60 ปี สยามพิวรรธน์ สุดทางศูนย์การค้า สู่ผู้นำไทยสู่เวทีโลก

1755

ชื่อของ “สยามพิวรรธน์” ในวงการค้าปลีกไทย ถือว่าไม่ได้หวือหวาเท่า 2 ผู้นำในธุรกิจ ทั้งกลุ่มเซ็นทรัล และเดอะมอลล์

ฐานใหญ่ของสยามพิวรรธน์ ยึดมั่นอยู่เพียงถิ่นกำเนิด สยามสแควร์ สยามเซ็นเตอร์ ศูนย์การค้าแมว 9 ชีวิต ที่ไม่เคยหลับใหล และ สยามดิสคัฟเวอรี่ ศูนย์การค้าแฟชั่นไฮเอนด์ แม้การทุบโรงแรมสยามอินเตอร์คอนติเนนตันมาสร้างเป็นศูนย์การค้า สยามพารากอน ดูเหมือนภาพเจ้าของโครงการนี้จะถูกแชร์ไปอยู่ทางฝั่งพันธมิตร เดอะมอลล์ กรุ๊ป มากกว่า

จนมาถึงปลายปีที่ผ่านมา การเปิดอภิมหาโครงการค้าปลีกริมแม่น้ำเจ้าพระยา “ไอคอน สยาม” ก็เปล่งภาพของ สยามพิวรรธน์ ให้เป็นที่จับตามองมากขึ้น

วันนี้ สยามพิวรรธน์ ก็เดินผ่านความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย มาถึงปีที่ 60 ภายใต้การบริหารของ ชฎาทิพ
จูตระกูล ที่ประกาศว่า จากนี้ไปจะไม่ได้เป็นเพียงบริษัทผู้พัฒนาศูนยการค้า แต่ สยามพิวรรธน์ คือ “ผู้นำแห่งเศรษฐกิจสร้างสรรค์” (Creative Economy)

โดยแนวคิด “ผู้นำแห่งเศรษฐกิจสร้างสรรค์” ชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ให้ความหมายว่า คือการเป็นผู้นำความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมในการสร้างต้นแบบ และนำมาตรฐานใหม่ๆ มาพัฒนาวงการอสังหาริมทรัพย์ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

การปรับภาพลักษณ์ของสยามเซ็นเตอร์ ให้กลายเป็นเมืองแห่งไอเดียที่ล้ำเทรนด์ และการปรับโฉมสยามดิสคัฟเวอรี่ ดิเอ็กซ์พลอราทอเรียม ให้กลายเป็นจุดหมายปลายทางรูปแบบไฮบริดรีเทล ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ศูนย์การค้าไทยได้รับรางวัลชนะเลิศจากทั้งวงการศูนย์การค้าและการค้าปลีกของโลกพร้อมกัน รวมถึงการเปิดอภิมหาโครงการเมืองไอคอนสยามที่องค์กรและสมาคมสำคัญในวงการค้าปลีกและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศได้ยกย่องให้เป็นโครงการต้นแบบของ Creative Innovation ที่ผสานเรื่องราวของ Art-Culture เข้ากับ Retail และ Entertainment อย่างสมบูรณ์แบบ

ชฎาทิพ กล่าวต่อว่า แนวคิด ผู้นำแห่งเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มีการวางแผนกลยุทธ์ 5 ปี ในการขับเคลื่อนธุรกิจ และกำหนดทิศทางการลงทุนของสยามพิวรรธน์ ซึ่งจะเน้นไปที่การสร้างโอกาสทางธุรกิจร่วมกับคนไทยทั้งประเทศ และพันธมิตรชั้นนำในต่างประเทศ พร้อมเปิดตัวนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เหนือชั้นเพื่อขับเคลื่อนกลยุทธ์ทางการตลาดแบบครบวงจร เพื่อให้ได้เป้าหมายในอีก 5 ปีจะมีรายได้เติบโต 1 – 1.5 เท่า
จากในปีนี้

