ธนาคารไทยเครดิตฯ ชูกลยุทธ์ 3 เสาหลัก เดินหน้าเพิ่มสภาพคล่องให้ SME ฟื้นธุรกิจ

665

แม้ไม่ได้เป็นธนาคารที่คนไทยคิดถึงเป็นชื่อแรกๆ หรือบางคนอาจไม่รู้จักด้วยซ้ำ แต่ด้วยการมีกลุ่มเป้าหมายในการให้บริการที่ชัดเจน  “ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย” ธนาคารเพื่อรายย่อยแห่งเดียวในเมืองไทย ก็ถือเป็นแบรนด์ขวัญใจของชาว SME ที่คอยสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจทั้งแต่ขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดย่อม ให้ก้าวเดินอย่างแข็งแกร่ง จนกลายเป็นธนาคารที่เติบโตอย่างรวดเร็วที่สุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา 

วิญญู ไชยวรรณ

วิญญู ไชยวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน)  เปิดเผยว่า ในฐานะธนาคารเพื่อรายย่อยชั้นนำของไทย ธนาคารไทยเครดิตมีความมุ่งมั่นในการให้บริการทางการเงินที่ดีที่สุดแก่ผู้ประกอบการรายย่อยทั่วประเทศ ธนาคารยึดหลักปรัชญาแบรนด์  ‘Everyone Matters ทุกคนคือคนสำคัญ’ เป็นแนวทางในการดำเนินงาน โดยให้ความสำคัญกับลูกค้าธุรกิจรายย่อย เช่น กิจการร้านขายของชำและร้านค้าในตลาดสดที่มีอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นหน่วยเศรษฐกิจฐานรากของประเทศแต่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ได้ ธนาคารไทยเครดิตจึงมุ่งเติมเต็มความต้องการของธุรกิจขนาดเล็กเหล่านี้ ซึ่งเป็นตลาดที่สำคัญแต่ถูกมองข้าม ส่งผลให้ธนาคารมีผลประกอบการและฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง และเป็นธนาคารที่มีการเติบโตเร็วที่สุดในประเทศในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

“หัวใจสำคัญในการทำงานของธนาคารไทยเครดิต คือ การยืนหยัดเคียงข้างลูกค้าในช่วงเวลาที่ยากลำบาก ธนาคารจึงมุ่งเน้นในการสนับสนุนพร้อมเคียงข้างผู้ประกอบการรายย่อย ทั้งกลุ่มนาโนไฟแนนซ์ และกลุ่ม Micro SME ทั่วประเทศ ทั้งในช่วงเวลาที่ดีและในช่วงวิกฤต ที่เห็นได้ชัดคือ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ธนาคารได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าจำนวนหลายพันราย ทั้งการพักชำระหนี้ ยืดระยะเวลาผ่อน ปรับโครงสร้างหนี้ระยะสั้นและระยะยาว ปล่อยสินเชื่อ Soft Loan ไปกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท และการให้สินเชื่ออัตราดอกเบี้ย 0% อีกราว 2.3 หมื่นล้านบาท เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระทางการเงิน และส่งเสริมให้ลูกค้าสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ซึ่งจากการสำรวจความคิดเห็นของลูกค้า พบว่าลูกค้ามีความไว้วางใจในธนาคารและพึงพอใจกับบริการและการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างตรงจุด

นอกจากนี้โครงการ ‘ตังค์โต Know-how’ ของธนาคารที่ได้รับการรับรองคุณภาพหลักสูตรฝึกอบรมจากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ช่วยพัฒนาความรู้พื้นฐานทางการเงินให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อย ครอบคลุมทั้งลูกค้าและผู้ที่ไม่ใช่ลูกค้าของธนาคาร จำนวนกว่า 65,000 รายในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ช่วยให้ผู้ประกอบการนำความรู้ไปปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจและพัฒนาธุรกิจให้เติบโต ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการเคียงข้างและเสริมพลังในฐานะหุ้นส่วนทางการเงินของผู้ประกอบการรายย่อยทั่วประเทศ” วิญญู กล่าว

รอย ออกุสตินัส กุนารา

ด้าน รอย ออกุสตินัส กุนารา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารไทยเครดิตตั้งเป้าสู่การเป็นธนาคารเพื่อรายย่อยที่ดีที่สุดในประเทศ (Best Micro Bank) มีจุดมุ่งหมายในการส่งมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่ลูกค้า พร้อมสร้างผลประกอบการทางการเงินและการเติบโตที่ดีเยี่ยมอย่างต่อเนื่อง แม้ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ภายใต้การขับเคลื่อน กลยุทธ์ 3 เสาหลัก ประกอบด้วย

