เรตติ้งทีวีไม่ใช่คำตอบ !! ทรูโฟร์ยู “เรามีมากกว่าคู่แข่ง”

1522

แรกเริ่มของการเปิดช่องทีวีดิจิทัล เมื่อปี 2557 กูรูทางทีวีหลายท่านเคยวิเคราะห์ว่า การแย่งชิงช่องทีวีด้วยเงินประมูลสูงลิ่ว แต่เม็ดเงินโฆษณาสื่อทีวีกลับถดถอยลง จะส่งผลให้ผู้ประกอบการหลายๆ รายต้องถอนตัวออกไป  แต่ถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 4  ปีแล้วที่ทีวีดิจิทัลเริ่มออกอากาศ มีเพียง 2  ช่องทีวีดิจิทัลของกลุ่มทีวีพูล รายเดียวเท่านั้น ที่ทิ้งช่องเลิกกิจการไป

ความพยายามในการยกระดับเรตติ้งผู้ชม ถือเป็นภารกิจหลักของผู้ประกอบการทีวี เพราะมีความเชื่อว่า ช่องที่ขยับเข้าไปอยู่ใน Tier 1  หรืออยู่ในอันดับ Top 3-5 ช่องที่มีเรตติ้งสูงสุดเท่านั้น ที่จะอยู่รอดได้อย่างสบายตัว ทำให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลกลุ่มรายการทั่วไป ทั้งความคมชัดระดับปกติ และระดับ HD ที่มีอยู่รวม  14 ช่อง ต้องพยายามไต่ระดับขึ้นไปถึงจุดนั้น

    แต่สำหรับทรูโฟร์ยู ช่อง 24 ของกลุ่มทรู คอร์ปอเรชั่น กลับไม่ได้คิดเช่นนั้น !!

เดือนธันวาคม ปี 2561 นีลเส็น ได้รายงานเรตติ้งช่องทีวีดิจิทัลของทรูโฟร์ยู อยู่ที่  0.114  อยู่ในอันดับ 15 หรืออยู่ในอันดับท้ายๆ ของกลุ่มช่องรายการทั่วไป โดยรายการที่สร้างเรตติ้งให้กับทรูโฟร์ยูชัดเจนที่สุดในปีที่แล้ว ก็คือคอนเทนต์พิเศษอย่าง การถ่ายทอดฟุตบอลโลก ในช่วงกลางปี แต่สำหรับคอนเทนต์ประจำ ทั้งวาไรตี้ เกมโชว์ รวมไปถึงละคร ยังไม่ดังเปรี้ยงปร้างเท่ารายการของช่องดิจิทัลหัวแถว

พีรธน เกษมศรี ณ อยุธยา หัวหน้าคณะผู้บริหารคอนเทนต์ และมีเดีย บริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ทรูโฟร์ยู ถือเป็นช่องทีวีดิจิทัลที่แตกต่างกว่าทุกช่อง เพราะเป็นช่องเดียวที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นบริษัทโทรคมนาคม มีแพลตฟอร์มในการออกอากาศคอนเทนต์เป็นของตนเอง หลากหลายช่องทาง เข้าถึงลูกค้ามากกว่า 38 ล้านคน ตั้งแต่ทรูมูฟเอช ทรูวิชั่นส์ ทรูออนไลน์ ทรูไอดี จนไปถึงร้านกาแฟทรูคอฟฟี่ และศูนย์บริการทรู มีการนำทุกช่องทางมาใช้ประโยชน์มากกว่าการวัดเรตติ้งผู้ชมทางทีวีเพียงอย่างเดียว

พีรธน ให้เหตุผลว่า ตลอดกว่า 4 ปีที่ผ่านมา ทรูโฟร์ยู ยังไม่มีความพร้อมในด้านการผลิตคอนเทนต์ป้อนสถานีอย่างเพียงพอ โดยคอนเทนต์ส่วนใหญ่ เป็นคอนเทนต์ที่มาจากทรูวิชั่นส์ โดยเฉพาะรายการกีฬา ทำให้ทรูโฟร์ยู ได้รับความนิยมอยู่ในกลุ่มผู้ชมกีฬา

แต่ปีนี้ พีรธน มั่นใจว่า ทรูโฟร์ยู พร้อมแล้ว !!

ในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ทรูคอร์ป  มีความร่วมมือกับผู้ผลิตรายการโทรทัศน์รายใหญ่จากเกาหลีใต้   ซีเจ อีเอ็นเอ็ม บริษัทธุรกิจบันเทิงครบวงจรที่มีคอนเทนต์รายการถูกซื้อไปออกอากาศทั่วโลก อาทิ Golden Tambourine หรือ เฮ มัน โชว์  ทางช่อง 7, Crazy Market หรือ ตลาดสัมผัส ช่อง PPTV ฯลฯ จัดตั้งบริษัท ทรู ซีเจ ครีเอชั่นส์  เพื่อผลิตรายการป้อนให้กับทรูโฟร์ยู  และประเดิมด้วยการนำรายการ  Show Me the Money , ป๋าซ่าพาซิ่ง และซีรีส์  ซีรี่ส์ OMGผีป่วนชวนมารัก มาออกอากาศทางทรูโฟร์ยู ตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว

ทรูโฟร์ยู ยังมีความร่วมมือกับ  ทีวีธันเดอร์, Halo Productions ผู้ผลิตซีรีส์รีเมค รวมถึงหม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล ผู้กำกับชั้นครู

