ความพร้อมของทีมพยาบาล หยุดภัยเงียบในสนามวิ่ง

14246

เรื่องโดย Mr.362degree

                 ไม่ใช่แต่เฉพาะในเมืองไทย เมืองใหญ่ๆ ทั่วโลกต่างก็ตกอยู่ในกระแสความนิยมการจัดการแข่งขันวิ่ง เพราะในยุคสมัยที่ผู้คนใช้ชีวิต มีไลฟ์สไตล์ในการดื่มกินกันจนเกิดปัญหากับร่างกาย ทั้งรูปร่างภายนอกและสุขภาพภายใน ทำให้เทรนด์การออกกำลังกายขยายวงกว้างขึ้น และการวิ่งถือเป็นการออกกำลังกายที่ใช้งบประมาณน้อยที่สุด เพียงแค่มีรองเท้าวิ่งก็สามารถออกวิ่งได้ หรือหากจะลงแข่งขัน เพียงมีสุขภาพแข็งแรงก็สามารถลงแข่งวิ่ง 5 กิโลเมตรหรือ 10 กิโลเมตรได้สบายๆ

ทำให้วันนี้ในเมืองไทยมีการจัดงานวิ่งทุกรูปแบบ ทั้งวิ่งบนถนน วิ่งในเขตธรรมชาติ วิ่งวิบาก มากถึง 20 งานต่อสัปดาห์  และคาดว่าจะมีอีเวนท์จัดวิ่งในเมืองไทยมากกว่า 600 งานต่อปี

แต่การวิ่งที่คนส่วนใหญ่คิดว่าเป็นการออกกำลังกายที่ปลอดภัยหากตนเองมีสุขภาพแข็งแรง มีการฝึกซ้อม และเตรียมตัวมาดี ก็อาจไม่ได้เป็นเช่นนั้น !

ข้อเขียนบนเฟสบุ๊กที่มีการแชร์ต่อกันอย่างรวดเร็ว โดยมีการให้เครดิตผู้เขียนคือ คุณหมอไพโรจน์ เป็นการเล่าเหตุการณ์กรณีวิสัญญีแพทย์จากโรงพยาบาลยันฮี ที่มีงานอดิเรกเป็นนักวิ่งมาราธอน เกิดล้มลงหมดสติ หัวใจหยุดเต้น หลังจากวิ่งไปเพียง 3 กิโลเมตร ในงานเดิน-วิ่ง มินิ-ฮาล์ฟมาราธอน กต.ตร.สน. บางกอกใหญ่ 21 กิโลเมตร เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

โดยมาตรวจพบว่าคุณหมอที่หมดสติและหัวใจหยุดเต้นนี้ เกิดอาการ Ventricular tachycardia หรือภาวะอาการหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ จากความผิดปกติจากการเหนี่ยวนำไฟฟ้าที่เกิดขึ้นในหัวใจห้องล่าง

โดยในความโชคร้ายของคุณหมอท่านนี้ก็ยังมีความโชคดีที่ระยะทางที่คุณหมอล้มลงหมดสติ ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการวิ่ง ทำให้นักวิ่งยังเกาะกลุ่มใหญ่ ซึ่งในกลุ่มนักวิ่งนั้นก็มีคุณหมอรวมอยู่ด้วยหลายๆ ท่าน ทำให้การช่วยเหลือเข้ามาอย่างรวดเร็ว ทั้งการช่วยกันปั๊มและแคร์แอร์เวย์(ดูแลระบบทางเดินหายใจ)ด้วยการทำ CPR.( Cardio Pulmonary Resuscitation)

แต่ลำพังการช่วยเหลือที่ขาดอุปกรณ์ก็ยังไม่สามารถทำให้คุณหมอผู้โชคร้ายฟื้นขึ้นมาได้

