5 จุดเด่นที่นักลงทุนต้องหันมามองหุ้น TGE

448

อาจเป็นหุ้นน้องใหม่ที่ไม่ได้ถูกจับตามอง ส่งผลให้ราคานับตั้งแต่เข้าตลาดมาเมื่อวันศุกร์ที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมา หุ้น TGE หรือ บมจ.ท่าฉาง กรีน เอ็นเนอร์ยี่ วนเวียนอยู่ต่ำกว่าราคา IPO ที่ 2 บาท เป็นส่วนใหญ่

แต่ความจริงแล้ว หุ้น TGE มีอะไรที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนมากมาย เหมือนอย่างที่ รัชดาเกลียวปฏินนท์ กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวาณิชธนกิจ2 บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินของ TGE  กล่าวไว้ว่า บมจ.ท่าฉาง กรีน เอ็นเนอร์ยี่ เป็นผู้ประกอบธุรกิจพลังงานทดแทนชั้นนำที่มีศักยภาพที่ดีในระยะยาว และมีโอกาสในการเติบโตอีกมากจากเทรนด์การรักษ์โลก

362 Degree จึงขอนำเสนอ 5 จุดเด่นของหุ้น TGE ที่นักลงทุนควรพิจารณา

1. ปัจจุบัน TGE มีโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่เปิดดำเนินการในเชิงพาณิชย์ แล้ว 3 โครงการ ในอำเภอท่าฉาง จังหวดสุราษฏร์ธานี โดยมีกำลังการผลิตติดตั้งรวมทั้ง 3 โครงการ 29.7 MW โดยมีปริมาณการเสนอขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว 20.3 MW และสัญญาการซื้อขายระยะสั้น อีก 6.0MW  

      จุดเด่นของโรงไฟฟ้าชีวมวล TGE คือเทคโนโลยีการผลิตที่สามารถรองรับเชื้อเพลิงชีวมวลได้หลากหลายชนิด โดยเชื้อเพลิงหลักคือ ปาล์ม ซึ่งมีการปลูกมากที่สุดในประเทศไทยที่จังหวัดสุราษฏร์ธานี อันเป็นที่ตั้งของโรงงาน รวมถึงบริษัทแม่ กลุ่มท่าฉาง ก็ดำเนินธุรกิจการเกษตรที่มีปาล์มเป็นพืชหลักมาเป็นเวลานาน มีเครือข่ายเกษตรกรผู้ผลิตปาล์ม ก็จะช่วยในด้านการควบคุมต้นทุนการผลิตได้เป็นอย่างดี

อีกหนึ่งเชื้อเพลิงสำคัญคือ ยางพารา ที่มีมากทางภาคใต้ ซึ่งโดยปกติเมื่อต้นยาหมดอายุการให้น้ำยาง ชาวสวนยางก็ต้องตัดต้นเพื่อขาย และเผาตอเพื่อเตรียมปลูกใหม่  ซึ่งหากเปลี่ยนมาดำเนินการในโรงไฟฟ้าชีวมวลก็จะช่วยลดฝุ่นควันจากการเผา ช่วยสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นด้วย 

2. โครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชนที่อยู่ระหว่างพัฒนา 3 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 22 MWประกอบด้วย โรงไฟฟ้าขยะชุมชน TES SKW จ.สระแก้ว จำนวน 8 MW, โรงไฟฟ้าขยะชุมชน TES RBR จ.ราชบุรี จำนวน 8 MW และโรงไฟฟ้าขยะชุมชน TES CPN จ.ชุมพร จำนวน 6 MW โดยทั้งหมดได้รับคัดเลือกจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าแล้ว คาดว่าจะดำเนินการในเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 2567 ทำให้ TGE มีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งเพิ่มเป็น 51.7 MW 

      จุดเด่นของโรงไฟฟ้าขยะชุมชนทั้ง 3 โครงการ คือเป็นโรงไฟฟ้าที่ตั้งอยู่บนพื้นที่กองขยะเดิม ซึ่งนอกจากไม่เสียค่าเชื้อเพลิงแล้ว ยังมีรายได้จากการกำจัดขยะ และไม่เกิดปัญหากับชุมชนในการตั้งโรงไฟฟ้าขยะอีกด้วย โดยไฟฟ้าจากขยะชุมชน จะขายได้ราคาดีกว่า ไฟฟ้าชีวมวล อยู่ราว 27%

3. TGE ยังมีแผนเตรียมเข้าประมูลโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชนกับ อปท. อีก 4 โครงการ ได้แก่ โรงไฟฟ้าขยะชุมชน TES PRI จ.ปราจีนบุรี, โรงไฟฟ้าขยะชุมชน TES CNT จ.ชัยนาท, โรงไฟฟ้าขยะชุมชน TES UBN จ.อุบลราชธานี และโรงไฟฟ้าขยะชุมชน TES TCN จ.สมุทรสาคร โดยหากได้รับคัดเลือก จะสามารถเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2568 ทำให้มีกำลังผลิตติดตั้งรวมในอีก 3 ปีข้างหน้า เพิ่มเป็นประมาณ 90 MW   

เงินระดมทุนจากตลาดหลักทรัพย์ราว 60% จะถูกนำมาใช้ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะชุมชนเหล่านี้ โดย TGE  มีเป้าหมายระยะยาวที่จะเพิ่มกำลังการผลิตติดตั้งของโรงไฟฟ้าทั้งหมด ซึ่งรวมโครงการที่เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) และโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา เป็นมากกว่า 100 เมกะวัตต์ (MW) ภายในปี 2570 และเพิ่มเป็นมากกว่า 200 MW ภายในปี 2575 ด้วยการลงทุนทั้งในประเทศ และประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน 

4. ธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนนี้ ไม่เพียงแต่เป็นธุรกิจที่ตอบรับกับเทรนด์การดูแลชุมชนและสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ในแง่การดำเนินธุรกิจ ก็เป็นธุรกิจที่ไม่ได้รับผลกระทบกับปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ เพราะไม่ได้เป็นธุรกิจที่จำหน่ายโดยตรงกับผู้บริโภค หากแต่ถ้าเศรษฐกิจมีการเติบโต เมืองพัฒนาขึ้น ผู้บริโภคมีการใช้ไฟฟ้ามากขึ้นก็จะส่งผลให้ธุรกิจเติบโตมากยิ่งขึ้นอีก

5. ด้านผลการดำเนินงานที่ผ่านมา TGE มีรายได้รวมนับจากปี 2562 – 2564 เพิ่มขึ้นจาก 347.5 ล้านบาท เป็น 807.5 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเติบโตเฉลี่ยราว 50% ต่อปี เช่นเดียวกับกำไรสุทธิปี 2562 – 2564 ที่เพิ่มขึ้นจาก 94.3 ล้านบาท เป็น 202.1 ล้านบาท และมีอัตรากำไรสุทธิที่อยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง 

ดร.ศักดิ์ดา ศิริภัทรโสภณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ท่าฉาง กรีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ TGE กล่าวว่า หลังจากการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ TGE จะนำเงินไปใช้ลงทุนก่อสร้างโครงการ เน้นการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ที่สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐซึ่งจะเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังน้ำ พลังงานชีวมวล ก๊าซชีวภาพ และพลังงานจากขยะ พร้อมต่อยอดธุรกิจไปยังพลังงานทางเลือกใหม่ๆ ที่มีศักยภาพทั้งในและต่างประเทศ โดยแสวงหาพันธมิตรทางธุรกิจที่สามารถสร้างการเติบโตและผลกำไรอย่างยั่งยืน ตลอดจนนำเทคโนโลยีด้านพลังงานที่ช่วยลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างความมั่นคงด้านพลังานให้กับประเทศ