กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund หรือ IFF) จัดเป็นช่องทางหนึ่งในการระดมทุนผ่านตลาดทุนและทางเลือกในการลงทุนของนักลงทุน โดยเป็นกองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นเพื่อระดมทุนจากนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายย่อยทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อนำเงินมาลงทุนในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะในวงกว้างของประเทศไทย โดยทรัพย์สินเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนที่ใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง ทำให้การระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานจึงเป็นทางเลือกในการระดมทุนของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการที่จะพัฒนากิจการโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ได้ อีกทั้ง ยังเป็นการลดปัญหาการลงทุนซ้ำซ้อน เนื่องจากทรัพย์สินโครงสร้างพื้นฐานหลายประเภทสามารถนำออกให้ผู้ประกอบการรายอื่นเช่าใช้ร่วมกันได้ (Infrastructure Sharing)
กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล หรือ ดีไอเอฟ (DIF) (ชื่อเดิม: กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ทรูโกรท หรือ ทรูจีไอเอฟ (TRUEGIF)) เป็นกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมที่จัดตั้งขึ้นเป็นรายแรกและใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยหน่วยลงทุนของกองทุน DIF เริ่มทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2556
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด ในฐานะบริษัทจัดการของกองทุน DIF ได้เล็งเห็นถึงโอกาสในการลงทุนในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานเพื่อนำไปจัดหาผลประโยชน์จากการนำทรัพย์สินออกให้เช่าแก่ผู้เช่ารายใหม่ เพื่อรองรับการขยายเครือข่ายโทรคมนาคมของผู้ประกอบการให้มีความครอบคลุมและมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้นเพื่อตอบสนองการเติบโตของการใช้งานในโทรศัพท์เคลื่อนที่และระบบอินเทอร์เน็ตของผู้คนในประเทศที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่และบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต
ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2557 กองทุน DIF ได้ประสบความสำเร็จในการให้หนึ่งในผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายใหญ่ของประเทศไทย นอกจากกลุ่มทรูซึ่งเป็นผู้เช่าหลักของกองทุน DIF เช่าพื้นที่บนเสาโทรคมนาคมของกองทุน DIF จากการที่ผู้ประกอบการโทรคมนาคมรายดังกล่าวได้เล็งเห็นถึงประโยชน์ของการใช้โครงข่ายร่วมกัน เพื่อลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อน และลดต้นทุนในการบริหารจัดการ
ตลอดระยะเวลากว่า 4 ปีนับจากกองทุน DIF ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อปลายปี 2556 ด้วยราคา IPO ที่ 10 บาท ก็ได้รับความสนใจจากนักลงทุนจำนวนมากที่มั่นใจในกองทุน DIF โดยราคาหน่วยลงทุนมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบัน (ณ วันที่ 30 มี.ค. 2561) ราคาหน่วยลงทุนของกองทุน DIF อยู่ที่ 14.60 บาทต่อหน่วยลงทุน และการจ่ายเงินปันผลต่อหน่วยลงทุนได้เติบโตมาตลอดตั้งแต่จัดตั้งกองทุน DIF โดยตั้งแต่ปี 2557 – 2560 กองทุน DIF ได้ประกาศจ่ายเงินปันผลต่อหน่วยลงทุนที่ 0.938 0.946 0.956 และ 0.975 บาทต่อหน่วย ตามลำดับ
ในช่วงที่ผ่านมา บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด ในฐานะบริษัทจัดการของกองทุน DIF ได้เล็งเห็นถึงโอกาสในการเติบโตจากการนำทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานของกองทุน DIF ไปจัดหาผลประโยชน์ ซึ่งในปัจจุบัน ภาครัฐมีแผนเปิดประมูลคลื่นความถี่ที่จะเกิดขึ้นอีกหลายคลื่นนับจากปีนี้
