‘ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล’ รุกขยายพอร์ตกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสมดุลตามอายุ

1241

นางปาจรีย์ บุณยัษฐิติ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานพัฒนาธุรกิจ ธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนส่วนบุคคล บริษัทหลักทรัพย์กองทุน ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล จำกัด เปิดเผยในงานเสวนา The Retirement Plan Symposium ครั้งที่ 4 ‘Smart Retirement ยุค Thailand 4.0’ ว่า ได้เพิ่มศักยภาพการให้บริการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund หรือ PVD) เพื่อขยายฐานลูกค้าและสร้างความแตกต่างจากบลจ.รายอื่นๆ โดยคาดว่าภายในเดือนกรกฎาคมนี้จะเปิดตัวบริการใหม่ผ่านทางเว็บไซต์ของ บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล ได้แก่

1.การให้บริการติดตามความก้าวหน้าของผลการดำเนินงานกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่อให้สมาชิกกองทุนฯ พิจารณาปรับแผนลงทุนที่เหมาะสมกับเป้าหมายการออมเงินเพื่อการเกษียณ

2.การให้บริการ Online Retirement Planner สำหรับคำนวณเงินที่จะได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเมื่อเกษียณอายุแล้ว ซึ่งตามหลักควรมีเงินไว้ใช้จ่ายหลังเกษียณได้อีกไม่น้อยกว่า 20 ปี ในอัตราเฉลี่ยต่อเดือนไม่ต่ำกว่า 50% ของเงินเดือนในเดือนสุดท้ายก่อนเกษียณ

3.การเปิดตัวเว็บไซต์ บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิลโฉมใหม่ ที่ใช้งานได้ง่ายขึ้น เช่น สามารถเพิ่มข้อมูลเกี่ยวกับเงินออมในกองทุนประกันสังคม ข้อมูลการซื้อกองทุน LTF RMF ฯลฯ เพื่อคำนวณเงินออมสำหรับการเกษียณอายุทั้งหมด

ปาจรีย์ บุณยัษฐิติ

ทั้งนี้ บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล ให้ความสำคัญการให้บริการด้านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในทุกขั้นตอน ตั้งแต่ขั้นตอนก่อนการลงทุน (PRE-INVESTMENT) โดยจะเข้าไปให้คำปรึกษาแก่นายจ้างในการจัดตั้งคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ การออกแบบแผนการลงทุนให้แก่ลูกจ้าง การจัดอบรมให้ความรู้แก่ลูกจ้างที่เป็นสมาชิกของกองทุนฯ ซึ่งในปีนี้มีการอบรมไปแล้วกว่า 160 ครั้ง ส่วนขั้นตอนของการลงทุน (INVESTMENT) บลจ.ซีไอเอ็มบีฯ จะยึดหลักการบริหารเงินและความเสี่ยงอย่างระมัดระวัง และในขั้นตอนหลังการลงทุน (POST-INVESTMENT) จะเน้นการให้บริการแก่สมาชิกกองทุนสามารถติดตามความคืบหน้าของผลการดำเนินงาน เพื่อปรับเปลี่ยนแผนการลงทุน หรืออัตราเงินสะสมให้สามารถบรรลุเป้าหมายในวัยเกษียณ

“เรามีเป้าหมายขยายพอร์ตมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแบบสมดุลตามอายุ หรือ Target Date Fund ที่มีจุดเด่นด้านการปรับเปลี่ยนพอร์ตการลงทุนระยะยาวให้เหมาะสมกับช่วงอายุของสมาชิกโดยอัตโนมัติ เพิ่มเป็น 6,000 ล้านบาทภายในปีนี้ หรือเติบโต 50% จากสิ้นปีที่ผ่านมาที่มีมูลค่า NAV ประมาณ 4,000 ล้านบาท โดยคาดว่าในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้จะทำได้ตามเป้าหมาย เนื่องจากปัจจุบันยังมีลูกจ้างของบริษัทเอกชนอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ อย่างไรก็ตาม สำหรับลูกจ้างที่เป็นสมาชิกกองทุนฯ เราพบว่าบางส่วนยังไม่มีการติดตามผลการดำเนินงานอย่างจริงจัง เพื่อวางแผนปรับเปลี่ยนแผนการลงทุนและอัตราการจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนฯ ที่เหมาะสมและบรรลุเป้าหมายการออมเงินไว้ใช้จ่ายหลังเกษียณอย่างเพียงพอ” นางปาจรีย์ กล่าว