กรุงเทพประกันภัย ไม่หวั่น เจอ-จ่าย-จบ ทำอ่วม เดินหน้านำเทคโนโลยี สร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สู่เป้า 2.6 หมื่นล้านบาท

407

วิกฤตการณ์เจอ จ่าย จบ ที่ทำให้บริษัทประกันหลายแห่งสั่นสะเทือน จนมีบริษัทประกันบางแห่งต้องปิดตัวลงเป็นข่าวดัง แต่ก็ยังมีบริษัทประกันที่ไม่เป็นข่าว ที่ตกเป็นผู้ประสบภัยเจอ จ่าย จบ ต้องจ่ายชดเชยผู้ป่วยโควิดหลักพันล้านบาท  แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้บริษัทประกันอย่าง กรุงเทพประกันภัย สั่นสะเทือน เพราะแม้ในปี 2564  กรุงเทพประกันภัยต้องจ่ายเคลมประกันเจอจ่ายจบ ไปราว 3,700 ล้านบาท แต่ผมการดำเนินงานก็ยังมีกำไร และพร้อมที่จะจ่ายปันผลให้ผู้ถือหุ้นในอัตราเท่ากับที่เคยจ่ายในปี 2563 เพื่อให้ผู้ถือหุ้นสบายใจ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

ดร.อภิสิทธิ์ อนันตนาถรัตน ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ BKI กล่าวว่า แม้บริษัทฯ จะเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจหลายประการในช่วงการระบาดอย่างหนักของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ในปีที่ผ่านมา แต่บริษัทฯ ยังสามารถสร้างเบี้ยประกันภัยรับรวมในปี 2564 สูงถึง 24,511.0 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 7.2  ซึ่งสูงกว่าอัตราการเติบโตของตลาดประกันวินาศภัย อย่างไรก็ตาม จากการจ่ายค่าสินไหมทดแทนประกันภัย COVID-19 ส่งผลให้บริษัทฯ มีผลขาดทุนสุทธิจากการรับประกันภัย 383.4 ล้านบาท แต่เมื่อรวมกับรายได้สุทธิจากการลงทุน 1,498.3 ล้านบาท ทำให้บริษัทฯ ยังคงมีกำไรสุทธิหลังหักภาษีเงินได้ 1,055.9 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 9.92 บาท โดยพร้อมจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นทั้งปี 15 บาท/หุ้น

แต่วิกกฤตที่ต้องฝ่าของกรุงเทพประกันภัยยังไม่จบ ดร.อภิสิทธิ์  กล่าวว่า ในปีนี้ กรุงเทพประกันภัย ตั้งเป้าหมายเบี้ยประกันภัยรับรวมเติบโตร้อยละ 5.0 ซึ่งถือเป็นอัตราการเติบโตที่สอดคล้องกับปัจจัยท้าทายต่าง ๆ ในปัจจุบัน และให้ความสำคัญอย่างมากต่อการรักษาผลประกอบการด้านการรับประกันภัยซึ่งยังเปราะบางอยู่มากจากผลการรับประกันภัย COVID-19 ที่ยังมีความคุ้มครองอยู่ในปีนี้ ซึ่งคาดว่ากรุงเทพประกันภัยยังต้องจ่ายเคลมเจอ จ่าย จบ อีกราว 4.5-4.6 พันล้านบาท ทำให้บริษัทฯ ยังมีขาดทุนจากการรับประภันภัยต่อเนื่องเป็นปีที่3

อย่างไรก็ตาม จากผลการดำเนินงานในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา บริษัทฯ สามารถเติบโตได้สูงกว่าเป้าหมาย จึงมั่นใจว่าบริษัทฯ จะบรรลุเป้าหมายเบี้ยประกันภัยปีนี้ 26,000 ล้านบาท ได้อย่างแน่นอน โดยกลยุทธ์ที่สำคัญยังคงมุ่งเน้นการพัฒนาบริการหลังการขายให้มีความสะดวกรวดเร็วตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น ด้วยมีความเชื่อว่าจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาจะทำให้ผู้บริโภคมีความอ่อนไหวต่อราคาน้อยลง และพิจารณาถึงความมั่นคง ความน่าเชื่อถือ ตลอดจนคุณภาพการบริการของบริษัทประกันภัยมากกว่าการพิจารณาเรื่องเบี้ยประกันภัย

