BGC จัดทัพ เดินหน้าเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ชูศักยภาพผู้นำบรรจุภัณฑ์แก้วเอเชีย

4364

บรรจุภัณฑ์แก้ว ถือเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายมาอย่างยาวนาน  โดยเฉพาะในกลุ่มเครื่องดื่มและอาหาร และยังคงเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ได้รับการเชื่อถือมากที่สุด เนื่องจากเป็นบรรจุภัณฑ์ปลอดภัยที่สุดในการบรรจุเครื่องดื่มและอาหาร นอกจากนั้น ยังเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมเนื่องจากสามารถนำไปรีไซเคิลได้ 100% ทำให้ไม่เหลือเป็นภาระต่อสิ่งแวดล้อมเหมือนบรรจุภัณฑ์ชนิดอื่น

ในประเทศไทย ตลาดบรรจุภัณฑ์แก้วมีมูลค่าอยู่ปีละราว 3 หมื่นล้านบาท โดยมีผู้ประกอบการรายใหญ่ที่คนไทยรู้จักกันดีอย่าง บริษัท บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จำกัด (มหาชน) ในเครือบางกอกกล๊าสหรือ BGC ซึ่งเป็นผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วป้อนสู่ตลาดมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2522 หรือกว่า 4 ทศวรรษที่ผ่านมา ด้วยโรงงานผลิตที่จังหวัดปทุมธานี กำลังการผลิต 150 ตันต่อวัน โดยการผลิตส่วนใหญ่เป็นการสนับสนุนให้กับผู้ถือหุ้นใหญ่ในเวลานั้นคือ บุญรอดบริวเวอรี่

ก้าวเดิน 4 ทศวรรษก่อนมาเป็น BGC

ตลอด 40 ปีกว่าที่ผ่านมา บางกอกกล๊าสมีการขยายโรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วมาอย่างต่อเนื่อง จากโรงงานปทุมธานี ในปี พ.ศ. 2539 เปิดโรงงานแห่งที่ 2 ที่จังหวัดระยอง ต่อมาในปี พ.ศ. 2550 เปิดโรงงานแห่งที่ 3 ที่จังหวัดขอนแก่น พร้อมกับโรงงานแห่งที่ 4 ในจังหวัดปราจีนบุรี ถึงปี พ.ศ.2554 โรงงานอยุธยาก็เดินเครื่องเป็นฐานการผลิตแห่งที่ 5

และในปี พ.ศ. 2561 BGC ได้แปรสภาพจากบริษัทจำกัดเป็น บริษัท บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จำกัด (มหาชน) พร้อมที่จะเข้าสู่การเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

 ศิลปรัตน์ วัฒนเกษตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จำกัด (มหาชน) หรือ BGC กล่าวว่า BGC ถือเป็นผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วที่มีฐานการผลิตที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ โดยในปีที่ผ่านมาได้ปิดโรงงานระยอง เพราะเป็นโรงงานเก่าและมีต้นทุนการผลิตสูง แต่ในปีนี้ BGC ได้เตรียมเปิดโรงงานแห่งใหม่ที่จังหวัดราชบุรี ส่งผลให้ BGC จะมีกำลังการผลิตสูงถึง 3,495 ตันต่อวัน สูงสุดในประเทศไทย

ไม่เพียงแต่กำลังการผลิตที่สูงระดับแนวหน้าของประเทศ ด้านมาตรฐานในการผลิตทุกโรงงานของ BGC  มีการใช้เครื่องจักรในการผลิตที่มีเทคโนโลยีที่ดีที่สุดจากเยอรมัน พร้อมกับได้รับมาตรฐานการผลิตจากทุกสถาบัน ทั้ง GMP, HACCP, ISO 9001, ISO 22000 และ FSSC 2200 ทำให้บรรจุภัณฑ์แก้วของ BGC เทียบชั้นระดับโลก สะท้อนได้จากการยอมรับจากผู้ประกอบการเครื่องดื่มและอาหารจากภาคพื้นยุโรป ทั้งสเปน สวิสเซอร์แลนด์ อิตาลี โปรตุเกส รวมถึงแอฟริกาใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เลือกใช้บรรจุภัณฑ์แก้วจาก BGC นอกเหนือจากกลุ่ม CLMV และมาเลเซียที่เป็นตลาดต่างประเทศสำคัญของ BGC

เหตุผลที่บรรจุภัณฑ์แก้วของ BGC สามารถสร้างมาตรฐานเทียบเท่าระดับโลก ศิลปรัตน์กล่าวว่า มาจากคุณภาพใน 3 ส่วนสำคัญ

