มาคาเลียส เตือน มิจฉาชีพปลอมเพจเที่ยวระบาด หลอกขายที่พักราคาถูก

205

มาคาเลียส แหล่งรวมอีวอเชอร์ที่พัก ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว อันดับ 1 ของประเทศไทย เตือนภัยนักท่องเที่ยวไทยระวังเพจโรงแรมที่พักอวตาร ก็อปปี้เพจจริง หลอกขายห้องพักราคาถูก พร้อมของแถมเพียบ ฉวยโอกาสช่วงฤดูท่องเที่ยว แนะนักท่องเที่ยวอย่าหลงของถูก ควรตรวจสอบอย่างละเอียด เช็คก่อนโอน ด้านผู้ประกอบการโรงแรมที่พักหมั่นตรวจสอบโซเชียล หากพบเพจปลอมรีบแจ้งความ

นางสาวณีรนุช ไตรจักร์วนิช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท มาคาเลียส ประเทศไทย จำกัด (Makalius) แหล่งรวมอี-วอเชอร์ที่พัก ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว อันดับ 1 ของประเทศไทย กล่าวว่า “ปัจจุบันกลุ่มมิจฉาชีพในโลกออนไลน์มีการปรับเปลี่ยนวิธีการหลอกลวงผู้บริโภคในรูปแบบต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ล่าสุดมีการ“ปลอมแปลงเพจเฟสบุ๊ค” โรงแรม ที่พักต่างๆ ขึ้นมา ด้วยการก็อปปี้ชื่อ รูปภาพ และคอนเทนต์ต่างๆ จากเพจที่พักจริง พร้อมนำเสนอโปรโมชั่นราคาถูกเพื่อใช้หลอกนักท่องเที่ยวให้ทำการจับจองห้องพักและโอนเงิน พอถึงเวลาไม่สามารถเข้าพักได้ ส่งผลให้มีผู้เสียหายเป็นจำนวนมาก โดยสาเหตุที่มิจฉาชีพใช้ช่องทางเฟสบุ๊คในการหลอกลวงผู้บริโภคเพราะเป็นโซเชียลมิเดียที่มีคนใช้งานเป็นจำนวนมาก สร้างขึ้นง่าย และต้นทุนน้อย

ดังนั้นนักท่องเที่ยวต้องระมัดระวังให้ดีในการเลือกซื้อบริการห้องพักผ่านเพจเฟสบุ๊ค เพราะต้องเข้าใจว่า ผู้ให้บริการหรือผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมที่พักส่วนใหญ่มักใช้เฟสบุ๊คเป็นทั้งช่องทางการสื่อสารและช่องทางการขาย รวมถึงยังมีช่องทางการขายอื่นๆ อีก อาทิ ช่องทางตัวแทนจำหน่ายที่น่าเชื่อถือ เช่น Makalius Agoda Booking เป็นต้น ช่องทางเว็บไซต์ หรือจองตรงผ่านเจ้าหน้าที่รับจองของโรงแรม ซึ่งนักท่องเที่ยวจำเป็นต้องสละเวลาตรวจสอบรายละเอียดอื่นๆ เพื่อป้องกันการโดนหลอก อาทิ การแสดงความเห็น (comment) ดูการแสดงความคิดเห็นของโพสต์นั้นๆ ว่าเป็นอย่างไร มีบุคคลจริงๆ มาแสดงความคิดเห็นหรือไม่ ผู้ติดตาม (follower) ถ้าเพจนั้นมีจำนวนคนติดตามน้อยแสดงว่าเป็นเพจที่เพิ่งเปิดให้บริการ และพิจารณาว่าผู้ติดตามเป็นคนจริง มีตัวตนจริงหรือไม่ หรือว่าเป็นแอคเคาท์ปลอมที่สร้างขึ้นเพื่อขายยอดไลค์

ต่อมาคือ โทรเช็ค (call) นักท่องเที่ยวสามารถค้นหาเบอร์โรงแรมที่พักนั้นๆ จาก google และโทรเข้าไปสอบถามข้อมูลว่ามีราคาหรือโปรโมชั่นตามที่แจ้งในเพจเฟสบุ๊คนั้นอยู่จริงหรือไม่ พยายามเลี่ยงการโทรจากเบอร์ที่แจ้งไว้ในเพจเพราะอาจเป็นเบอร์ปลอม สุดท้าย การชำระเงิน เมื่อเราทำการจองเรียบร้อยแล้วทางโรงแรมหรือตัวแทนจำหน่ายจะมีการออกเอกสารรายละเอียดต่างๆ พร้อมกับวิธีการชำระเงิน เพื่อให้ตรวจสอบรายละเอียดว่าถูกต้องหรือไม่ ซึ่งช่องทางการโอนเงินจะเป็นในรูปแบบของบริษัทเสมอ ไม่ใช่ตัวบุคคล และนักท่องเที่ยวสามารถนำรายชื่อบริษัทนั้นไปตรวจสอบผ่านทางเว็บไซต์กรมการท่องเที่ยวว่าดำเนินธุรกิจจริงหรือไม่

นางสาวณีรนุช กล่าวต่อว่า “ทางด้านผู้ประกอบการเองก็จำเป็นต้องหมั่นตรวจสอบสื่อโซเชียลมิเดียของตนเองอยู่ตลอดเวลา ว่ามีเพจปลอมที่เหมือนกับเพจของเราหรือไม่เกิดขึ้นหรือไม่ ถ้ามีต้องรีบแจ้งความเพื่อดำเนินคดี และยื่นเรื่องร้องเรียนไปทางเฟสบุ๊ค พร้อมทั้งจัดทำประกาศเรื่องช่องทางการจำหน่ายและวิธีการจองให้ชัดเจน”