ก.ล.ต.นับหนึ่งไฟลิ่ง บมจ.เอสซีจี เดคคอร์ หรือ SCGD เตรียมเสนอขาย IPO

544

บมจ.เอสซีจี เดคคอร์ หรือ SCGD เตรียมเสนอขายหุ้น IPO หลังสำนักงาน ก.ล.ต.นับหนึ่งแบบไฟลิ่ง ชูศักยภาพผู้นำธุรกิจตกแต่งพื้นผิวและสุขภัณฑ์ครบวงจรในภูมิภาคอาเซียนด้วยฐานการผลิตและช่องทางจัดจำหน่ายครอบคลุม 4 ประเทศหลัก วางกลยุทธ์รุกขยายธุรกิจเติบโตพร้อมตลาดอาเซียนมูลค่า 1.8 แสนล้านบาท 

นำพล มลิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสซีจี เดคคอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGD เปิดเผยว่า บริษัทฯ เป็นผู้นำธุรกิจตกแต่งพื้นผิวและสุขภัณฑ์อย่างครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน โดยมีธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจตกแต่งพื้นผิว (Decor Surfaces) คิดเป็นสัดส่วนรายได้หลักประมาณ 80% ได้แก่ กระเบื้องปูพื้น บุผนัง ผลิตภัณฑ์กระเบื้องไวนิล SPC (Stone Plastic Composite) และกระเบื้องไวนิล LVT (Luxury Vinyl Tile) ที่กำลังได้รับความนิยมในตลาดที่อยู่อาศัยและอาคารเชิงพาณิชย์ เนื่องจากติดตั้งง่ายและมีลวดลายธรรมชาติเสมือนจริง รวมถึงมีผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่อง เช่น กาวซีเมนต์ กาวยาแนว เป็นต้น และ ธุรกิจสุขภัณฑ์ ได้แก่ สุขภัณฑ์ ก๊อกน้ำ และอุปกรณ์ห้องน้ำ คิดเป็นสัดส่วนรายได้เกือบ 20% และมีอัตรากำไรที่ดี โดย SCGD มีฐานการผลิตกระเบื้องปูพื้น บุผนัง ในประเทศไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และฐานผลิตสุขภัณฑ์ในประเทศไทย และมีช่องทางจำหน่ายครอบคลุมในอาเซียนที่มีศักยภาพเติบโตสูงในอนาคต รวมถึงมีการส่งออกสินค้าไปยังประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคอาเซียน เช่น กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และอื่น ๆ รวมทั้งสิ้นกว่า 57 ประเทศทั่วโลก

จากจำนวนประชากรรวม 4 ประเทศ คือ ไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 580 ล้านคนในปี 2569 ประกอบกับการขยายตัวของเมือง การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การใช้กระเบื้องและสุขภัณฑ์เพื่อตกแต่งอาคารหรือพื้นที่สาธารณะ ความต้องการใช้กระเบื้องที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ตลอดจนสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คาดว่าในช่วง 5 ปี นับจากปี 2565 – 2569 ภาพรวมอุตสาหกรรมกระเบื้องเซรามิกใน 4 ประเทศ ทั้งไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียจะมีอัตราเติบโตเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 1.2% 14.3% 4.4% และ 6.9% ขณะที่ภาพรวมอุตสาหกรรมสุขภัณฑ์ จะมีอัตราเติบโตเฉลี่ยต่อปี 2.1% 13.9% 6.9% และ 8.5% ตามลำดับ โดยจากมูลค่าตลาดผลิตภัณฑ์ตกแต่งพื้นผิวและสุขภัณฑ์รวมกันประมาณ 5,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 180,000 ล้านบาทในปี 2564 (อ้างอิงจากEuromonitor) 

บริษัทฯ เล็งเห็นศักยภาพของตลาดตกแต่งพื้นผิวและสุขภัณฑ์ในภูมิภาคอาเซียนที่มีโอกาสเติบโตสูง จึงวางกลยุทธ์รุกขยายตลาดในอาเซียนเพื่อเพิ่มยอดขาย ได้แก่ 

1) ขยายธุรกิจสุขภัณฑ์เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำในภูมิภาคอาเซียน มุ่งเน้นผลิตภัณฑ์ใหม่และสินค้านวัตกรรม เช่น กลุ่ม COTTO Smart Toiletนวัตกรรมตอบโจทย์ด้านสุขภาพและอนามัย พัฒนาสินค้าแบรนด์ Quil เพื่อขยายตลาดพรีเมียมเพิ่มขึ้น เป็นต้น 

