เก็งโก (元号) “ชื่อปีรัชศก” นั้น สำคัญไฉน จับตาการเปลี่ยนผ่านราชบัลลังก์ดอกเบญจมาศ

2587

ข่าวการสละราชสมบัติของจักรพรรดิญี่ปุ่น ทำให้ทั่วโลกต่างให้ความสนใจในเรื่องราวของราชวงศ์ญี่ปุ่น ราชวงศ์ที่สืบทอดมาอย่างยาวนานที่สุดในโลก ยาวนานกว่า1,300 ปี และเป็นประเทศเดียวในโลกที่ยังมีจักรพรรดิ

โดยจักรพรรดิองค์ปัจจุบันคือ สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ ซึ่งสืบราชวงศ์มาเป็นลำดับที่ 125 และถัดจากนั้น เจ้าฟ้าชายนารุฮิโตะ มกุฎราชกุมารแห่งญี่ปุ่น ก็จะประกอบพิธีสืบราชสมบัติต่อจากพระราชบิดาประมาณต้นปี 2019

พร้อมกับการเปลี่ยนชื่อปีรัชศก จากปีเฮเซ (平成 Heisei) เป็นชื่อปีรัชศกใหม่ โดยจะมีประกาศอย่างเป็นทางการในปลายปีหน้า ซึ่งคนญี่ปุ่นต่างจับตารอคอยกับการประกาศใช้ปีเก็งโกใหม่ด้วยใจจดจ่อ พร้อมกับมีการคาดเดาชื่อไปต่างๆ นานาทีเดียว

ผังลำดับการสืบราชสันตติวงศ์ของจักรพรรดิญี่ปุ่นตั้งแต่สมัยโชวะจนถึงปัจจุบัน

ภาพจาก  http://233livenews.com/2017/05/18/princess-mako-to-lose-japan-royal-status-by-marrying-commoner/

การประกาศใช้ปีรัชศกในอดีตที่ผ่านมา จะประกาศหลังการสิ้นพระชนม์จักรรพรรดิองค์นั้นๆ แต่ในครั้งนี้นับเป็นการสละราชสมบัติครั้งแรกในรอบกว่า 200 ปี ที่องค์จักรพรรดิมีพระราชดำริจะสละราชสมบัติในขณะมีพระชนม์ชีพอยู่

โดยก่อนหน้านี้ จักรพรรดิอากิฮิโตะได้มีการตรัสเป็นนัยๆ ถึงการสละราชสมบัติว่า เนื่องจากพระชนมายุที่มากถึง 83 พรรษาแล้ว มีพระพลานามัยไม่แข็งแรง และทรงเห็นว่าไม่เป็นการสมควรที่ผู้ทรงเป็นสัญลักษณ์ของประเทศจะต้องตัดลดการปฏิบัติพระราชกรณียกิจเรื่อยไปเนื่องด้วยเหตุผลทางพระพลานามัย

ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงพิจารณาหารือพร้อมกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงและสมาชิกราชวงศ์ญี่ปุ่น จนได้มีการผ่านร่างกฎหมายการสละราชสมบัติ และกำหนดวันสำหรับการประกาศวันสละราชสมบัติ และวันขึ้นครองราชย์ของจักรพรรดิองค์ใหม่ พร้อมทั้งเตรียมประกาศปีรัชศกใหม่ ซึ่งถือว่าเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญต่อการสืบราชสันตติวงศ์เป็นอย่างยิ่ง

เก็งโก หรือ ปีรัชศก เริ่มมีการใช้ครั้งแรกในยุคอาซึกะ (ช่วงค.ศ.538- 710) โดยเริ่มนับครั้งแรกในกลางปีค.ศ.645 จนถึงต้นปี ค.ศ.650 ค.ศ.ชื่อปีเก็งโกที่ถูกนำมาใช้เรียกครั้งแรกคือ “ไทคะ” (大化) นับจากนั้นเป็นต้นมา ได้มีการดำเนินการใช้วิธีการเรียกปีเก็งโก สืบเนื่องมาจนกระทั่งถึงปี 1868 ในยุคเมจิ ได้มีหลักการในการเรียกชื่อปีจากเดิมเป็น “หนึ่งจักรพรรดิ หนึ่งรัชศก” หรือ “一世一元”