1. มุ่งลูกค้าเป็นศูนย์กลาง พนักงานของธนาคารมีความรู้ความเข้าใจที่หยั่งรากลึกในธุรกิจ พนักงานจะคอยดูแลลูกค้าและเข้าใจความต้องการของลูกค้าได้ดีที่สุด ขณะที่โมเดลธุรกิจของธนาคารได้รับการออกแบบให้คำนึงถึงลูกค้าเป็นสำคัญ ด้วยรูปแบบที่เข้าถึงง่าย ลดปัญหาของลูกค้า และมอบโอกาสที่ดีที่สุดแก่ลูกค้า  ให้ความสำคัญต่อลูกค้าเป็นที่หนึ่ง  โดยมีเป้าหมายใน 3 กลุ่มหลัก ประกอบด้วย กลุ่มผู้ประกอบการ Micro SME ที่มีอยู่ราว 1.5 หมื่นรายให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุน, กลุ่ม Nano Entrepreneurs เจ้าของร้านค้าในตลาด ที่มีความรู้ไม่มาก แต่ต้องทำงานหนัก และได้รับผลกระทบจากวิกฤตอย่างหนัก  และกลุ่มผู้บริโภคทั่วไป ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายใหม่ ที่ต้องการเงินเพื่อลงทุน หรือลดภาระหนี้

  1. ประสิทธิภาพการดำเนินงาน ธนาคารไทยเครดิตมีสาขารับเงินฝากเงิน รวม 25 สาขา ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ ขณะที่มีสาขาสินเชื่อเพื่อรายย่อยรวม 500 แห่ง กระจายอยู่ทั่วประเทศ นับเป็นโมเดลธุรกิจที่มีต้นทุนในการดำเนินงานต่ำและมีประสิทธิภาพ ช่วยให้ธนาคารสามารถสร้างประโยชน์ให้แก่ลูกค้าพร้อมส่งมอบผลตอบแทนที่ดีแก่ผู้ถือหุ้น ทำให้ธนาคารมีการเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต

    3. วัฒนธรรมองค์กร พนักงานของธนาคารไทยเครดิตทุกคนจะให้ความสำคัญกับลูกค้าทุกคน ซึ่งไม่ว่าจะมีธุรกิจขนาดเล็กแค่ไหนก็ล้วนมีคุณค่า ภายใต้ปรัชญาแบรนด์ ‘Everyone Matters ทุกคนคือคนสำคัญ’ ทีมงานของธนาคารจะส่งมอบสิ่งที่ดีที่สุดแก่ลูกค้า พร้อมยกระดับความสามารถในการเพิ่มผลผลิตและประสิทธิภาพในการดำเนินงานตามโมเดลธุรกิจของธนาคาร ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างสังคมไทยให้น่าอยู่

ธนาคารไทยเครดิตไม่เพียงมีการเติบโตที่เร็วที่สุดในประเทศไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ธนาคารยังให้ผลตอบแทนสูงสุดจากผลประกอบการทางการเงินที่โดดเด่นและเหนือกว่ามาตรฐานอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ธนาคารได้มีการปรับปรุงกระบวนการทำงานที่สำคัญ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานโดยรวมอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการบริหารจัดการทรัพยากร ทั้งการลดต้นทุนและเสริมสร้างการทำงานร่วมกัน (Synergy) ในองค์กรอย่างเหมาะสม ส่งผลให้ธนาคารมีอัตราส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้รวมลดลงจาก 49.9% เป็น 42.3% ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ธนาคารยังเห็นถึงการเติบโตที่แข็งแกร่งและยืดหยุ่นของธุรกิจขนาดเล็ก ผ่านโครงการความช่วยเหลือด้านสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการของธนาคาร ภายใต้มาตรการสนับสนุนของธนาคารแห่งประเทศไทย ส่งผลให้ธนาคารมีอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) อยู่ในระดับที่น่าพอใจที่ 2.9% สะท้อนถึงคุณภาพพอร์ตสินเชื่อและการบริหารความเสี่ยงของธนาคาร ทำให้ธนาคารไทยเครดิตขึ้นแท่นธนาคารชั้นนำของอุตสาหกรรม

