“ธนาคารไทยเครดิต” ประกาศงบปี 66 กำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ อยู่ที่เกือบ 3,557 ลบ.

832
วิญญู ไชยวรรณ

ธนาคารไทยเครดิต จำกัด (มหาชน) ประกาศผลงานปี 66 กำไรสุทธิทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ อยู่ที่เกือบ 3,556.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 51.2 ยอดปล่อยสินเชื่อใหม่เพิ่มขึ้น 22,858.5 ล้านบาท หนุนเงินให้สินเชื่อ ณ สิ้นปี 66 อยู่ที่ 144,156.5 ล้านบาท จากการเติบโตในทุกกลุ่มสินเชื่อหลักของธนาคารฯ โดยเฉพาะสินเชื่อไมโครเอสเอ็มอี สินเชื่อนาโนและไมโครเครดิตเพื่อคนค้าขาย  พร้อมกับควบคุมต้นทุน รักษาอัตราส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) อยู่ที่ร้อยละ 8.2 และ ROE พุ่งสูงขึ้นที่ร้อยละ 22.31 มองปี 67 พร้อมในการขยายพอร์ตสินเชื่อต่อเนื่อง ด้วยโครงสร้างเงินทุนที่ต้นทุนต่ำ

วิญญู ไชยวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยเครดิต จำกัด (มหาชน) (“ธนาคารฯ” หรือ “ธนาคารไทยเครดิต”) เปิดเผยผลการดำเนินงานของธนาคารฯ ณ สิ้นปี 2566 (มกราคม – ธันวาคม 2566) ธนาคารฯ มีอัตราการเติบโตของสินเชื่อที่โดดเด่น มีเงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ของธนาคารฯ เท่ากับ 144,156.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22,858.5 ล้านบาท หรือร้อยละ 18.8 จากงวดเดียวกันของปีก่อน โดยปัจจัยหลักเนื่องมาจากการเติบโตในทุกกลุ่มสินเชื่อหลักของธนาคารฯ ทั้งสินเชื่อธุรกิจไมโครเอสเอ็มอี สินเชื่อนาโนและไมโครเครดิตเพื่อคนค้าขาย และสินเชื่อบ้านแลกเงิน

สอดคล้องกับรายได้ดอกเบี้ยของธนาคารฯ อยู่ที่ 15,894.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.3 จากงวดเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 12,684.7 ล้านบาท โดยมีสาเหตุหลักมาจากรายได้ดอกเบี้ยจากเงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ที่เพิ่มขึ้นเท่ากับ 2,904.5 ล้านบาท เนื่องจากปริมาณเงินให้สินเชื่อที่เติบโตเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์สินเชื่อหลักของธนาคารฯ ประกอบกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของธนาคารฯ ควบคู่การมุ่งเน้นบริหารจัดการ ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดําเนินงานอื่นๆ ต่อรายได้จากการดําเนินงานของธนาคารฯ ลดลงจาก ณ สิ้นปี 2565 เทียบกับสิ้นปี 2566 อยู่ที่ร้อยละ 39.5 เป็นร้อยละ 36.7 สาเหตุหลักมาจากประสิทธิภาพในการดําเนินงานที่ดีขึ้น จากเครื่องมือที่ธนาคารฯ พัฒนานํามาใช้ในการทํางานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยจะเห็นได้ว่าธนาคารฯ มีรายได้จากการดําเนินงานต่อสาขา ปริมาณสินเชื่อต่อสาขา และปริมาณเงินฝากต่อสาขาดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ส่งผลให้ธนาคารฯ มีกำไรสุทธิทําสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ณ สิ้นปี 2566 อยู่ที่ 3,556.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 51.2 เมื่อเทียบกับปีก่อนอยู่ที่ 2,352.5 ล้านบาท โดยอัตราส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ในปี 2566 ของธนาคารฯ อยู่ที่ร้อยละ 8.2 ใกล้เคียงปีก่อนที่ร้อยละ 8.4 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนทางการเงินถัวเฉลี่ยของธนาคารฯ สอดคล้องกับการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท. และมาตรการลดหย่อนค่าเงินนําส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) สิ้นสุดลงในปี 2565 อย่างไรก็ตาม กําไรสุทธิต่อส่วนของเจ้าของในปี 2566 (ROE) สูงขึ้นเป็นร้อยละ 22.31 เมื่อเทียบกับปีก่อนอยู่ที่ร้อยละ 18.94

สำหรับแนวโน้มปี 2567 ธนาคารฯ จะยังคงรักษาการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยการระดมทุน (IPO) ในช่วงที่ผ่านมา จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการบริหารงาน เสริมสร้างความแข็งแกร่งของเงินกองทุนของธนาคารฯ เพื่อใช้เป็นเงินทุนสำหรับการขยายพอร์ตสินเชื่อได้ต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าหมายพอร์ตสินเชื่อเติบโตในระดับร้อยละ 20-30 ต่อปี รวมทั้งมีผลตอบแทนสูง ด้วยโครงสร้างเงินทุนที่ต้นทุนต่ำ

ทั้งนี้ ธนาคารไทยเครดิต เป็นธนาคารพาณิชย์ที่มุ่งเน้นการปล่อยสินเชื่อนาโนและไมโครเครดิตเพื่อคนค้าขาย (Nano and Micro Finance) และสินเชื่อธุรกิจไมโครเอสเอ็มอี (Micro SME) ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าในประเทศไทยที่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้เท่าที่ควร รวมไปถึง บริการเงินฝาก และบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจธนาคารฯ ยึดมั่นในวิสัยทัศน์และพันธกิจที่มุ่งเน้นการดําเนินธุรกิจบนพื้นฐานการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยให้บริการทางการเงินที่ดีที่สุด เพื่อสนับสนุนให้ลูกค้าเติบโตทางธุรกิจ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วยบริการไมโครไฟแนนซ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของธนาคารฯ และยกระดับชีวิตทางการเงินได้อย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญา “Everyone Matters ทุกคนคือคนสำคัญ”