TQM วางแผน 5 ปี ชู 5 กลยุทธ์ขับเคลื่อนด้วยดิจิทัล สู่เป้า 5 หมื่น ลบ.

2131

ในช่วงที่ตลาดหลักทรัพย์ของเมืองไทยซบเซามายาวนานร่วมปี แต่มีหลักทรัพย์อยู่ 1 ราย ที่สร้างความชุ่มชื่นให้กับผู้ถือหุ้น โดยเฉพาะผู้ที่ถือมาตั้งแต่วันแรกเข้าตลาด  นั่นคือ หุ้น TQM หรือ บมจ. ทีคิวเอ็ม คอร์ปอเรชั่น ที่เริ่มต้นจาก 23 บาท ไต่ระดับขึ้นมาจนเคยแตะถึง 90 บาท เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และวันนี้ก็วิ่งอยู่ในระดับ 70-80 บาท เช่นเดียวกับผลประกอบการสวยหรูที่ไม่ได้หวั่นไหวไปตามสภาพเศรษฐกิจเลย

โดยผลการดำเนินงานปี 2562  TQM มีรายได้รวม 2,783.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.2% เป็นรายได้จากการให้บริการ  2,711.5 ล้านบาท และรายได้จากดอกเบี้ยและผลตอบแทนจากเงินลงทุน 72.3 ล้านบาท  มีกำไรขั้นต้นอยู่ที่ 1,297.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 83.9 ล้านบาท คิดเป็น 6.9% ขณะที่กำไรสุทธิอยู่ที่ 507.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 103.0 ล้านบาท คิดเป็น 25.5%

นักลงทุนหลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมการเป็นโบรคเกอร์ หน้านายขายประกันภัยเพียงอย่างเดียว จึงทำให้ TQM เติบโตได้มากขนาดนี้ เพราะถ้ามองธุรกิจการเป็นนายหน้าที่มีรายได้จากการแบ่งเปอร์เซ็นต์การขายประกัน ก็ไม่น่าจะเป็นอะไรที่น่าหวือหวาจนหุ้นพุ่งพรวด กำไรพุ่งสูง

แต่ 2 ผู้บริหารคู่สามี-ภรรยา ของ TQM ดร.อู๊ด –อัญชลิน และ ดร.ตุ๊กนภัสนันท์ พรรณิภา ไม่ได้มอง TQM เป็นเพียงนายหน้าประกัน  โดยมีการร่วมมือกับบริษัทประกันสร้างผลิตภัณฑ์ประกันที่ตอบโจทย์ผู้ลูกค้า ตรงกับความต้องการในแต่ละช่วงเวลา และสร้างแพลตฟอร์มการเข้าถึงลูกค้า พร้อมการบริการที่สร้างความพึงพอใจ

ดร.อัญชลิน พรรณนิภา ประธาน บริษัท ทีคิวเอ็ม คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TQM เผยว่า ในปีที่ผ่านมาถือเป็นปีที่ TQM ได้มีการเติบโตจากการนำเสนอผลิตภัณฑ์ทั้งประกันวินาศภัยและประกันชีวิต รวมถึงการให้บริการในด้านต่าง ๆ ในทุกช่องทาง ซึ่งสามารถตอบโจทย์ของลูกค้าได้อย่างหลากหลายและตรงจุด ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและบริหารจัดการต้นทุนค่าใช้จ่ายในด้านต่าง ๆ ทั้งนี้ จากความสำเร็จในการพัฒนาขีดความสามารถใหม่ ๆ ผ่านโครงการทรานส์ฟอร์มนั้น TQM ได้นำขีดความสามารถดังกล่าวมาใช้ในเชิงรุกยิ่งขึ้น รวมไปถึงการดำเนินงานร่วมกับพันธมิตรในการพัฒนาธุรกิจในรูปแบบใหม่เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันในระยะยาว

โดยที่ผ่านมา  TQM  มีการทำงานร่วมกันบริษัทประกันหลายๆ ราย เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่เจาะกลุ่มเฉพาะ อย่างการร่วมมือกับเมืองไทยประกันภัย ออกแบบการประกันสำหรับกลุ่มสุภาพสตรี   ร่วมมือกับวิริยะประกันภัย และเครือโรงพยาบาล BDMS ออกประกันอุ่นใจรักษ์  ที่สามารถใช้บริการโรงพยาบาลในเครือ BDMS ได้แบบไม่ต้องห่วงกระเป๋า และร่วมมือกับกรุงเทพประกันภัย จัดทำประกันมนุษย์เงินเดือน  ล่าสุดยังได้ร่วมกันออกผลิตภัณฑ์ที่ทันยุค ประกันไวรัสโคโรนา เป็นรายแรกๆ

