“เงินติดล้อ” นำความรู้สู่ชุมชน เพื่อชีวิตหมุนต่อได้

1019

บริษัท เงินติดล้อ จำกัด ให้การสนับสนุน “โครงการกำลังใจ ในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้า
พัชรกิติยาภา” ผ่าน 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่ การให้ความรู้ทางการเงินเพื่อการประกอบอาชีพ การให้สินเชื่อเพื่อการประกอบอาชีพ และ การสนับสนุนผลิตภัณฑ์งานฝีมือจากกลุ่มผู้ก้าวพลาด การสนับสนุนดังกล่าว ถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ‘เงินติดล้อ นำความรู้สู่ชุมชน เพื่อชีวิตหมุนต่อได้’

บริษัท เงินติดล้อ จำกัด นำโดย นายพุฒิพงศ์ ภักดีพิพัฒน์กุล ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายสื่อสารสาขาแลพัฒนาศักยภาพผู้นำฝ่ายขายบริษัท เงินติดล้อ จำกัด ร่วมด้วย นายสมคิด ปริมิตร ผู้บัญชาการเรือนจำกลางเชียงราย นายภวัต พลวัฒน์ หัวหน้าเรือนจำชั่วคราวดอยฮาง จังหวัดเชียงราย นางพยอม ราชสมหัวหน้ากลุ่มงานนวัตกรรมและพัฒนาระบบงานฯ กองพัฒนานวัตกรรมการยุติธรรม ผู้แทนโครงการกำลังใจในพระราชดำริ และกลุ่มพนักงาน “เราอาสา เงินติดล้อ” เยี่ยมชมกิจกรรม “สร้างความรู้พื้นฐานทางการเงินเพื่อการประกอบอาชีพแก่ผู้ก้าวพลาด” ณ เรือนจำชั่วคราวดอยฮาง จังหวัดเชียงราย

สำหรับกิจกรรมการให้ความรู้ทางการเงินเพื่อการประกอบอาชีพ เริ่มจากทีมงานเงินติดล้อมีโอกาสได้ลงพื้นที่สำรวจปัญหาและความต้องการของกลุ่มผู้ก้าวพลาดที่เรือนจำจังหวัดระยองและจันทบุรี และทดลองสอนหลักสูตรแก่ผู้ก้าวพลาดที่เรือนจำชั่วคราว เขาระกำ จังหวัดตราด ในช่วงที่ผ่านมา เพื่อสำรวจความต้องการของผู้ก้าวพลาดและนำมาพัฒนาเป็นหลักสูตรอบรมในรูปแบบการเรียนรู้ผ่านการทำกิจกรรม (activity-based learning) เพื่อให้การเรียนรู้ด้านการเงินเป็นเรื่องสนุกและเข้าใจง่าย หลักสูตรการให้ความรู้ทางการเงินเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้ “หลักการเศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อช่วยให้ผู้ก้าวพลาดเข้าใจถึงต้นทุนประเภทต่าง ๆ การบริหารต้นทุนเพื่อเพิ่มผลกำไร การบริหารค่าใช้จ่ายส่วนตัวเพื่อการออมและการเขียนแผนธุรกิจ โดยมีเนื้อหาดังนี้

  • เรื่องต้องรู้ก่อนประกอบอาชีพ: มุ่งให้ผู้เรียนได้ทำความเข้าใจเบื้องต้นกับอาชีพต่าง ๆ ว่าหากต้องการจะต้องเริ่มต้นลงทุนในอาชีพนั้น ๆ แล้วจะต้องเตรียมการอย่างไรบ้างโดยเน้นไปที่ต้นทุนของแต่ละอาชีพ ผ่านการระดมความคิดเห็นของผู้เรียน เช่น วัตถุดิบประเภทต่าง ๆ อุปกรณ์ สถานที่ ทำเลที่ตั้งในการขาย ซึ่งหลังจากระดมความคิดแล้ว ผู้เรียนยังได้วิธีการคิดประเภทของต้นทุนที่กล่าวมานั้นว่าจัดเป็น “ต้นทุนคงที่” หรือ “ต้นทุนผันแปร”
  • ชวนคิดจากอาชีพตัวอย่าง: มุ่งให้ผู้เรียนได้ทดลองคิดคำนวณค่าใช้จ่ายจากต้นทุนในการเริ่มทำธุรกิจผ่าน model ธุรกิจขายลูกชิ้นปิ้ง โดยผู้เรียนจะได้ฝึกฝนการแยกประเภททต้นทุนคงที่ ต้นทุนผันแปร และการประมาณต้นทุนด้วยตนเอง
  • วิธีการเพิ่มกำไร: เรียนรู้วิธีการลดต้นทุน การเพิ่มยอดขายและการเพิ่มมูลค่าของสินค้าในแบบต่าง ๆ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถกำหนดราคาของสินค้าของตนเองได้อย่างเหมาะสมกับกลุ่มลูกค้า สถานที่ และเวลา นอกจากนี้ผู้เรียนยังต้องประมาณการค่าใช้จ่ายส่วนตัวที่ไม่ได้เกี่ยวข้อง
    กับธุรกิจ เพื่อให้สามารถบริหารจัดการค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมและเพียงพอต่อการใช้ชีวิตและการออมเพื่ออนาคตได้
  • แผนธุรกิจ: เน้นให้ผู้เรียนลงมือวางแผนการทำธุรกิจของตนเอง โดยเริ่มต้นจากการพิจารณาถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการทำธุรกิจของตนเอง ลักษณะธุรกิจที่ต้องทำ ผ่านการเขียนแผนธุรกิจ