นาธัส กฤตวรานนท์

นาธัส กฤตวรานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริหารธุรกิจไมโครเอสเอ็มอี ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารไทยเครดิตมุ่งมั่นในการช่วยเหลือและสนับสนุนกลุ่มธุรกิจ Micro SME ที่ประสบปัญหาทางการเงินให้สามารถข้ามผ่านความยากลำบากจากสถานการณ์โควิด-19 ไปให้ได้ ซึ่งกลุ่มธุรกิจ Micro SME มีสัดส่วนมากกว่า85% ของธุรกิจทั้งประเทศ นับเป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจที่สำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโต โดยธนาคารได้เปิดตัวแคมเปญStandby เพื่อสื่อถึงการยืนหยัดเคียงข้างลูกค้าในช่วงวิกฤต พร้อมออก สินเชื่อ SME กล้าให้ Standby OD ที่จะช่วยเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจ Micro SME มีความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น โดยเป็นเงินทุนสำรองให้ผู้ประกอบการสามารถนำไปใช้หมุนเวียนได้ทันทีเมื่อมีความต้องการ

“ภายใต้แคมเปญ Standby ธนาคารไทยเครดิตมีแผนจะสร้าง คอมมูนิตี้สำหรับผู้ประกอบการ Micro SME ในรูปแบบเว็บไซต์และเพจเฟซบุ๊ก Thai Credit SME กล้าให้ เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมสาระความรู้และข่าวสาร  รวมถึงการจัดอบรมเพิ่มศักยภาพในการทำธุรกิจ การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อจุดประกายความคิดในการพัฒนาธุรกิจใหม่ ๆ รวมทั้งการจัด ผู้ช่วยธุรกิจส่วนบุคคล (Standby Assistant) 500 คน เพื่อให้คำปรึกษาและช่วยเหลือลูกค้า และโปรแกรม Privilege เพื่อมอบสิทธิประโยชน์ในด้านอื่น ๆ ให้แก่ลูกค้า Micro SME”

นาธัส กล่าวต่อว่า เพื่อส่งกำลังใจให้กับลูกค้าและผู้ประกอบการ รวมถึงประชาชนทั่วไป ให้สู้กับทุกอุปสรรคและข้ามผ่านช่วง เวลาที่ยากลำบาก ธนาคารได้ร่วมกับ บอย โกสิยพงษ์ นักร้องและนักแต่งเพลงชั้นนำของเมืองไทย สร้างสรรค์บทเพลง “Standby” เพื่อสื่อให้ลูกค้ามั่นใจว่าในช่วงวิกฤตยังมีอีกคนหนึ่งที่เคียงข้าง พร้อมช่วยเหลือและสนับสนุนอยู่ตลอดเวลา โดยมี ป๊อด ธนชัย อุชชิน และ รัดเกล้า อามระดิษ ร่วมถ่ายทอดบทเพลง  โดยสามารถชม MV เพลง Standby ผ่านช่องทาง YouTube: Thai Credit SME กล้าให้ และ Facebook: Thai Credit SME กล้าให้ และติดตามรับฟังเพลง Standby ผ่านช่องทาง Streaming Platform ชั้นนำ ทั้ง Apple Music, Spotify, Joox, YouTube Music และคลื่นวิทยุทั่วประเทศ

สำหรับผลประกอบการในปี 2564 ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย มีกำไรสุทธิ 1,935 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 41% จากช่วงเดียวกันของปี 2563 และมียอดสินเชื่อ 9.82 หมื่นล้านบาท เติบโต 43% จากช่วงเดียวกันของปี 2563 จากการให้สินเชื่อแก่ลูกค้ากว่า 250,000 รายในช่วงสถานการณ์โควิด-19

ส่วนเป้าหมายในปีนี้ วิญญู ไชยวรรณ กล่าวว่า คาดว่าหนี้ NPL ของธนาคารฯ จะเพิ่มสูงจากระดับ 2% เป็น 3% แต่ก็อยู่ในสถานการณ์ที่สามารถควบคุมได้  ตั้งเป้าหมายสินเชื่อใหม่ที่ 4.5 หมื่นล้านบาท โดยเชื่อว่า SME ที่เคยล้มลงจากวิกฤตโควิด-19 กำลังรอโอกาสกลับมาลงทุนทำธุรกิจอีกครั้ง และจะเป็นปีที่ดีของธนาคารฯ กว่าตลอด 2 ปีที่ผ่านมา