฟนซีเริ่มขึ้นครั้งแรกที่โตเกียวดิสนีย์แลนด์ ต่อมาในปี 1997 ได้เริ่มจัดงานเพิ่มขึ้นอีกหลายแห่ง เช่น เมืองKawasaki จังหวัดคานากาว่า ก็มีการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ มีผู้เข้าร่วมงานมากกว่าหนึ่งแสนคน
กระทั่งปี 2014 ที่มีการจัดงานในหลายพื้นที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะที่ชิบุย่า ที่มีการรวมตัวกันของผู้คนที่ชอบแต่งคอสเพลย์ ก็ได้มีการจัดงานเทศกาลเฉลิมฉลองต่อเนื่องกันมาในทุกๆ ปี
จนมีการเรียกชื่องานนี้อย่างคุ้นหูไปทั่วว่า シブハロ หรือ ชิบุฮาโร ซึ่งเป็นคำย่อที่มาจาก “ชิบุย่า ฮาโลวีน” นั่นเอง
ความถนัดในการเลือกรับ ปรับเปลี่ยนวัฒนธรรม
ในหลายๆ ประเทศทางอเมริกาและยุโรป ความเข้าใจในการแต่งตัวในวันฮาโลวีน ยังคงกลิ่นอายของความเชื่อและวัฒนธรรมทางศาสนาที่สอดแทรกแฝงตัวอยู่เสมอ ในทางกลับกันในญี่ปุ่นหลังจากเทศกาลฮาโลวีนได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของคนญี่ปุ่น ความเชื่อทางศาสนาที่แฝงตัวอยู่ในเทศกาลกลับเลือนลางหายไป เหลือไว้เพียงการแต่งตัวเป็นผี ซึ่งดูออกเป็นแนวแฟนซี แนวคอสเพลย์
หลักการในการเลือกรับวัฒนธรรมต่างชาตินี้เป็นแนวคิดเดียวกับการรับเอาเทศกาลวาเลนไทน์ และเทศกาลวันคริสต์มาสเข้ามา ซึ่งชาวญี่ปุ่นเองก็ร่วมฉลองเฉกเช่นเดียวกับประเทศที่นับถือศาสนาคริสต์ในหลายประเทศทั่วโลก
แต่สิ่งที่เป็นจุดต่างนั้นคือ มีลักษณะของการเฉลิมฉลองเพื่อความบันเทิง และการจัดบรรยากาศให้เกิดความรู้สึกก็มีความเป็นพาณิชย์สูงเช่นเดียวกัน
โดยเฉพาะเทศกาลฮาโลวีนนั้น กลุ่มวัยรุ่น นักเรียน นักศึกษา หรือแม้กระทั่งคนวัยทำงาน จะแสดงหรือเปิดเผยความเป็นตัวตนผ่านการแต่งกาย แต่งหน้า สร้างสีสัน ให้กับคนที่แต่งคอสเพลย์ด้วยกันเป็นอย่างยิ่ง
นอกจากนี้ ยังสร้างความบันเทิงให้กับคนที่มาขอถ่ายรูปด้วย เท่าที่ดูจากสีหน้าและทีท่าของแต่ละคนไม่ได้สื่อถึงความเก้อเขินแต่อย่างใด ทุกคนที่มาบางคนก็มากับกลุ่มเพื่อนบ้าง บางคนก็ต่างคน ต่างมา แต่มา “ชิบุย่า” ด้วยเป้าหมายเดียวกัน
จัดระเบียบดีแค่ไหน…ก็ยังมีปัญหา
จากการที่ได้ไปร่วมสังเกตการณ์งานในปีนี้ต้องยอมรับเลยว่าคนมาเยอะกว่าปีก่อนๆ คนที่มาร่วมงานแต่งตัวหลากหลายแนว เริ่มตั้งแต่แนวผีๆ เช่น แต่งตัวเลือดสาดย้อย หัวขาด ปากแหว่ง ชวนขนหัวลุก
บางคนมาในแนวคอสเพลย์สายฮา แต่งเป็นซุปเปอร์ฮีโร่ขวัญใจของตัวเอง แต่งเป็นตัวตลกยิ้มแสยะน่าสยดสยอง หรือผีดิบที่เพิ่งจะหลุดออกมาจากหลุม ทำให้บรรยากาศของงานดูหลอน น่ากลัวๆ แต่ก็ครึกครื้นสนุกสนานในแบบแปลกๆ ตลกๆ ของคนญี่ปุ่น
ภาพถ่ายโดยผู้เขียน ถ่ายบริเวณ ห้าแยกชิบุย่า
สิ่งหนึ่งที่ทุกคนต้องทำใจในการเข้าร่วมงานนี้ คือ ความแออัด หนาแน่นของคนที่มาร่วมงาน สภาพการจราจรที่แออัดมาก เริ่มตั้งแต่ในสถานีรถไฟชิบุยะจนล้นออกมาข้างนอก จนต้องมีเจ้าหน้าที่ตำรวจออกมาช่วยจัดระเบียบและสร้างความเรียบร้อย คอยดูแลกั้นกลางสี่แยก เนื่องจากคนทะลักมาก