โดยแผนงานที่จะให้บรรลุเป้าหมายในปี 2565 บริษัทฯ ได้มุ่งเน้นการนำเทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ๆ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัย
เพื่อส่งเสริมคุณภาพการให้บริการที่ครอบคลุมทุกความต้องการของลูกค้าและคู่ค้า ตลอดจนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และลดต้นทุนในการดำเนินงานของบริษัทฯ ประกอบด้วย

  • การดำเนินโครงการ Core Business System (CBS) ต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา โดยร่วมมือกับบริษัท Sapiens International Corporation จาก อิสราเอล บริษัทผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ประกันภัยชั้นนำระดับโลกที่ช่วยออกแบบและพัฒนาระบบงานหลักของบริษัทฯ ทดแทนระบบเดิม ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยและออกแบบอย่างเป็นสากล ครอบคลุมการทำงานของหน่วยงานหลัก
    ทั้งกระบวนการรับประกันภัยจนถึงการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน (End-to-end Solutions) รวมถึงระบบการรับประกันภัยต่อซึ่งจะช่วยให้การดำเนินงานของบริษัทฯ มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
    ช่วยเสริมการทำงานในด้านการบริหารจัดการข้อมูล และเพิ่มคุณภาพในการให้บริการลูกค้าหรือคู่ค้าได้ดียิ่งขึ้น และสามารถตอบโจทย์ความต้องการและสร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้าได้อย่างสูงสุด ถือเป็นก้าวสำคัญในการเปลี่ยนแปลงการดำเนินงานของธุรกิจประกันวินาศภัยในประเทศไทย
  • การสร้าง Cognitive Insurance Platform ด้วยการนำเทคโนโลยี AI มาวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการพัฒนาบริการและผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริงผ่านระบบ Digital Service ต่างๆ โดยในปีนี้มีแผนงานพัฒนา Online Website ใหม่ของบริษัทฯ โดยยึดแนวทางการพัฒนาและออกแบบระบบ Customer Data Platform (CDP) เพื่อจัดเก็บข้อมูลลูกค้าจาก Source ต่างๆ รวมถึงพัฒนาระบบการขายประกันออนไลน์ในรูปแบบ Personalize Insurance โดยใช้เครื่องมือ Google Cloud Technology เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการข้อมูล และวิเคราะห์พฤติกรรมของลูกค้าเพื่อเสนอขายประกันที่ตอบโจทย์และตรงกับ Lifestyle ของลูกค้าแต่ละราย
  • แผนงานการขยายพันธมิตรทางธุรกิจกับคู่ค้ารายใหม่ๆ โดยเชื่อมต่อระบบกับคู่ค้าด้วยเทคโนโลยี API ซึ่งจะช่วยให้บริษัทฯ สามารถขยายช่องทางการสื่อสารที่ให้ความสำคัญของการประกันภัยไปสู่กลุ่มลูกค้าที่หลากหลายมากยิ่งขึ้นผ่านเครือข่ายของพันธมิตร
  • AI Voice Chatbot กรุงเทพประกันภัยเป็นบริษัทแรกและบริษัทเดียวของไทยที่นำระบบนี้มาให้บริการลูกค้าในการแจ้งเคลมสินไหมทดแทนยานยนต์ ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯ ใช้ระบบ Inbound Voice Chatbot ให้บริการลูกค้าด้วยน้ำเสียงเสมือนจริง โดยการสอบถามข้อมูลของลูกค้าเบื้องต้นเพื่อให้สามารถส่งข้อมูลไปยังพนักงานที่ให้บริการได้ตรงกับความต้องการได้ทันที และในปีนี้บริษัทฯ มีแผนที่จะพัฒนาระบบ Outbound Voice Chatbot เพิ่มเติม เพื่อสามารถติดต่อไปยังลูกค้าได้อัตโนมัติ เช่น การเตือนต่ออายุกรมธรรม์ประกันภัย
  • บริษัทฯ อยู่ระหว่างการศึกษาเทคโนโลยีเพื่อก้าวเข้าสู่จักรวาล Metaverse เพื่อเป็นการสร้างโอกาสและเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์กลางของการพัฒนาเทคโนโลยีและแลกเปลี่ยนสินค้าบนโลกเสมือนจริง พร้อมขยายศักยภาพด้านเทคโนโลยีและธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับประเทศ ควบคู่ไปกับการพัฒนาบุคลากรด้าน Metaverse
  • สำหรับด้านการขยายตลาด บริษัทฯ ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองสอดรับกับรูปแบบของความเสี่ยงภัยใหม่ๆ และสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ประกันภัย Motor for EV ที่สนับสนุนการเติบโตของรถ EV และการดำเนินธุรกิจตามแนวคิด ESG, การประกันสุขภาพ Health IPD+OPD ที่ครอบคลุมถึงการให้บริการปรึกษาแพทย์ทางไกล (Telemedicine), การประกันภัยธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม SME Total ให้ความอุ่นใจกับความคุ้มครองภัยต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้กับธุรกิจ และประกันภัยไซเบอร์ที่มุ่งเน้นคุ้มครองความรับผิดของธุรกิจจากการละเมิด พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA Cover) เป็นต้น
ดร.อภิสิทธิ์ อนันตนาถรัตน