โดยกิจกรรมความรู้ทางการเงินจะประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก ส่วนแรกจะเป็นกิจกรรมให้ความรู้แก่กลุ่มผู้ก้าวพลาดโดยตรง และ ส่วนที่สองจะเป็นการจัดอบรม Train the Trainer ให้ความรู้แก่ผู้คุมเรือนจำและผู้คุมประพฤติอาสาสมัคร เพื่อให้สามารถส่งต่อความรู้พื้นฐานด้านการเงิน ตลอดจนให้คำแนะนำเบื้องต้นแก่กลุ่มผู้ก้าวพลาดได้ด้วยตนเอง โดยในปีนี้จัดเป็นโครงการนำร่อง ณ เรือนจำชั่วคราวเขาระกำ จังหวัดตราด, เรือนจำชั่วคราวแคน้อย จังหวัดเพชรบูรณ์ และเรือนจำดอยฮาง จังหวัดเชียงราย ภายหลังจากเสร็จสิ้นการทำกิจกรรมแล้ว เงินติดล้อจะติดตามผลเพื่อนำมาประเมินหลักสูตรโดยรวมสำหรับกิจกรรมในครั้งต่อไป

สินเชื่อเพื่อการประกอบอาชีพ: เงินติดล้อตระหนักดีว่าเงินทุนในการประกอบอาชีพยังเป็นปัจจัยสำคัญ เนื่องจากการมีประวัติเป็นผู้ต้องขัง อาจส่งผลต่อความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้ จึงให้สินเชื่อเพื่อการประกอบอาชีพเป็นทุนตั้งต้นแก่ผู้ก้าวพลาดที่มีแผนการประกอบอาชีพของตนเอง การสนับสนุนผลิตภัณฑ์งานฝีมือจากกลุ่มผู้ก้าวพลาด บริษัทฯ มีแผนที่จะสั่งซื้อผลิตภัณฑ์เพื่อมาใช้สำหรับกิจกรรมต่าง ๆ ของบริษัทฯ ถือเป็นการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์งานฝีมือของผู้ก้าวพลาด ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากยิ่งขึ้น

บริษัท เงินติดล้อ จำกัด ในฐานะผู้ให้บริการสินเชื่อทะเบียนรถ ที่มุ่งมั่นสร้างโอกาสด้านการเงินให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อยและผู้ประกอบอาชีพอิสระ ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบที่เป็นธรรมและโปร่งใสได้ริเริ่มโครงการให้ความรู้ทางการเงิน แก่กลุ่มพ่อค้าแม่ค้า ในปี 2555 และต่อมาได้ขยายโครงการไปสู่ชุมชนภายใต้ “โครงการนำความรู้สู่ชุมชน เพื่อชีวิตหมุนต่อได้” ในปี 2558 โดยมุ่งให้ความรู้เบื้องต้นทางการเงิน การบริหารรายรับรายจ่าย และการออมเพื่อการลงทุน รวมถึง วิธีการใช้เทคโนโลยีทำธุรกรรมด้านการเงิน เพื่อความสะดวกและลดต้นทุนแก่กลุ่มผู้มีรายน้อยหรือผู้ประกอบอาชีพอิสระที่อาศัยอยู่ในชุมชนต่าง ๆ รวมถึง พ่อค้า แม่ค้า พนักงานโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศ โครงการดังกล่าวเปิดโอกาสให้พนักงานชาวเงินติดล้ออาสาเข้าร่วมกิจกรรม เพื่อสัมผัสถึงชีวิตความเป็นอยู่ และเข้าใจถึงความสำคัญของการสร้างโอกาสทางการเงินให้แก่ลูกค้า จนถึงปัจจุบัน เงินติดล้อได้นำความรู้สู่ 45 ชุมชน มีผู้เข้าร่วมการอบรมแล้วมากกว่า 2,193 คน อาสาสมัครชาวเงินติดล้อมากกว่า 816 คน