จนกระทั่ง รถพยาบาลจากโรงพยาบาลธนบุรี มาถึงพร้อม อุปกรณ์เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ (automated external defibrillator) หรือเครื่อง AED ที่ทราบมาว่ามีติดอยู่กับรถพยาบาลของโรงพยาบาลธนบุรี โดยทำการช็อคหัวใจเพียงครั้งเดียว หัวใจของคุณหมอก็กลับมาเต้น ก่อนส่งต่อไปที่โรงพยาบาลศิริราชทำการรักษาจนหายเป็นปกติ

ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นเกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจเส้นหน้าเป็น acute myocardial infarction  กล้ามเนื้อหัวใจตายจากเลือดที่มาเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่เพียงพอ เกิดขึ้นได้แม้คนๆ นั้นมีสุขภาพแข็งแรงดี แต่การบริโภคอาหารไม่ดีเพียงพอ

คุณหมอไพโรจน์ เจ้าของข้อเขียนนี้ ยังได้สรุป  “บทเรียนที่น่าสนใจ” ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็น 4 ข้อ

1) คนที่สุขภาพแข็งแรงก็มิใช่ว่าจะไม่มีความเสี่ยงของหลอดเลือดหัวใจและความตาย

2) โชคดีที่การวิ่งรายการนี้มีหมอมาวิ่งหลายท่าน และอยู่ระยะต้นๆ ของการวิ่ง นักวิ่งยังไม่กระจายห่างกันมาก ทำให้มีคุณหมอนักวิ่งเข้ามาช่วยกันถึงสามคน และที่สำคัญคือคุณหมอทั้งสามมีความพร้อมและมีความสามารถในการช่วยชีวิตคนในภาวะวิกฤตได้ดีมาก

3) ที่โชคดีกว่านั้นคือการที่รถพยาบาลของโรงพยาบาลธนบุรีมีเครื่อง AED ที่สามารถใช้งานได้อยู่ด้วย กรณีที่เกิดขึ้นต้องรักษาได้ผลด้วยการช็อคไฟฟ้าเท่านั้นจึงทำให้การกู้ชีพได้สำเร็จ

ดังนั้น การที่รถพยาบาลมีเครื่อง AED จำเป็นที่จะต้องตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ เพื่อดูว่าเครื่องสามารถใช้งานได้จริงหรือไม่ เพราะการตรวจสอบเครื่องอย่างมีคุณภาพเป็นประจำนี้ทำให้สามารถช่วยชีวิตของหมอคนหนึ่งที่ยังสามารถที่จะทำประโยชน์ให้กับคนไข้ได้อีกมาก

4)  การจัดงานวิ่งในเมืองไทยส่วนใหญ่คงไม่มีหมอหรือพยาบาลมาร่วมวิ่งเหมือนรายการนี้ รวมถึงอาจไม่มีรถพยาบาลที่มีเครื่อง AED ซึ่งแพทยสมาคมสามารถมีส่วนร่วมในการรณรงค์ให้การจัดการแข่งขันกีฬาที่มีรถพยาบาลหรือหน่วยพยาบาลที่มีเครื่อง AED พร้อมทุกงาน และมีการฝึกอบรมแพทย์ในการผ่าน BLS กู้ชีวิต และกระจายสู่บุคลากรสาธารณสุขต่อๆ ไป

เหตุการณ์นี้ จึงต้องปรบมือให้กับความพร้อมของบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ สามารถเข้าไปช่วยเหลือผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงที รวมถึงรถพยาบาลโรงพยาบาลธนบุรีที่มีเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติหรือเครื่อง AED ติดรถพยาบาล ไม่ว่าจะในสนามแข่งหรือเหตุฉุกเฉินบนท้องถนน

มิฉะนั้น เราอาจต้องเสียบุคลากรทางการแพทย์ที่สามารถสร้างประโยชน์ให้กับประเทศ เช่นคุณหมอท่านนี้ไป และอย่าให้เราต้องเสียคนที่รักจากงานวิ่งที่ขาดความพร้อมในการช่วยเหลืออีกเลย