โดยแผนธุรกิจ 5 ปี ประกอบด้วย

  1. เดินหน้าสร้างมหาปรากฏการณ์ โครงการระดับโลกทั้งในและต่างประเทศ ต่อยอดจากความสำเร็จของ วันสยาม และไอคอนสยาม ด้วยวิสัยทัศน์ในการพัฒนาเมือง โครงการที่สยามพิวรรธน์สร้างขึ้นจะต้องเป็นโครงการขนาดใหญ่ ต้องปฏิวัติวงการค้าปลีก และต้องเป็นโครงการที่สร้างสรรค์โดยเฉพาะ (Tailor made) ด้วยงบประมาณในช่วง 5 ปีมากกว่า 7 หมื่นล้านบาท

โดยในปีนี้ นอกเหนือจากโครงการ สยามพรีเมียมเอาท์เล็ต บนพื้นที่ 150 ไร่ของกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออกแล้ว ชฎาทิพ ยังเผยว่า กำลังมองหาพื้นที่ในการสร้างโครงการใหม่ที่มีรูปแบบการร่วมมือกับพันธมิตร เหมือนดัง ไอคอนสยาม อีก 2 แห่ง โดยใช้มีพื้นที่ตั้งแต่ 50 – มากกว่า 100 ไร่ โดยมีพื้นที่ที่กำลังพิจารณาอยู่ทั้งกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก, ฝั่งเหนือ และใจกลางกรุง

ขณะที่ โครงการไอคอนสยาม เตรียมเปิดตัว ทรู ไอคอน ฮอลล์ (TRUE ICON HALL) ศูนย์ประชุมพร้อมนวัตกรรมล้ำยุคแห่งแรกในกรุงเทพบนพื้นที่กว่า 12,000 ตารางเมตร รองรับการจัดงานประชุมระดับชาติ และจัดแสดงโชว์ระดับโลกได้ ผลักดันให้กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางการประชุมนานาชาติ สนับสนุนอุตสาหกรรม MICE ของประเทศไทย และ ริเวอร์มิวเซียม แบงค็อก (rivermusuem bangkok) พิพิธภัณฑ์มาตรฐานระดับสากลครั้งแรกในเมืองไทย โดยจะทำงานร่วมกับเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ทั่วโลก เพื่อนำผลงานศิลปะล้ำค่าจากต่างประเทศมาจัดแสดงเป็นครั้งแรกในประเทศไทย

  1. ผนึกกำลังพันธมิตรแถวหน้าระดับโลก ร่วมพัฒนาธุรกิจค้าปลีก และอสังหาริมทรัพย์ ที่ผ่านมาสยามพิวรรธน์ได้รับความไว้วางใจจากบริษัทชั้นนำระดับโลกมากมาย เลือกที่จะเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจและร่วมลงทุนพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ เช่น ไซม่อน พร็อพเพอร์ตี้ กรุ๊ป บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ด้านค้าปลีกอันดับหนึ่งของโลกจากอเมริกา, ทาคาชิมายะ ห้างสรรพสินค้าที่ดีที่สุดในประเทศญี่ปุ่น, iStyle Inc. บริษัทค้าปลีกและเจ้าของเว็บไซต์รีวิวและจัดอันดับผลิตภัณฑ์ความงามที่ใหญ่ที่สุดและประสบความสำเร็จมากที่สุดในญี่ปุ่น ฯลฯ

ในปีนี้ สยามพิวรรธน์มีแผนที่จะขยายไลน์ธุรกิจค้าปลีกให้มีความหลากหลายยิ่งขึ้น ทั้งการขยายธุรกิจค้าปลีกในรูปแบบแฟรนไชส์ การร่วมทุนกับบริษัทค้าปลีกชั้นนำจากต่างประเทศเพื่อเปิดตัวแบรนด์สินค้าไลฟ์สไตล์อีก 2 แบรนด์ พร้อมให้การสนับสนุนดีไซน์เนอร์ไทยและผู้ประกอบการ SME ไทยให้พัฒนาบน platform การจัดจำหน่ายสินค้าที่สยามพิวรรธน์บริหารอย่างครบวงจร เพื่อให้ผู้ประกอบการรายย่อย ได้ใช้ประโยชน์จากศูนย์กลางข้อมูลของสยามพิวรรธน์พัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเองได้อย่างต่อเนื่อง

