เรือด่วนเจ้าพระยา เปิดตัว “เจ้าพระยาทัวร์ริสท์โบ๊ท” ยกระดับการท่องเที่ยวเจ้าพระยาสู่ระดับโลก

2496

ย้อนกลับไปสมัยที่ประเทศไทยเริ่มมีการค้าขายกับต่างประเทศ ตั้งแต่ยุคกรุงศรีอยธยาเป็นเมืองหลวงมาจนถึงยุครัตนโกสินทร์  แม่น้ำเจ้าพระยา ถือเป็นทั้งเส้นทางคมนาคม และเส้นทางการค้าหลัก  โดยเฉพาะแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงที่ผ่านเข้ากรุงเทพฯ ที่เป็นจุดพักสินค้าก่อนขึ้นเหนือ และจุดลงสินค้าส่งเข้าสู่ตลาดเมืองหลวง  สร้างความคึกคักให้กับแม่น้ำสายหลักของประเทศไทยมายาวนาน

แต่ความคึกคักของแม่น้ำเจ้าพระยาลดหายไป เมื่อเส้นทางคมนาคมบนบก ถนนหนทางถูกสร้างขึ้น กลายเป็นเส้นทางหลักในการขนส่ง  สนามบินกลายเป็นเส้นทางส่งสินค้าที่ได้รับความนิยมอีกทาง บรรดาโกดังเก็บสินค้าริมเจ้าพระยา  โรงงานริมแม่น้ำที่เคยรับวัตถุดิบผ่านมาทางน้ำ มาใช้ในการผลิต ทะยอยปิดตัวลง  เหลือเพียงเป็นเส้นทางการเดินทางของผู้คนที่อยู่สองฝั่งแม่น้ำเท่านั้น

จนมาถึงช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมานี้  แม่น้ำเจ้าพระยาถูกปลุกให้คึกคักขึ้นด้วยอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว นอกเหนือจากวัดและสิ่งก่อสร้างสำคัญ อย่าง วัดอรุณราชวราราม,  วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม, พระบรมมหาราชวัง สะพานพระราม 8, สะพานพระราม 9 , ตลาดปากคลองตลาด ฯลฯ ที่เป็นเส้นทางการท่องเที่ยวทางน้ำที่สำคัญแล้ว   ภาคเอกชนยังมีการสร้างแลนด์มาร์กใหม่ๆ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา  ทั้งเอเชียทีค, ล้ง 1919 และล่าสุด ไอคอนสยาม

หนึ่งในผู้ให้บริการเดินเรือท่องเที่ยวในแม่น้ำเจ้าพระยารายสำคัญ บริษัทเรือด่วนเจ้าพระยา ที่ในอดีตให้บริการเดินเรือโดยสารประจำทางมาตั้งแต่ปี 2514   ได้ริเริ่มให้บริการเรือโดยสารท่องเที่ยว  “เรือเจ้าพระยาทัวร์ริสท์โบ๊ท” หรือ เรือธงฟ้า ในปี พ.ศ. 2546 โดยได้รับคำแนะนำและความร่วมมือจากผู้บริหารรถไฟฟ้าบีทีเอสในเวลานั้น  เปิดให้บริการเรือท่องเที่ยวครั้งแรก ระยะทาง 6 กิโลเมตร ระหว่างท่าสาทร สี่พระยา ราชวงศ์ ท่าเตียนและท่าพระอาทิตย์

จนถึงปี 2555 เจ้าพระยาทัวร์ริสท์โบ๊ทได้แยกตัวออกจากบริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา ที่มีธุรกิจหลักเป็นเรือโดยสารประจำทาง  ออกมาเปิดบริการ เรือท่องเที่ยวในแม่น้ำเจ้าพระยา(เรือท่องเที่ยวธงสีฟ้า)  อย่างเต็มตัว โดยนำเรือโดยสารประจำทางจากเรือด่วนเจ้าพระยา 2 ลำ มาปรับปรุงให้เป็นเรือท่องเที่ยว 2 ชั้น เปิดให้บริการ

มาในปีนี้ สุภาพรรณ พิชัยรณรงค์สงคราม ประธานกรรมการ บริษัท เจ้าพระยาทัวร์ริสท์โบ๊ท จำกัด ในเครือบริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด  เผยว่า บริษัทฯ ได้ลงทุนกว่า 100 ล้านบาท ในการต่อเรือโฉมใหม่ จำนวน 3 ลำ โดยเป็นนวัตกรรม Catamaran เรือสองท้อง ผลิตจากอลูมิเนียม  ลำแรกของบริษัทและในแม่น้ำเจ้าพระยา ตัวเรือมีขนาดกว้างและใหญ่กว่าเดิมสามารถรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวได้มากขึ้นถึง 193 คนต่อลำ มีความสมดุล และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วยการไม่ทำให้เกิดคลื่นอันจะส่งผลกระทบต่อท่าเรือและการจราจรทางน้ำ เพื่อยกระดับการท่องเที่ยวทางแม่น้ำเจ้าพระยาสู่ระดับเวิลด์คลาส