ดร.อัญชลิน กล่าวต่อว่า ในปีนี้ แม้ไตรมาส 1 ภาวะเศรษฐกิจของประเทศจะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกหรือการเผชิญกับโรคระบาด ทำให้หลายภาคส่วนเกิดความกังวลกับผลกระทบที่เกิดขึ้น แต่สำหรับ TQM ที่มีตลาดหลัก 90% เป็นประกันวินาศภัย เช่น ประกันรถยนต์ ประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ ประกันภัยบ้าน ประกันกลุ่มองค์กร ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่ผู้บริโภคจำเป็นต้องใช้ในทุกสภาวการณ์  ทำให้มั่นใจว่า ปีนี้ TQM จะทำยอดขายได้ถึง 1.5 หมื่นล้านบาท โดยมีอัตราเติบโตขึ้น 17.2%

ด้าน ดร.นภัสนันท์ พรรณนิภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีคิวเอ็ม คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า  TQM วางเป้าหมาย  5 ปี หรือปี 2026 จะมียอดขายได้ถึง 50,000 ล้านบาท ด้วย 5 กลยุทธ์ ที่ขับเคลื่อนด้วยดิจิทัล  ประกอบด้วย

1) การเติบโตทุกช่องทาง และทุกแพลตฟอร์ม ทั้งพนักงานขายและพนักงานบริการรวมกว่า 4,000 คน สาขาบริการ 95 สาขา Call Center ที่สามารถรองรับได้ถึงวันละ 2,000 คู่สาย  และช่องทางออนไลน์ ผ่าน Line Official  และ AI Chatbot

2) การ Co-Partner Ship กับพันธมิตรทั้งบริษัทประกัน ที่จะมีผลิตภัณฑ์ประกันใหม่ๆ ออกมามากว่า 10 ผลิตภัณฑ์ รวมถึงพันธมิตรจากธุรกิจอื่น เช่น กลุ่มธนาคาร เทเลคอม ฯลฯ

3) การควบรวมและการซื้อกิจการ (Mergers and Acquisitions: M&A) โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจโบรคเกอร์ เพื่อเพิ่มลูกค้า และเพิ่มช่องทางตลาดใหม่ๆ

4) การขยาดตลาดไปต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV ที่จะเน้นการร่วมทุน

5) การเพิ่มยอดขายด้วย Cross-selling

ดร.นภัสนันท์ กล่าวว่า การจะทำยอดขายให้ได้ถึง 50,000 ล้านบาทตามเป้าหมาย 5 ปี จะต้องสร้างการเติบโตให้ได้ปีละ 30% จึงต้องใช้เครื่องมือดิจิทัลมาช่วย โดยสาขาของ TQM ที่มีอยู่ 95 สาขาทั่วประเทศถือว่าเพียงพอ แต่จะหันมาเน้นการลงทุนด้านดิจิทัลที่จะช่วยให้เข้าถึงลูกค้าได้กว้างขึ้น และสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ที่ตอบความต้องการของไลฟ์สไตล์มากขึ้น

สำหรับแผนการดำเนินงานของ TQM ในปี 2563 ยังคงตอกย้ำการเป็นผู้นำเทรนด์ดิจิทัลอินชัวร์รันส์โบรคเกอร์ โดยการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นการมอบประสบการณ์ที่ใหม่และแตกต่างให้แก่ลูกค้าผ่านช่องทางดิจิทัล และยังคงรักษาฐานตลาดเดิมของ TQM ไว้ทั้งในส่วนงาน Tele Sale งานขาย Face to Face งานขายต่างจังหวัดและลูกค้าองค์กร รวมทั้งกลุ่มบริษัทในเครือ เช่น บริษัท ที เจ เอ็น อินชัวร์รันส์ โบรกเกอร์ จำกัด ที่มุ่งเน้นขยายตลาดดีลเลอร์และนายหน้าอิสระที่ต้องการผู้เชี่ยวชาญและเทคโนโลยีช่วยสนับสนุนในการขยายงานขายและงานบริการลูกค้า

“หัวใจสำคัญในการดำเนินธุรกิจของ TQM ยังคงเน้นงานบริการที่มุ่งตอบสนองความต้องการและตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของลูกค้าได้อย่างตรงจุด ภายใต้สโลแกน “TQM ไม่หยุดทำดีที่สุดเพื่อคุณ” “ ดร.นภัสนันท์กล่าว

ทั้งนี้ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2563 มีมติจ่ายเงินปันผล 1.10 บาทต่อหุ้น ซึ่งกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นได้รับสิทธิ (XD) วันที่ 16 มีนาคม 2563 และจ่ายเงินปันผลในวันที่ 14 พฤษภาคม 2563