  1. ลงทุนธุรกิจใหม่ เสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจหลัก โดยมีแผนลงทุนซื้ออสังหาริมทรัพย์ การลงทุนในธุรกิจอื่น และขยายธุรกิจค้าปลีก ที่จะช่วยสนับสนุนธุรกิจหลักเพื่อเสริมศักยภาพของสยามพิวรรธน์ เช่น การซื้ออาคารสำนักงาน กิจการจัดส่งสินค้า (logistics) รวมไปถึงธุรกิจด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ๆ

นอกจากนี้ บริษัทฯ มีแผนขยายธุรกิจภายใต้บริษัทลูกอีก 4 – 5 บริษัท อาทิ บริษัท สยามอัลไลแอนซ์ แมเนจเม้นท์ จำกัด รับบริหารจัดการศูนย์การประชุมและศูนย์แสดงนิทรรศการ และลงทุนในการสร้างศูนย์ประชุมสำหรับการจัดงานต่างๆ รวมถึงการการจัดแสดงคอนเสิร์ตในทำเลใหม่ ธุรกิจให้คำปรึกษาและบริการเกี่ยวกับการจัดการอาคารของบริษัท สยามโปรเฟสชั่นแนล แมเนจเม้นท์ จำกัด ซึ่งได้ให้บริการแก่บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มาแล้วหลายราย

  1. เปิดตัวระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ และการบริหารจัดการข้อมูล ที่ได้ถูกพัฒนามาเป็นระยะเวลากว่า 5 ปี สร้างความแตกต่างแต่โดนใจ ขับเคลื่อนกลยุทธ์ทางการตลาดแบบครบวงจรทั้งในและต่างประเทศ ด้วยการทำงานที่มองความต้องการและความสนใจของลูกค้าเป็นหลัก (Customer Centric) นำนวัตกรรม และเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยที่สุดมาพัฒนาระบบการทำงาน ตั้งแต่ การศึกษาความต้องการของลูกค้า ตลอดจนการออกแบบการสร้างประสบการณ์ (customer journey) การให้บริการ และการส่งเสริมการขายให้ตรงความต้องการของลูกค้าในแต่ละบุคคลมากที่สุด

ปีนี้ สยามพิวรรธน์จะเปิดตัวระบบสารสนเทศทางการตลาด (Marketing Intelligence System) ที่ได้พัฒนามานานกว่า 5 ปีด้วยงบประมาณ 500 ล้านบาท สำเร็จพร้อมใช้อย่างเต็มรูปแบบ ด้วยฐานข้อมูลขนาดใหญ่จาก 4 ศูนย์การค้าที่เป็นเจ้าของ นำมาวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคเพื่อให้ตอบรับความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น

  1. กลยุทธ์การสร้างคุณค่า สมประโยชน์ร่วมกันสู่ความยั่งยืน จับมือผู้ประกอบการไทยทั่วประเทศพร้อมแข่งขันบนเวทีโลก ปั้น Local Heroes ให้เป็น Global Heroes ด้วยการผนึกกำลังร่วมกับทุกภาคส่วน ตั้งแต่องค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการไทยรุ่นใหม่ บุคคลผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญจากทั่วโลก

โดยในโครงการไอคอนสยาม ได้เกิดสเกลการ co-creation ระดับชาติ รวมพลังความคิดสร้างสรรค์ในทุกแขนงกับผู้มีความรู้ความสามารถจากชุมชนทั่วประเทศ ภาคธุรกิจ ภาคราชการ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ จากหลายประเทศ ทั้งรายใหญ่รายย่อย ท้าทายให้คิดนอกกรอบ และทำในสิ่งที่ไม่เคยทำกันมาก่อน ต่อยอดให้เกิดความสำเร็จที่เพิ่มทวีคูณกับทุกคนที่ร่วมในโครงการ