ส่วนแรก คือ เครื่องมือที่ดี เครื่องจักรที่ดีที่สุดในทุกโรงงาน ทำให้ BGC สามารถสร้างบรรจุภัณฑ์แก้วคุณภาพสูง รวมถึงการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่นการใช้โรบอตแขนกลมาใช้ในการทำความสะอาดแม่พิมพ์บนไลน์การผลิต ยืนยันว่าเครื่องจักรของ BGC ทันสมัยไม่แพ้ชาติใด

ส่วนที่สอง บุคลากรที่ดี ศิลปรัตน์มองว่า การทำบรรจุภัณฑ์แก้วถือเป็นงานศิลปะ ซึ่งคนไทยมีพรสวรรค์ในด้านนี้ คนไทยกับการสร้างงานที่ต้องใช้ความพิถีพิถัน ถือเป็นจุดแข็งที่เหนือกว่าหลาย ๆ ชาติ ทั้งในเอเชียและในยุโรป สะท้อนถึงความละเอียด พิถีพิถันในบรรจุภัณฑ์แก้วจาก BGC

ส่วนที่สาม กระบวนการทำงานที่ดี การเป็นบริษัทที่มีอายุยาวนานกว่า 40 ปี มีการพัฒนากระบวนการ การทำงานมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มต้น ด้วยการมีบริษัทผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจนี้จากต่างชาติเข้ามาเป็นพันธมิตร เรียนรู้โนว์ฮาวระดับโลก มาจนถึงวันนี้มีการเดินทางไปดูงาน พูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้กับบริษัทต่างชาติ เรียนรู้เทคโนโลยีการผลิตใหม่ ๆ สร้างกระบวนการทำงานของ BGC ให้เข้มเข็งมาโดยตลอด

ขณะที่การก้าวเข้ามารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของ ศิลปรัตน์ วัฒนเกษตร นักการตลาดประสบการณ์สูงจากยูนิลีเวอร์เมื่อปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงเป้าหมายของ BGC ที่จะเปลี่ยนแนวทางการทำธุรกิจ จากการใช้การผลิตเป็นตัวนำ สู่การใช้การตลาดและการขายในการเดินนำ

ศิลปรัตน์กล่าวว่า ตลาดบรรจุภัณฑ์ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจในรูปแบบ B2B หรือการขายระหว่างธุรกิจกับธุรกิจ เน้นการผลิตตามความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก ไม่มีการสร้างแบรนด์ ซึ่งเมื่อตนเข้ามาบริหาร จะนำการตลาดและการขายเข้ามาช่วยให้บรรจุภัณฑ์แก้วของ BGC จำหน่ายได้มากขึ้นด้วยราคาดีขึ้น และสามารถสร้างกำไรมากขึ้น รวมถึงการสร้างแบรนด์ BGC ให้เป็นที่จดจำ และทำให้ลูกค้าเลือกใช้ด้วยคุณภาพ ไม่ได้มองที่ราคาเพียงอย่างเดียว

เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เสริมความแข็งแกร่งจากธุรกิจเกี่ยวเนื่อง

ศิลปรัตน์กล่าวถึงเหตุผลในการนำ BGC เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า แน่นอนว่าเรื่องการระดมทุนเป็นเรื่องสำคัญ เพราะการใช้เงินทุนที่หลากหลายช่องทางจะช่วยกระจายความเสี่ยงกว่าการมุ่งไปที่แหล่งทุนเดียวอย่างการกู้เงินธนาคาร

แต่สิ่งที่สำคัญอีกส่วนคือ วิธีการทำงาน Process และ Policy ที่ตนมองว่า การเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเป็นการกำหนดกรอบที่เข้มงวดขึ้น เช่น การทำ CG- Corporate Governance ที่แม้ BGC มีการทำงานที่อยู่ในกฎระเบียบอยู่แล้ว แต่สิ่งเหล่านี้ไม่มีคำว่าดีที่สุด ต้องหาทางทำให้ดีขึ้นไปอีก เช่น ระบบการควบคุมคุณภาพ มีการกำหนดเป็นกระบวนการที่แน่นหนาขึ้น การใช้จ่ายเงินจะมีรูปแบบใหม่ ๆ เข้ามา ทำให้บริษัทฯ ใช้จ่ายรัดกุมขึ้น ส่งผลถึงการลดต้นทุนการบริหารงานได้มากขึ้นและมีประสิทธิภาพสูงขึ้น

โดยภายหลังจากการนำ BGC เข้าจดทะเบียนและระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นที่เรียบร้อย เป้าหมายการเติบโตของ BGC ต่อจากนั้น ศิลปรัตน์ได้กำหนดว่าจะมาทั้งจากการเติบโตต่อไปในธุรกิจบรรจุภัณฑ์แก้วและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับบรรจุภัณฑ์