กนอ. ผนึกภาคเอกชนจัดตั้ง “นิคมอุตสาหกรรมบ่อทอง 33” จังหวัดปราจีนบุรี บนพื้นที่ 1.7 พันไร่ รองรับอุตสาหกรรมหลากหลายประเภท ทั้งอิเล็กทรอนิกส์-เครื่องใช้ไฟฟ้า-ยานยนต์และชิ้นส่วน-แปรรูปเกษตร เชื่อมโยงเขต EEC– ชายแดนไทย-กัมพูชา คาดว่าจะก่อให้เกิดการลงทุนมูลค่าเงินลงทุนไม่น้อยกว่า 4.9 หมื่นล้าน
นางสุวัฒนา กมลวัทนนิศา รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทย (สายงานยุทธศาสตร์และพัฒนา) บอกว่า กนอ. ได้เตรียมจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในลักษณะร่วมดำเนินงานกับบริษัท บ่อทองอินดัสทรี เทคโนโลยี จำกัด ภายใต้ชื่อนิคมอุตสาหกรรมบ่อทอง 33 ในอำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ภายใต้การลงทุน 1,710.52 ล้านบาท
โดยนิคมฯ ดังกล่าวครอบคลุมพื้นที่ 1,746 ไร่ สามารถเชื่อมโยงพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว และพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เป็นเขตเศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียนเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมและกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) พร้อมเป็นฐานการผลิตและการดึงดูดการลงทุน
นอกจากนี้ นิคมฯ ดังกล่าว ยังอยู่ใกล้ศูนย์กลางคมนาคมหลักของประเทศ พร้อมทั้งยังมีโครงสร้าง พื้นฐานต่างๆ ที่เอื้อต่อการประกอบอุตสาหกรรม ได้แก่ ท่าเรือพาณิชย์แหลมฉบัง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ห่างจากชายแดนไทย-กัมพูชา (ด่านปอยเปต) แค่ประมาณ 87 กิโลเมตร มีระบบถนนที่สามารถเชื่อมโยงไปยังนิคมฯ อื่นๆ ได้อย่างสะดวก เช่น นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค เขตอุตสาหกรรมกบินทร์บุรี และสวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์
“สุวัฒนา” กล่าวต่อไปอีกว่า โครงการดังกล่าวจะถูกพัฒนาให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมเพื่อรองรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วน อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมแปรรูปเกษตร อุตสาหกรรรมผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ และอุตสาหกรรมการเบา เช่น เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ พร้อมนำแนวคิดนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Estate) ที่มีการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่ปฏิบัติการตามกฎหมาย/มาตรฐานสากล
อาทิ การจัดให้มีพื้นที่สีเขียวและพื้นที่แนวกันชนเชิงนิเวศ (Eco-Belt) รอบพื้นที่โครงการฯ การออกแบบระบบ Reclaimed Water System เพื่อนำน้ำทิ้งที่ผ่านการบำบัดแล้วกลับมาปรับปรุงคุณภาพน้ำและนำกลับไปใช้ในกระบวนการผลิตน้ำประปาในการผลิตอีกครั้ง รวมทั้งมีนโยบายส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมรับคนงานในพื้นที่เข้าทำงาน เพื่อให้ประชาชนในท้องถิ่นมีงานทำและมีรายได้เพิ่มขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจชุมชน โดยรวมดีขึ้น
นางสุวัฒนา กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมบ่อทอง 33 จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อจังหวัดปราจีนบุรี ในการควบคุมดูแลการใช้ประโยชน์ที่ดินให้สอดคล้องกับนโยบายของจังหวัดตามกฎหมายผังเมือง เพื่อไม่ให้เกิดการกระจัดกระจายของภาคอุตสาหกรรมและการกำกับดูแลการประกอบกิจการโรงงานให้มีการเติบโตในพื้นที่ที่ได้จัดเตรียมไว้ ทั้งนี้ คาดว่าจะก่อให้เกิดการลงทุนมูลค่าเงินลงทุนไม่น้อยกว่า 49,456 ล้านบาท และเกิดการจ้างงานไม่น้อยกว่า 11,240 คน และคาดว่าสำหรับในการพัฒนาพื้นที่ในเฟสแรกจะแล้วเสร็จภายใน 2 ปี และพร้อมรองรับการลงทุนต่อไป