นอกจากนี้สยามพิวรรธน์ทำงานร่วมกับภาครัฐเพื่อร่วมฝึกสอนคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถในทุกสาขาอาชีพ ให้กลายเป็นกำลังขับเคลื่อนความเจริญก้าวหน้าให้กับประเทศไทย รวมถึงความสำเร็จในการทำงานร่วมกับผู้ประกอบการท้องถิ่นรายย่อยจากทั่วประเทศไทย ในโครงการสุขสยาม ส่งผลให้ผลิตผลจากหมู่บ้านและท้องถิ่นต่างๆ มียอดขายที่ดีและเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง

  1. การพัฒนาสยามพิวรรธน์ อคาเดมี (Siam Piwat Academy) และการสร้างสยามพิวรรธน์ Next-Gen Leader เพื่อรองรับการขยายธุรกิจที่โตอย่างก้าวกระโดดจาก 15 บริษัทเป็น 46 บริษัทภายใน 5 ปีที่ผ่านมา และตอบรับกับแผนการขยายธุรกิจ สยามพิวรรธน์มีแผนปรับโครงสร้างบริหารและพัฒนาองค์กร ด้วยการสร้าง สยามพิวรรธน์ Next-Gen Leader ปั้นคนรุ่นใหม่เสริมทัพผู้บริหารเพื่อขับเคลื่อนองค์กร

โดย 5 ปีที่ผ่านมา หน่วยงาน Think Tank ได้ทำงานร่วมกับประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้บริหารระดับสูงที่มากด้วยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในแต่ละสาขาอย่างใกล้ชิด เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้ถูกฝึกฝีมืออย่างเข้มข้น และมีเวทีในการแสดงศักยภาพ มีโอกาสเติบโตและภาคภูมิใจไปกับทุกความสำเร็จขององค์กร

ขณะที่โครงการสยามพิวรรธน์ อคาเดมี (Siam Piwat Academy) หลักสูตรการบริหารจัดการ ที่นำองค์ความรู้ในการบริหารศูนย์การค้าและการค้าปลีกของสยามพิวรรธน์ที่สั่งสมมากว่า 60 ปี ถ่ายทอดให้กับสังคม โดย 3 ปีที่ผ่านมา สยามพิวรรธน์ได้ทำงานร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในการสอนหลักสูตร Sustainable Shopping Mall Management ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดี  และมีการขยายความร่วมมือไปยังสถาบันชั้นนำอื่นๆ อาทิ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ในปีต่อไป

นอกจากนี้ สยามพิวรรธน์มีแผนที่จะปรับโครงการสร้างองค์กรด้วยการสร้าง Center of Excellence หรือ การสร้างหน่วยงานกลางที่รวมเอาบุคลากรผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในสาขาต่างๆ ขึ้นเป็นหน่วยงานส่วนกลางเพื่อกำกับดูแล และให้การสนับสนุนบริษัทลูกในเครือทั้งหมด รวมถึงยังมีแผนการปรับกระบวนการทำงานโดยนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้มีผลิตภาพมากขึ้น อาทิ การใช้ Chatbot, Robotic, AI ทำให้องค์กรมีความคล่องตัว (Agile organization)  สามารถปรับตัวได้เร็วตอบสนองความต้องการ และการเปลี่ยนแปลงของลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว

ชฎาทิพย์ กำลังนำสยามพิวรรธน์ เดินไปในทิศทางที่แตกต่าง ด้วยการมองเห็นโอกาสของประเทศไทยที่มีความพร้อมทุกอย่าง หากได้รัฐบาลที่มีความมั่นคง สยามพิวรรธน์ก็จะมองไปไกลกว่าความสำเร็จทางธุรกิจ แต่ขอเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จของประเทศไทย