2) ต่อยอดความแข็งแกร่งของธุรกิจตกแต่งพื้นผิวในประเทศไทยสู่ผู้นำในภูมิภาคอาเซียน โดยขยายตลาดกลุ่มกระเบื้องไวนิล SPC และกระเบื้องไวนิล LVT ในเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย รวมถึงขยายช่องทางจัดจำหน่าย COTTO LiFE ในเมืองหลักและขยายคลังเซรามิคในเมืองหลักและเมืองรองของประเทศไทย อีกทั้งขยายร้านค้าของบริษัทฯ เอง ในต่างประเทศเพิ่มเติม 

3) ขยายธุรกิจสู่ผลิตภัณฑ์และบริการที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อตอกย้ำการเป็นผู้นำด้านการให้บริการแบบครบวงจร โดยผนึกกำลังธุรกิจตกแต่งพื้นผิวและสุขภัณฑ์รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อเพิ่มศักยภาพการดำเนินธุรกิจแบบ Total Solution 

4) บริหารห่วงโซ่อุปทาน ทั้งด้านการผลิตและการจัดหาให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยผสานความร่วมมือฐานการผลิตแต่ละประเทศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และเพิ่มการซอร์สซิ่งกระเบื้องจาก 12 ล้านตารางเมตรต่อปี เป็น 20ล้านตารางเมตรต่อปีภายในปี 2567 รวมถึงขยายไปยังสุขภัณฑ์และอื่นๆ 

5) เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์รักษ์โลก ตลอดจนกระบวนการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภายใต้มาตรฐานระดับโลก โดยจะเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานโซลาร์เซลล์จากร้อยละ 4 เป็นร้อยละ 15 ของการใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งหมดในโรงงานภายในปี 2573 ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี2593 และเพิ่มรายได้จากการขายสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (SCG Green Choice) จากร้อยละ 70 เป็นร้อยละ 80 ของรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์ภายในปี 2573

ผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 มีรายได้จากการขาย 14,336.3 ล้านบาท ขณะที่ปี 2563 – 2565 มีรายได้จากการขาย 24,378.6 ล้านบาท 25,937.4 ล้านบาท และ 30,253.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.4% และ 16.6% จากปีก่อน ตามลำดับ โดยในปี 2564 มียอดขายกระเบื้องเป็นอันดับ 1ในประเทศไทย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาดในแต่ละประเทศ 33.0%, 26.4% และ 16.8% ตามลำดับ และมียอดขายสุขภัณฑ์เป็นอันดับ 1 ในประเทศไทย คิดเป็นส่วนแบ่งตลาด 32.8% อีกทั้งเป็นหนึ่งในผู้นำสุขภัณฑ์อัจฉริยะ (Smart & Hygiene) ในประเทศไทยด้วย

พิเชษฐ สิทธิอำนวย กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า  บมจ.เอสซีจี เดคคอร์ มีพื้นฐานธุรกิจที่แข็งแกร่งและศักยภาพเติบโตในภูมิภาคอาเซียน จากการมีฐานการผลิตและช่องทางจำหน่ายที่ครอบคลุมในภูมิภาค มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย แบรนด์สินค้าที่น่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับ เช่น COTTO, SOSUCO, CAMPANA, PRIME, PREMIER, MARIWASA, Luxurio, KIA, Impresso เป็นต้น มีทีมออกแบบและพัฒนาสินค้าที่เชี่ยวชาญ สามารถพัฒนาสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (HVA Products) เพื่อตอบสนองความต้องการและสร้างประสบการณ์ใหม่แก่ลูกค้า

ขณะที่ความคืบหน้าการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หลังจาก บมจ.เอสซีจี เดคคอร์ ได้ยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (Filing) ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อพิจารณา ปัจจุบันได้รับการนับหนึ่งแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบไฟลิ่งแล้ว โดยปัจจุบัน SCGD มีทุนจดทะเบียน 16,550,000,000 บาท คิดเป็นจำนวน1,655,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 10 บาท โดยทุนที่ออกและชำระแล้วมีจำนวน12,109,000,000 บาท คิดเป็นจำนวน 1,210,900,000 หุ้น และจะเสนอขายหุ้น IPO (รวมการเสนอขายแก่ผู้ถือหุ้นเดิมของ COTTO เพื่อแลกหุ้น และการเสนอขายให้แก่ประชาชนเป็นการทั่วไป) จำนวนไม่เกิน 444,100,000 หุ้น คิดเป็นไม่เกินร้อยละ 26.8 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนครั้งนี้ เพื่อนำไปใช้ขยายธุรกิจ ทั้งการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและการดำเนินงาน เพิ่มประสิทธิภาพด้านพลังงาน ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ การปรับโครงสร้างเงินทุน รวมถึงการควบรวมกิจการในอนาคต (หากมี)