ทั้งนี้ กองทุน DIF จะเข้าลงทุนในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพิ่มเติม ครั้งที่ 3 เพื่อให้ทรัพย์สินของกองทุน DIF มีความหลากหลายทั้งในด้านการใช้งานและการให้บริการที่ครอบคลุมทั่วประเทศไทย อีกทั้ง จะทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น จึงนับว่ากองทุน DIF อยู่ในสถานะที่ดีในการสร้างการเติบโตของกองทุนในอนาคต
ปัจจุบันกองทุน DIF มีทรัพย์สินโทรคมนาคม ประกอบด้วย
- เสาโทรคมนาคม จำนวน 12,682 เสา
- ใยแก้วนำแสง ระยะทาง 1,366,582 คอร์กิโลเมตร และอุปกรณ์สื่อสัญญาณจำนวน 9,169 ลิงค์ และ
- ระบบบรอดแบนด์ในเขตพื้นที่ต่างจังหวัด จำนวน 1.2 ล้านพอร์ต ครอบคลุมใยแก้วนำแสง ระยะทาง 198,085 คอร์กิโลเมตร
ขณะที่การลงทุนในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพิ่มเติม ครั้งที่ 3 ซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นในปีนี้มีทรัพย์สินที่จะเพิ่มเติมเข้ามาประกอบด้วย
- เสาโทรคมนาคม จำนวน 2,589 เสา
- ใยแก้วนำแสงและอุปกรณ์ระบบสื่อสัญญาณประมาณ 1,210,291 คอร์กิโลเมตร
ทำให้ภายหลังจากการลงทุนเพิ่มเติม ครั้งที่ 3 กองทุน DIF จะมีทรัพย์สินโทรคมนาคม ประกอบด้วย เสาโทรคมนาคม รวมทั้งสิ้น 15,271 เสา และใยแก้วนำแสง ระยะทาง 2,576,873 คอร์กิโลเมตร และอุปกรณ์สื่อสัญญาณ จำนวน 9,169 ลิงค์ และระบบบรอดแบนด์ในเขตพื้นที่ต่างจังหวัด จำนวน 1.2 ล้านพอร์ต ครอบคลุมใยแก้วนำแสง ระยะทาง 198,085 คอร์กิโลเมตร
การลงทุนในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพิ่มเติม ครั้งที่ 3 ของกองทุน DIF จะเป็นการลงทุนโดยการเพิ่มทุนจดทะเบียนไม่เกิน 38,310 ล้านบาท (คำนวณจากมูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หน่วยละ 10 บาท) โดยการออกและเสนอขายหน่วยลงทุนใหม่ในจำนวนรวมไม่เกิน 3,831 ล้านหน่วย และการกู้ยืมเงินจำนวนไม่เกิน 2,000 ล้านบาท
ในการออกและเสนอขายหน่วยลงทุนใหม่ดังกล่าว กองทุน DIF จะจัดสรรหน่วยลงทุนใหม่เพื่อเสนอขายให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนเดิมที่มีรายชื่อปรากฏในสมุดทะเบียนผู้ถือหน่วยลงทุนซึ่งไม่ใช่บุคคลอเมริกัน (US Person) โดยผู้ถือหน่วยลงทุนเดิมที่มีสิทธิจะมีสิทธิในการจองซื้อหน่วยลงทุนใหม่ในอัตราส่วนเท่ากับ 2.0911 หน่วยลงทุนเดิม ต่อ 1 หน่วยลงทุนใหม่ และจะทำให้การจัดสรรหน่วยลงทุนใหม่ให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนเดิมที่มีสิทธิคิดเป็นสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนหน่วยลงทุนใหม่ทั้งหมด
ขณะที่ หน่วยลงทุนใหม่ที่เหลือหรือไม่ได้ถูกจัดสรรให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนเดิมที่มีสิทธิ จะมีการแบ่งการจัดสรรให้แก่นักลงทุนประเภทต่าง ๆ ตามที่จะได้กำหนดในหนังสือชี้ชวนต่อไป ซึ่งเป็นไปตามมติของที่ประชุมผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุน DIF โดยกำหนดวันกำหนดรายชื่อผู้ถือหน่วยลงทุนเดิมที่มีสิทธิจองซื้อหน่วยลงทุนใหม่ในการเพิ่มทุนของกองทุนดังกล่าว (Record Date) ในวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2561 และจะมีการแจ้งช่วงราคาเสนอขายหน่วยลงทุนใหม่ (Offering Price Range) และวิธีการจองซื้อหน่วยลงทุนใหม่ให้ทราบต่อไป โดยจะแจ้งให้ทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 2 วันทำการก่อนวันขึ้นเครื่องหมายเพื่อกำหนดรายชื่อผู้ถือหน่วยลงทุนเดิมที่มีสิทธิจองซื้อหน่วยลงทุนใหม่ดังกล่าว
ทั้งนี้ ภายหลังการลงทุนเพิ่มเติมครั้งที่ 3 กองทุน DIF จะมีศักยภาพที่เพิ่มมากขึ้นจากการขยายทรัพย์สินโครงข่ายโทรคมนาคม เพื่อรองรับโอกาสการเติบโตของระบบโทรคมนาคมที่จะเข้าสู่ยุค Thailand 4.0 ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมดิจิทัลอย่างเต็มตัว และเพื่อเพิ่มโอกาสในการทำให้ผลประกอบการของกองทุนเติบโตขึ้น รวมถึงผลตอบแทนของเงินปันผลต่อผู้ถือหน่วยลงทุนที่เพิ่มมากขึ้น
โดยภายหลังการลงทุนเพิ่มเติมครั้งที่ 3 กองทุน DIF คาดการณ์ว่าจะสามารถจ่ายเงินปันผลต่อหน่วยลงทุนไม่น้อยกว่า 1.04 บาท ในช่วงระยะเวลาประมาณการณ์ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2561 – 30 มิถุนายน 2562
คำเตือน
การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน