3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย ยื่นหนังสือถึงรองฯ วิษณุ และ รมว.อุตฯ ค้าน พ.ร.บ.อ้อย เพิ่ม “กากอ้อย” เป็นผลพลอยได้

195
สิริวุทธิ์ เสียมภักดี

สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย ยื่นหนังสือถึง ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อคัดค้านแก้ไขร่าง พรบ. อ้อยและน้ำตาลทราย หลังเพิ่มเติมคำนิยาม “กากอ้อย” เป็นผลพลอยได้ ในมาตรา ขัดต่อเจตนารมณ์ของหลัก พ.ร.บ.อ้อยฯ ฉบับเดิม และร่างของกระทรวงอุตฯ ที่ได้ผ่านการทำประชาพิจารณ์แล้ว ที่ส่งเสริมความร่วมมือและสร้างความเป็นธรรมแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระบบอ้อยและน้ำตาลทราย หวั่นฉุดอุตสาหกรรมอ้อยน้ำตาลไทยร่วง  

สิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานกรรมการบริหารบริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) และประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ เปิดเผยว่า 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย ได้ยื่นหนังสือถึง ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อคัดค้านการแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญ หลังได้ผ่านความเห็นชอบเพิ่มเติมมาตรา ในส่วนคำนิยาม  ผลพลอยได้’ ให้หมายรวมถึง กากอ้อย’ โดยเป็นการเพิ่มชนิดผลิตภัณฑ์ที่นำมาใช้คำนวณรายได้ในระบบแบ่งปันผลประโยชน์ 70/30 ซึ่งเป็นประเด็นนำมาซึ่งความไม่เป็นธรรมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งในปัจจุบันและอนาคต เนื่องจากการพิจารณาเพิ่มเติมในคำนิยามกากอ้อยในมาตรการดังกล่าว โดยไม่ได้เปิดโอกาสให้ตัวแทนฝ่ายโรงงานซึ่งเป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงต่อการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นหรือออกเสียงแม้แต่คนเดียว ฝ่ายโรงงานจึงเห็นว่าร่างแก้ไขดังกล่าวไม่เป็นธรรมและไม่สามารถยอมรับกับข้อบังคับนี้ได้    

ทั้งนี้ ฝ่ายโรงงานมองว่า การเพิ่มเติม กากอ้อย เป็นคำนิยามในผลพลอยได้จากการผลิตน้ำตาลทราย ขัดต่อหลักการของข้อตกลงเดิมที่กำหนดให้โรงงานเป็นผู้รับผิดชอบบริหารจัดการกากอ้อย ถือเป็นของเสียในกระบวนการผลิต และเมื่อโรงงานได้นำกากอ้อยไปสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับระบบเศรษฐกิจ โดยเป็นการลงทุนของโรงงานเองทั้งหมดเป็นมูลค่าหลายพันล้านบาท แต่กลับถูกบังคับให้ต้องนำเงินเข้าสู่ระบบแบ่งปันจึงไม่เป็นธรรมต่อโรงงาน รวมถึงยังทำลายเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ฉบับเดิม ที่เน้นหลักจริยธรรมแห่งการอยู่ร่วมกันระหว่างชาวไร่และโรงงาน สร้างความร่วมมือ ความยั่งยืนและความเป็นธรมระหว่างชาวไร่อ้อยกับโรงงานน้ำตาล 

นอกจากนี้ มติดังกล่าวยังขัดต่อร่างแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาล ของภาครัฐที่จัดทำโดยกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นร่างหลักที่ผ่านการทำประชาพิจารณ์เห็นชอบทุกฝ่ายทั้งชาวไร่อ้อย โรงงานและหน่วยงานภาครัฐ แต่กลับไม่ได้ถูกนำมาใช้เป็นร่างหลักเพื่อเป็นหลักในการพิจารณาปรับปรุง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ดังนั้น สมาคมฯ จึงดำเนินการคัดค้านมติของกรรมาธิการวิสามัญฯ ดังกล่าว และสนับสนุนให้ใช้ร่างกระทรวงอุตสาหกรรม มาเป็นแนวทางปรับปรุง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527  

            “การยื่นหนังสือในครั้งนี้ เพื่อแสดงออกถึงท่าทีฝ่ายโรงงานจะคัดค้านมติของคณะกรรมาธิการวิสามัญถึงที่สุด ที่เพิ่ม กากอ้อย’ อยู่ในนิยามผลพลอยได้ โดยไม่มีตัวแทนโรงงานน้ำตาลเข้าร่วมเป็นแม้แต่คนเดียว เราจึงไม่อาจยอมรับได้ และยังกังวลว่าประเด็นนี้จะก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงาน  และส่งผลกระทบต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายในอนาคต” สิริวุทธิ์ กล่าว