กลุ่มเซ็น ชูเรือธง “เขียง” เปิดปฏิบัติการยึดตลาดสตรีตฟู้ด

1758

การทานอาหารนอกบ้าน กลายเป็นไลฟ์สไตล์ยอดฮิตของคนไทยในยุคสมัยนี้ ศูนย์การค้าหลายๆ แห่ง ต้องวางจุดขายให้เป็นศูนย์กลางของร้านอาหารเพื่อดึงลูกค้าเข้ามา เพราะในยุคที่การจับจ่ายซื้อสินค้าฝืดเคือง แต่ธุรกิจร้านอาหารกลับเฟื่องฟู มีมูลค่าตลาดปีละร่วม 8 แสนล้านบาท

แต่ในมูลค่าการกินดื่มนอกบ้าน 8 แสนล้านบาท ที่มีร้านอาหารแบรนด์เนมแย่งชิงส่วนแบ่งกันนับร้อยแบรนด์ กลับมีส่วนแบ่งของร้านอาหารกลุ่มหนึ่งที่น่าสนใจ มีมูลค่าสูงถึง 3.7 แสนล้านบาท แต่กลับไม่มีแบรนด์ใหญ่ใดๆ เข้ามาแชร์ส่วนแบ่งตลาดนี้ได้เลย คือ ร้านอาหารสตรีตฟู้ด

ตลาดที่หอมหวานและมีแนวโน้มเติบโตนี้ ถูกจับตามองจาก บุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ZEN อดีตผู้บริหารมือทองที่กอบกู้ซิงเกอร์จากความตกต่ำให้กลับมาสดใส ถูกดึงมาเพื่อช่วยเชื่อมต่ออาณาจักรเซ็นเรสเตอรองส์ จากธุรกิจอาหารญี่ปุ่น สู่ธุรกิจอาหารอีสาน ตำมั่ว แบบเนียนกริบมาแล้ว

บุญยงมองว่า ขณะที่ตลาดร้านอาหารแบรนด์เนมแข่งขันกันอย่างดุเดือด แต่ร้านสตรีตฟู้ดกลับไม่มีแบรนด์ใหญ่ใดๆ ลงไปหาโอกาสในตลาดนี้เลย

ปลายปีที่แล้ว บุญยง ประกาศเปิดตัวแบรนด์ร้านอาหารใหม่ในชื่อ “เขียง” วางตำแหน่งให้เป็นร้านสตรีตฟู้ดแบรนด์เนมแรกของเมืองไทย เสิร์ฟเมนูอาหารยอดนิยมของคนไทย หรือบางคนเรียกอาจเรียกอาหารสิ้นคิด ข้าวกะเพราไข่ดาว ข้าวผัด ข้าวหมูกระเทียมพริกไทย หรือผัดซีอิ๊ว

บุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ZEN ผู้ประกอบธุรกิจบริการอาหาร (Food Services) เผยถึงความคืบหน้าในการขยาย ว่า บริษัทฯ สามารถขยายสาขาได้ตามแผนงาน โดยนับจากเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน มีสาขาที่เปิดให้บริการแล้ว ทั้งการลงทุนเองและสาขาแฟรนไชส์ รวม 41 แห่ง จากเป้าหมายการขยายให้ถึง 50 แห่งในปีนี้

โดยรูปแบบการขยายสาขาของเขียง ถูกแบ่งออกเป็น 6 รูปแบบ

รูปแบบแรก Full model เป็นรูปแบบร้านอาหารที่สามารถนั่งทานในร้าน และรับออเดอร์ดิลิเวอรี่ พื้นที่ราว 50 ตร.ม. โดยนอกเหนือจากตั้งเป็นแสตนอะโลนตามอาคารพาณิชย์ย่านชุมชน ที่เปิดให้บริการแล้วที่ RCA เพชรบุรีตัดใหม่ และย่านอ่อนนุช กลุ่มเซ็นยังมีการทำสัญญาร่วมกับกลุ่มปตท. ในการขยายร้านเขียงไปตามสถานีบริการน้ำมัน  PTT Station ทั่วประเทศ โดยขณะนี้เปิดให้บริการไปแล้ว 20 สาขา

รูปแบบที่ 2 คีออส (Khiang to go) พื้นที่ราว 10-49 ตร.ม. เน้นเมนูอาหารข้าวตักราด ข้าวหน้าต่างๆ เพื่อซื้อกลับไปทานที่ทำงาน หรือที่บ้าน เปิดบริการแห่งแรกที่ สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT เพชรบุรี

รูปแบบที่ 3 เปิดบริการในศูนย์อาหาร (Food Court) พื้นที่ 9 ตร.ม. ตั้งอยู่ในศูนย์อาหารภายในศูนย์การค้าชั้นนำ  โดยเปิดให้บริการแล้วที่เซ็นทรัล บางนา และเซ็นทรัล แจ้งวัฒนะ

รูปแบบที่ 4 เปิดบริการภายในศูนย์การค้าชุมชน (Community Mall) พื้นที่ 50-70 ตร.ม. เปิดให้บริการแล้วที่ Canopy บางบอน และ The Curve อ่อนนุช

รูปแบบที่ 5  Fresh food / Counter bar พื้นที่ 50-70 ตร.ม. โดยร่วมกับ Tesco Lotus เปิดให้บริการแล้วที่สาขาพระราม 1, พระราม 4, ศรีนครินทร์ และพัฒนาการ