ในส่วนของผลิตภัณฑ์ทั้ง 3 รายการนี้  ดร.อภิสิทธ์ ตั้งเป้าหมายว่า ประกันภัย Motor for EV ซึ่งมีรายได้เบี้ยประกันในปีที่แล้ว 25 ล้านบาท จะเพิ่มเป็น 100 ล้านบาทในปีนี้ ตามการเติบโตของตลาดรถยนต์ EV ที่มีรถยนต์รุ่นใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะรถยนต์จากประเทศจีน  ด้านประกัน SME Total ตั้งเป้าเบี้ยประกัน 50 ล้านบาท ขณะที่ประกันภัยไซเบอร์ ตั้งเป้าลูกค้า 6,000 ราย ทำรายได้ 200 ล้านบาท จากที่ทำได้ในปี 2564 ราว 65 ล้านบาท ขณะที่ประกันสุขภาพ จากปีที่แล้วที่เคยทำได้ 1,300-1,400 ล้านบาท คาดว่าปีนี้คงทำรายได้เบี้ยประกันลดลงราว 5% เพราะจะไม่มีเบี้ยประกันโควิดเหมือนปีที่ผ่านมา

ดร.อภิสิทธิ์ ยังได้มองแนวโน้มของธุรกิจประกันวินาศภัยในปี 2565 ว่ายังคงต้องประสบกับความท้าทาย ทั้งจากภายในและภายนอกประเทศในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ อาทิ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ที่ยังคงมีการระบาดต่อเนื่องและรวดเร็ว ซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นใจในการใช้ชีวิตและการใช้จ่ายของประชาชน รวมทั้งส่งผลต่อภาคการท่องเที่ยวที่ยังไม่สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้อย่างเต็มที่ เช่นเดียวกับสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศที่ทำให้การชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน หรือ Supply Chain Disruption ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นไปอีก ต้นทุนการขนส่งสินค้า ราคาพลังงาน และวัตถุดิบในการผลิตมีการปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง ตลอดจนภาระหนี้ภาคครัวเรือนที่ยังสูง ส่งผลให้กำลังซื้อของประชาชนลดลง