“เรือเจ้าพระยาทัวร์ริสท์โบ๊ท ออกแบบโดย Mr. Adam Schwetz, Naval Architect จากออสเตรเลีย ควบคุมดูแลการต่อเรือโดยบริษัท นาวีอานซ์ จำกัด และดำเนินการต่อเรือที่อู่ต่อเรือบริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตัวเรือใช้นวัตกรรม Catamaran เช่นเดียวกับเรือล่องแม่น้ำเทมส์ในกรุงลอนดอน  และเรือชมซิดนีย์ โอเปร่า ในออสเตรเลีย  เป็นเรือสองท้อง ผลิตจากอลูมิเนียมเกรดคุณภาพตามมาตรฐานสากล  วัสดุอุปกรณ์ทุกชิ้นสั่งตรงจากต่างประเทศมาประกอบที่อู่ต่อเรือของเราที่อยุธยา รวมมูลค่าประมาณลำละ 25 ล้านบาท โดยเราสั่งต่อเรือใหม่จำนวน 3 ลำ รวมติดตั้งอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งหมดก็ประมาณ 100 ล้านบาท ตัวเรือมีขนาดกว้าง 7.2 เมตร  ยาว 23 เมตร เบาะที่นั่งมีขนาดกว้างเหมาะกับชาวต่างชาติ มีระบบรักษาความปลอดภัยบนเรือด้วยกล้อง CCTV และมีห้องน้ำบริการในเรือ นอกจากนี้ ผู้โดยสารยังสามารถชมวิวของแม่น้ำเจ้าพระยาได้แบบ 360 องศา บนบริเวณชั้น 2 ของเรืออีกด้วย”

เรือเจ้าพระยาทัวร์ริสท์โบ๊ท  เปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 09.00 – 18.00 ทุกวัน  ให้บริการทุกๆ 30 นาที ระหว่าง 9 ท่าเรือ ได้แก่ ท่าสาทร, ไอคอนสยาม, ล้ง 1919, ราชวงศ์, ยอดพิมาน, วัดอรุณ, ท่ามหาราช, ท่ารถไฟ และท่าพระอาทิตย์  โดยหลัง  16.00 น. จะขยายเส้นไปทางจากท่าสาทรไปถึงเอเชียทีคอีกด้วย

สุภาพรรณ กล่าวว่า  เรือ Catamaran ที่ต่อขึ้นใหม่ 3 ลำ จะพร้อมออกให้บริการลำแรกตั้งแต่เดือนมกราคมนี้เป็นต้นไป ก่อนที่ลำที่ 2 และ 3 จะออกให้บริการในเดือนกุมภาพันธ์ และมีนาคมตามลำดับ โดยเมื่อทั้ง 3 ลำออกให้บริการจะทำให้เรือเจ้าพระยาทัวร์ริสโบ๊ท มีเรือให้บริการรวม  5 ลำ  คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเฉลี่ยประมาณ 3,500 คนต่อวัน

“เรือโดยสารท่องเที่ยวนวัตกรรม Catamaran 2 ชั้นลำแรกในแม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมบริการต่างๆ บนเรือ ถือเป็นการยกระดับการท่องเที่ยวในแม่น้ำเจ้าพระยาสู่ระดับเวิลด์คลาส โดยในอนาคต เราจะมุ่งเน้นการให้บริการที่หลากหลายยิ่งขึ้น อาทิ  การติดเครื่องปรับอากาศในห้องโดยสาร การเชื่อมต่อกับจุดบริการการเดินทางอื่นๆ เช่น ต่อเรือคลองแสนแสบ ต่อรถไฟฟ้า บริการไกด์นำเที่ยวคอยให้ข้อมูลและตอบข้อสงสัยของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติตลอดการเดินทาง  มีระบบเสียงที่คอยแจ้งว่าเรือกำลังจะถึงท่าอะไร และบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ของสถานที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาตามระบบ GPS  รวมถึงการพัฒนาเรือให้มีประสิทธิภาพที่ดีและมีระบบที่พร้อมรองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น เรือไฟฟ้า ต่อไป” สุภาพรรณ กล่าว

เรือเจ้าพระยาทัวร์ริสท์โบ๊ท 1 มีอัตราค่าบริการเที่ยวละ 60 บาท และบัตร One-day River Pass ราคา 200 บาท ไม่จำกัดจำนวนเที่ยว ตั้งแต่เวลา 09.00-18.00 น. ให้บริการในเส้นทางท่าสาทร-ท่าพระอาทิตย์ เวลา 09.00-17.30 น., ท่าพระอาทิตย์-ท่าสาทร เวลา 09.30-18.00 น., ท่าพระอาทิตย์-เอเชียทีค เวลา 16.00-18.00 น. และท่าสาทร-เอเชียทีค เวลา 16.40-18.40 น. และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 เป็นต้นไป จะเปิดจำหน่ายบัตร One-night River Pass ราคา 200 บาท ใช้บริการได้ตั้งแต่เวลา 15.00 – 20 .30 น. และบัตร All Day All Night ราคา 300 บาท สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางตั้งแต่เวลา 9.00 – 20.30 น.