รูปแบบที่ 6 เขียงทอง (Premium street food)พื้นที่ 70-110 ตร.ม. เสิร์ฟเมนูระดับพรีเมียม เช่น กุ้งล็อบสเตอร์ หรือเนื้อวัววากิว ฯลฯ ปัจจุบันเปิดให้บริการแล้วที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พัทยา บีช

นอกจากนี้ เพื่อรองรับตลาดดิลิเวอรี่ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว เขียง จึงเปิดตัวร้านในรูปแบบครัวกลาง ที่จะเน้นเป็นครัวผลิตอาหาร เพื่อส่งดิลิเวอรี่ผ่านผู้ให้บริการส่งอาหารทุกราย ซึ่งในปีแรก เขียง ทำรายได้จากดิลิเวอรี่สูงถึง 5 ล้านบาท และมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอีก

“วันนี้ ‘เขียง’ ถือเป็นหนึ่งในแบรนด์ร้านอาหารของบริษัทฯ ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี โดยวางตำแหน่งเป็นร้านอาหารไทยตามสั่งแนวสตรีตฟู้ดราคาย่อมเยา สามารถเข้าถึงลูกค้าทุกระดับและหลากหลาย ทั้งกลุ่มที่มารับประทานเองที่ร้านและกลุ่มที่ใช้บริการเดลิเวอรี่สั่งไปรับประทานที่บ้าน โดยส่วนใหญ่สามารถทำยอดขายได้ตามเป้าหมายเฉลี่ยเดือนละ 3-4 แสนบาทต่อสาขา และบางสาขาสามารถทำยอดขายได้ถึงเดือนละ 8 แสน – 1 ล้านบาท โดยเป้ารายได้ในปีนี้คาดว่าจะทำได้ถึง 70 ล้านบาท และคาดว่าจะทำรายได้มากกว่า 100 ล้านบาทภายในปีหน้า  ”

บุญยงกล่าวต่อว่า วันนี้ เขียง ถือเป็นแบรนด์เรือธงของกลุ่มเซ็น ที่จะสร้างการเติบโตได้เป็นอย่างดี โดยมีเป้าหมายการเปิดสาขาให้ได้ในปีนี้ 50 สาขา และจะเปิดต่อเนื่องให้ได้เดือนละ10 สาขา โดยเป้าหมายในปี 2023 เขียงจะเป็นแบรนด์ที่มีสาขามากที่สุดของกลุ่มเซ็น โดยจะมีทะลุหลักพันสาขา และตั้งเป้าให้สาขาเกือบทั้งหมดเป็นการเปิดในรูปแบบแฟรนไชส์

“เราพอใจกับผลตอบรับแบรนด์เขียง แม้ว่าเป็นแบรนด์ใหม่ที่เปิดตัวไม่ถึง 1 ปี แต่ก็สามารถขยายสาขาได้อย่างรวดเร็ว โดยเราต้องการให้เป็นเสมือนร้านสะดวกซื้อของอาหารตามสั่ง จึงรุกขยายสาขาในทำเลที่มีศักยภาพ ทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดหัวเมืองใหญ่ เนื่องจากภาพรวมตลาดสตรีตฟู้ดเมืองไทยมีขนาดใหญ่ ประเมินว่ามีมูลค่าตลาดรวมประมาณ 3.7 แสนล้านบาท จึงยังมีโอกาสขยายสาขาได้อีกมาก นอกจากนี้ บริษัทฯ มีแนวคิดจะพัฒนาโมเดลขยายธุรกิจร้านเขียงรูปแบบใหม่ โดยการนำแบรนด์ ‘เขียง’ เข้าไปยกระดับร้านอาหารตามสั่งตามท้องถนนให้เป็นร้านอาหารตามสั่งที่มีแบรนด์และได้มีมาตรฐาน โดยร้านอาหารเหล่านี้จะสามารถใช้แบรนด์และได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้จากบริษัทฯ”

บุญยง กล่าวถึงธุรกิจอาหารของกลุ่มเซ็นโดยรวมว่า ทิศทางในการขยายสาขาของร้านอาหารในกลุ่ม จะเน้นการเปิดร้านที่มีขนาดเล็กลง เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ใกล้ขึ้น โดยทั้งแบรนด์ Zen, On the Table และ AKA ก็จะมีการขยายในรูปแบบ Counter Bar ตามแบบเขียง ควบคูไปกับการขยายร้านตามปกติ และเตรียมเปิดตัวแบรนด์ใหม่ Dins ร้านอาหารจีน ที่เป็นแบรนด์แรกของกลุ่มเซ็นที่ซื้อแฟรนไชส์มาจากต่างประเทศ มาทำตลาดในเมืองไทย และบุญยงก็ยังมองเป้าต่อไปว่า

“กลุ่มเซ็นยังคงขยายตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยเป้าหมายของเราคือการมองหาพันธมิตรทางธุรกิจที่จะสามารถซินเนอยี่ธุรกิจให้เติบโตได้ทันที เพราะหากต้องพัฒนาแบรนด์เองเหมือนที่ผ่านมา จะต้องใช้เวลานาน ขณะที่การผนวกพันธมิตรจะทำให้เราเติบโตได้เร็วกว่า”