ภาคธุรกิจประกันวินาศภัย สมาคมประกันวินาศภัยไทยได้มีการประเมินว่า เบี้ยประกันภัยรับรวมในปี 2565 นี้ จะเติบโตร้อยละ 1.5 – 2.5 ด้วยปัจจัยบวกจากการส่งออกของประเทศที่ยังคงเติบโตในระดับสูงแม้จะได้รับผลกระทบบ้างจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศก็ตาม เช่นเดียวกับภาคธุรกิจขนส่งในประเทศที่เติบโตตามการซื้อสินค้าและขายสินค้าออนไลน์ที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลบวกต่อเนื่องในส่วนของประกันภัยมารีน นอกจากนี้ การประกันภัยเดินทาง และประกันภัย Aviation ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ตลอด 2 ปีที่ผ่านมาจะเริ่มฟื้นตัวจากภาคการท่องเที่ยวระหว่างประเทศที่คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ตามปกติภายในช่วงครึ่งปีหลัง เช่นเดียวกับการประกันอัคคีภัยที่จะได้รับประโยชน์จากยอดขายอสังหาริมทรัพย์ที่คาดการณ์ว่าจะมีการเติบโตอย่างมากจากมาตรการของรัฐบาลเรื่องการลดค่าธรรมเนียมการจดจำนองและการโอน รวมถึงการผ่อนคลายเกณฑ์ Loan To Value Ratio ของธนาคารแห่งประเทศไทย

สำหรับการประกันภัยรถยนต์นั้นจะได้รับประโยชน์จากยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่ที่น่าจะเติบโตเป็นบวกเป็นครั้งแรกหลังจากเติบโตติดลบมา 3 ปีติดต่อกัน โดยคาดว่าจะมียอดจำหน่ายเติบโตถึงร้อยละ 13.3 (ข้อมูลจาก Toyota Motor) รวมถึงการแข่งขันด้านอัตราเบี้ยประกันภัยในตลาดประกันภัยรถยนต์ที่น่าจะมีความรุนแรงน้อยลง แต่การใช้รถยนต์และอัตราการเกิดอุบัติเหตุมีแนวโน้มสูงขึ้น จากการเดินทางและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เริ่มเข้าสู่สภาวะปกติ ด้านประกันภัยเบ็ดเตล็ดนั้นจะได้รับผลบวกจากอัตราเบี้ยประกันภัยต่อในตลาดโลกที่ยังคงมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดปีนี้

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจประกันวินาศภัยในปี 2565 อาจได้รับผลกระทบจากเบี้ยประกันภัยอุบัติเหตุและสุขภาพที่น่าจะเติบโตติดลบ เนื่องจากการขาดหายไปของเบี้ยประกันภัย COVID-19 ที่มีมูลค่าถึง 6,000 ล้านบาทในปี 2564 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 12 ของเบี้ยประกันภัยอุบัติเหตุและสุขภาพทั้งหมด แม้จะได้รับผลบวกจากการที่ประชาชนตระหนักมากขึ้นถึงความเสี่ยงด้านสุขภาพและค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ หรือ Climate Change ที่มีแนวโน้มรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ยังจะส่งผลกระทบต่อค่าสินไหมทดแทนของประกันภัยที่คุ้มครองภัยธรรมชาติ ผนวกกับต้นทุนค่าสินไหมทดแทนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเนื่องจากสถานการณ์เงินเฟ้อที่ทำให้ค่าจ้างแรงงาน ค่าอะไหล่รถยนต์ หรือวัสดุก่อสร้างปรับตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย อีกทั้งภาคธุรกิจประกันภัยยังต้องปรับการดำเนินธุรกิจให้สอดรับกับกฎระเบียบใหม่ๆ ของภาครัฐและหน่วยงานกำกับดูแล เช่น พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่จะเริ่มประกาศใช้ในปีนี้ เช่นเดียวกับการดำเนินธุรกิจตามภายใต้หลัก ESG ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อข้อจำกัดในการรับประกันภัยและการลงทุนในธุรกิจบางประเภท