กล่าวคือ การเรียกชื่อปีโดยเริ่มนับตั้งแต่มีการครองราชย์ของจักรพรรดิ และสิ้นสุดการนับปีเก็งโกนั้นๆ หลังจากมีการประกาศสละราชสมบัติ พร้อมกับการขึ้นครองราชย์ราชย์ของจักรพรรดิองค์ใหม่นั่นเอง

ถึงแม้ปีเก็งโกจะเป็นชื่อปีที่ตั้งขึ้นมาตามการเปลี่ยนผ่านรัชกาลสู่รัชศกใหม่ แต่ก็ถือได้ว่ามีความสำคัญต่อชีวิตประจำวันของคนญี่ป่นอยู่ไม่น้อยทีเดียว เพราะในปัจจุบันคนญี่ปุ่นก็ยังคงนิยมใช้วิธีการเรียกปีในแบบดั้งเดิมอยู่ พร้อมๆ กับการใช้ปีคริสตศักราชตามหลักสากล อันจะเห็นได้จากในการแถลงข่าวหรือการจัดทำเอกสารต่างๆ ของรัฐบาล ก็ยังคงรักษาการเรียกชื่อปีในแบบดังเดิมนี้ไว้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาติดต่อกับทางราชการ หรือทำสัญญาธุรกรรมต่างๆ ก็ยังคงต้องกรอกหรือเขียนปีตามแบบญี่ปุ่นอยู่ เช่น วันเดือนปีเกิด หรือการกรอกปี ก็ยังคงยึดเอาตามธรรมเนียมดั้งเดิมในการเรียกชื่อปีนี้เอาไว้เป็นอย่างดี

จากซ้ายไปขวา จักรพรรดิสมัยเมจิ จักรพรรดิสมัยไทโช และจักรพรรดิสมัยโชวะ

 ภาพจาก  http://blog.livedoor.jp/kikugawacc_gm/archives/2016-11-03.html

การนับปีของคนญี่ปุ่น เช่น ปัจจุบันคือปีเฮเซที่ 29 จะเขียนย่อเป็น H29 โดยการนับจะเริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ.1989 เป็นปีเฮเซที่ 1 เป็นต้นมา (จักรพรรดิองค์ปัจจุบันขึ้นครองราชย์ในปี 1989) ปีนี้เป็นปี ค.ศ. 2017 คือปีเฮเซที่ 29 กล่าวคือเป็นปีที่ 29 ในสมัยจักรพรรดิเฮเซ

โดยวิธีเทียบเป็นปี ค.ศ. คือเอาปีสองหลักสุดท้ายของ ค.ศ. บวกกับ 12 จะเป็นปีเฮเซ และสมัยก่อนเฮเซคือ โชวะ(昭和) ซึ่งจะอยู่ในช่วงปี ค.ศ.1926-1989 (จักรพรรดิสมัยโชวะ ครองราชย์ได้ 64 ปี)

วิธีจำคือเอาปีสองหลักสุดท้ายของ ค.ศ. ลบด้วย 25 จะเป็นปีโชวะ เช่น ค.ศ. 1986 คือปีโชวะที่ 61 (ปีเกิดผู้เขียน) สมัยก่อนโชวะคือ ไทโช(大正)ซึ่งจะอยู่ในช่วงปี ค.ศ.1912-1926  (จักรพรรดิสมัยไทโช ครองราชย์ 15 ปี) สมัยก่อนไทโชคือ เมจิ(明治)ซึ่งจะอยู่ในช่วงปี ค.ศ.1868-1912 (จักรพรรดิสมัยเมจิ ครองราชย์ 16 ปี)

โดยก่อนหน้าจะเป็นช่วงสมัย เอโดะ ที่เราๆ รู้จักกันก็จะมีหลายๆ รัชสมัยตามการครองราชย์ของจักรพรรดิ ซึ่งในช่วงนี้โชกุนจะมีอำนาจและบารมีมาก ดังนั้น การครองราชย์ของจักรพรรดิก็จะมีการสับเปลี่ยนอยู่บ่อยครั้ง ทั้งที่ทรงสละราชสมบัติเอง เนื่องจากบางพระองค์ทรงเบื่อหน่ายที่ทรงไม่สามารถปกครองบ้านเมืองได้เต็มที่ และทั้งที่โดนโชกุนบังคับ ในสมัยนี้นับว่าสถาบันจักรพรรดิตกต่ำมาก เพราะไม่ได้เป็นผู้ใช้อำนาจในการปกครองบ้านเมืองอย่างแท้จริง โดยมากจักรพรรดิมักจะทรงผนวชหลังจากที่ทรงสละราชสมบัติแล้ว จะนิยมเรียกตามราชประเพณีว่า “โฮโอว์” (法皇) แต่ถ้าหากไม่ได้ผนวชและสละราชสมบัติในขณะมีชีวิตอยู่ จะเรียกว่า “โจโคว์” (上皇)

การเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมประชาชนผู้ประสบภัยในเหตุการณ์แผ่นดินไหมที่จ.คุมะโมโต

แสดงถึงน้ำพระราชหฤทัยที่มีต่อประชาชน

ภาพจาก http://mainichi.jp/articles/20161223/k00/00m/040/117000c

ความสำคัญในการใช้ปี เก็งโก นอกจากจะแสดงถึงความเป็นอนุรักษ์นิยมในการคงแบบแผนและธรรมเนียมดังเดิมที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ผู้เขียนมองว่า การใช้ปีเก็งโกหรือปีรัชศกในบริบทของคนญี่ปุ่น ยังแสดงถึงความรู้สึกจงรักภักดีของคนญี่ปุ่นในรูปแบบหนึ่งที่พึงที่มีต่อองค์จักรพรรดิอย่างไม่เสื่อมคลาย ถึงแม้จะมีการลดบทบาทให้องค์จักรพรรดิเป็นเพียงสัญลักษณ์ของประเทศหลังจากญี่ปุ่นแพ้สงคราม

โดยที่อเมริกาได้เข้ามามีบทบาทในการจัดระบบระเบียบ โดยลดพระราชอำนาจไม่ให้พระองค์มีบทบาททางการเมืองใดๆ เลยก็ตาม แต่ประชาชนก็ยังคงให้ความเคารพ ด้วยเพราะความมีจริยวัตร มีน้ำพระราชหฤทัยในการเสด็จเยี่ยมเยียน ถามไถ่ทุกข์สุขของประชาชนในโอกาสต่างๆ ซึ่งแสดงถึงจิตใจอันดีงามของพระองค์ท่านด้วย

ตัวอักษรคันจิ 2 ตัวที่ประสมกันแล้วมีความหมายที่เหมาะสม ถูกคาดว่าจะได้รับคัดเลือกมาเป็นชื่อปีเก็งโกใหม่

ภาพจาก https://www.bttp.info/pickup/prophecy-2019era/

สำหรับการคัดเลือกเลือกปีเก็งโกใหม่นั้น มีหลักการคือ 1. ต้องเป็นตัวอักษรคันจิ 2 ตัว 2. สามารถอ่านง่าย 3. ไม่เคยถูกใช้มาก่อน 4. มีความหมายที่เหมาะสม และที่สำคัญคือ ง่ายต่อการแปลงเป็นตัวอักษรภาษาอังกฤษตัวเดียว และไม่ซ้ำซ้อนกับตัวสะกดนำหน้าที่เคยมี

เช่น ปีเฮเซ ใช้ตัว H เป็นอักษรแทน ปีโชวะ ใช้ตัวS เป็นอักษรแทน ปีไทโช ใช้เป็นตัว T เป็นอักษรแทน ปีเมจิ ใช้ตัว M เป็นอักษรแทน เป็นต้น ซึ่งขณะนี้มีการคาดเดาไปต่างๆ นานา อาทิ Anji Ankyu Seiten Yuji เป็นต้น

สำหรับผู้เขียนแล้ว ถ้าจะให้ดูจากหลักการข้างต้น ขอร่วมเดาว่า Ankyu (安久) น่าจะได้รับการคัดเลือกเป็นปีเก็งโกใหม่ของญี่ปุ่น ซึ่งคงต้องติดตามกันต่อไปว่าปีเก็งโกใหม่นี้จะใช้ชื่อปีอะไร

อย่างไรก็ดี เหนือสิ่งอื่นใดเลยคือ การมีจักรพรรดิองค์ใหม่จะนำมาซึ่งโอกาสให้คนญี่ปุ่นได้พิสูจน์ความเชื่อมั่น และศรัทธาของตนต่อที่ยังคงมีต่อองค์จักรพรรดิมากน้อยแบบใด หรืออาจจะเป็นเพียงแค่การเปลี่ยนผ่านเพื่อ “คงความเป็นสัญลักษณ์ของชาติ” เท่านั้น 

 

 

ขอบคุณภาพ Featured จาก : https://www.japantimes.co.jp/community/2012/01/17/issues/and-then-there-was-one-japans-right-royal-crisis/