นอกจากนั้น ในส่วนของทีมผู้บริหารสูงสุดของทรูโฟร์ยู ก็มีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง เป็นผู้บริหารคนที่ 3 นับตั้งแต่เปิดช่องมา โดยมอบให้  อภิชาติ์ หงส์หิรัญเรือง ที่มีตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัทร่วมทุน ทรู ซีเจ ครีเอชั่นส์  อยู่ก่อนหน้า มารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ทรูโฟร์ยู ควบคู่ไป พร้อมทั้งดึง ธีรศักดิ์ อรุณเริ่มวัฒนะ มือสร้างแบรนด์ของกลุ่มทรู เข้าดูแลการสร้างแบรนด์ และการตลาดให้กับทรูโฟร์ยู

 

“อันดับเรตติ้งไม่สำคัญเท่ากับการเข้าไปอยู่ในใจผู้ชม”

อภิชาติ์ หงษ์หิรัญเรือง กรรมการผู้จัดการ ทรูโฟร์ยู ช่อง 24  พูดถึงการเปลี่ยนแปลงของทรูโฟร์ยูในปีนี้ว่า นอกเหนือจากการปรับเปลี่ยนทีมผู้บริหารที่ดึงมือการตลาดของกลุ่มทรูอย่าง ธีรศักดิ์ อรุณเริ่มวัฒนะ มาร่วมงานแล้ว ในด้านการวางแผนโปรแกรมรายการ  การวางแผนคอนเทนต์ ก็จะปรับให้มีความหลากหลายรสชาติ หลากหลายรูปแบบ เพื่อให้สามารถเข้าถึงผู้ชมทุกวัย

“ในปี 2562 แนวทางการดำเนินธุรกิจของทรูโฟร์ยู ช่อง 24  จะให้ความสำคัญกับคอนเทนต์บันเทิงระดับสากลเพิ่มมากขึ้น ซึ่งนอกจากรายการกีฬาสดที่เป็นจุดแข็งอยู่แล้ว เตรียมเสริมทัพด้วยการสร้างสรรค์ภาพยนตร์ ซีรีส์ เกมโชว์ วาไรตี้ เรียลิตี้ ใหม่ๆ ให้ตอบโจทย์ตรงใจผู้ชมยิ่งขึ้น  พร้อมปรับผังรายการให้เหมาะสมกับช่วงเวลาที่สะดวกตามเทรนด์มัลติ-สกรีน ของกลุ่มเป้าหมายยุคปัจจุบัน พร้อมวางคอนเซปต์ของช่องใหม่ว่า True for All, More 4U สนุกเกินคาด มากกว่าที่คิด”

โดย ธีรศักดิ์ อรุณเริ่มวัฒนะ ผู้อำนวยการกลุ่ม ด้านคอนเทนต์และมีเดีย บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ให้รายละเอียดว่า   คอนเซ็ปต์ใหม่ ‘True for All, More 4U สนุกเกินคาด มากกว่าที่คิด’ เกิดจากแนวคิดการมอบสิ่งดีที่สุดเพื่อลูกค้าทุกกลุ่มบริการของทรู กว่า 38 ล้านคน ซึ่งมีหลากหลายไลฟ์สไตล์ โดย True for All คือ การผสานศักยภาพด้านนวัตกรรมสื่อสารครบวงจรกับคอนเทนต์ที่ดีที่สุด เพื่อส่งมอบให้ลูกค้าและผู้ชมทุกคน ขณะที่ More 4U จะให้มากกว่าการรับชมทั่วไป ประกอบด้วย

  1. More Platforms มากกว่าการรับชมผ่านหน้าจอโทรทัศน์ โดยให้อิสระในการเลือกรับชมคอนเทนต์ผ่านหลากหลายแพลตฟอร์มแบบ Omni-channel ได้เพิ่มเติมทั้งโซเชียลมีเดีย และเว็บไซต์ ทรูโฟร์ยู รวมถึงแอปพลิเคชั่น TrueID
  2. More Segmented Primetime สะดวกมากกว่าด้วยการจัดผังรายการใหม่ คัดสรรคอนเทนต์ให้เหมาะสมกับช่วงเวลาที่สะดวกของแต่ละกลุ่มเป้าหมาย
  3. More Entertainment สนุกและบันเทิงมากกว่า จากคอนเทนต์ครบรสยิ่งขึ้น ด้วยงบประมาณ 800-1,000 ล้านบาท
  4. More Engagement สร้างการมีส่วนร่วมมากขึ้นแบบ 4O (On Air – Online – On Ground – On Right Target) อินเตอร์แอคทีฟระหว่างรายการและผู้ชมกลุ่มเป้าหมาย โดยคนดูจะได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ มากมาย อีกทั้งยังสามารถเข้าถึงฐานลูกค้ากลุ่มทรู และนำไปสู่การสร้างประสบการณ์และความสัมพันธ์ได้เป็นอย่างดี

ธีรศักดิ์ มองว่า การกำหนดให้ช่วงเวลาไพร์มไทม์ของทีวี มีเพียงช่วงเวลาเดียว คือช่วงหัวค่ำ เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะไลฟ์สไตล์ของผู้คนในปัจจุบันแตกต่างกัน  การชมรายการทีวีก็ไม่ได้ยึดติดกับการชมผ่านทีวีอีกต่อไป  สามารถชมผ่านสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และชมย้อนหลังได้ ดังนั้น ไพร์มไทม์จึงควรมีหลายช่วงเวลา ตามไลฟ์สไตล์ของคนแต่ละวัย

“การสร้างเรตติ้งของทรูโฟร์ยู คือการซินเนอยีกับทุกธุรกิจของกลุ่มทรู เพื่อให้สามารถนำคอนเทนต์ของทรูโฟร์ยูเข้าถึงกลุ่มผู้ชมที่มากกว่า ไม่ใช่มองแค่เรตติ้งการสำรวจผู้ชมทีวี”