ส่วนภายในงานจะมี DJ Police ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจก็จะประกาศ ตักเตือน และจัดระเบียบในงานด้วย
ภาพจาก Twitter ที่ระบุถึงการปะทะกันระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ
นอกจากนี้ คนที่มาร่วมงานบางกลุ่มบางพวก ยังแสดงออกขัดกับวัตถุประสงค์ และขัดต่อศีลธรรมและกฎหมาย เช่น การเดินเปลือยกาย การเดินชุมนุมเพื่อเรียกร้องความสนใจในเรื่องต่างๆ
บางคนถือโอกาสนี้ลวนลาม หรือสร้างความวุ่นวาย ก่อปัญหาทะเลาะวิวาทอีกด้วย ซึ่งในปีนี้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายร้อยนายได้ถูกวางกำลังในการรักษาความปลอดภัยให้กับผู้ร่วมงาน และรักษาความสงบเรียบร้อยในหลายๆ จุดกกว่าปีก่อน แต่ก็ยังคงมีปัญหาหลายๆ อย่างเกิดขึ้นอยู่ทุกปี ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจออกมาตรการในการรักษาความเรียบร้อยมากขึ้น
ใครว่า “คนญี่ปุ่น” ไม่ทิ้งขยะสเปะสปะ
ผู้เขียนสังเกตสถานที่มีผู้คนมาชุมนุมทำกิจกรรมหลายๆ งานในญี่ปุ่น พบว่า หลังจากเลิกงานมีขยะทิ้งเกลื่อนเรี่ยราดตามข้างทางมากมาย ซึ่งในงานฮาโลวีนที่ชิบุย่าก็เช่นเดียวกัน
จากที่ได้ติดตามการายงานข่าวหรือจากการโพสต์ภาพตาม Twitter ของผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตชิบุย่า ทุกคนต่างบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่าผู้ร่วมงานไม่ช่วยกันรักษาความสะอาด ทิ้งขยะไม่เป็นที่ จนต้องมีการจัดอาสาสมัครในการตามเก็บขยะ และทำความสะอาดตามพื้นที่ต่างๆ ทุกปี
ภาพจาก Twitter สื่งที่หลงเหลือไว้หลังจบงาน
ประเด็นเรื่องปัญหาขยะที่ถูกทิ้งแบบไร้เยื่อใยนี้ เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทุกปี ยากแก่การหลีกเลี่ยง ถึงแม้ว่าจะมีการวางและตั้งถังขยะในหลายๆ จุดแต่ก็ไม่เพียงพอกับปริมาณขยะที่มีมากขึ้นตามจำนวนผู้ร่วมงานที่มากขึ้นทุกปี
แต่อย่างไรก็ดี ผู้เขียนหวังว่าทางสำนักเขตจะจัดหน่วยงานเข้ามาดูแล หรือจัดหน่วยงานอาสาลงมาจัดระบบการทิ้งขยะไม่ให้เกิดปัญหาแบบนี้ซ้ำรอยต่อๆ ไป
หลายท่านคงจะรู้จักกับย่าน “ชิบุย่า” ในฐานะที่มีห้าแยกชื่อดังที่มีฝูงชนเดินข้ามกันขวักไขว่อยู่ตลอดเวลา มีรูปปั้นของหมาฮาจิโกะที่มีเรื่องราวของความจงรักภักดีต่อเจ้านาย มีห้างสรรพสินค้าแบรนด์ดังตั้งอยู่มากมาย เคยได้ยินผู้ใหญ่ญี่ปุ่นที่ผมนับถือหลายท่านกล่าวว่า “ชิบุย่า” เป็นย่านหนึ่งที่รวมเอาความเป็นมหานครโตเกียวเอาไว้เลยทีเดียว
ดังนั้น ท่านใดมาโตเกียวในช่วงสิ้นเดือนตุลาคม ผู้เขียนขอแนะนำให้มาชมเทศกาลฮาโลวีนที่ “ชิบุย่า” สักครั้ง รับรองว่าจะได้สัมผัสกับญี่ปุ่นในอีกมุมหนึ่งที่ท่านยังไม่เคยรู้ไม่เคยเห็นแน่นอน!
ขอบคุณภาพ Featured จาก : http://tokyofashion.com/harajuku-shibuya-halloween-street-snaps/