โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี (Eastern Economic Corridor : EEC) เป็นหนึ่งในแผนที่รัฐบาลจะใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นความคิดต่อยอดมาจากโครงการ “อีสเทิร์นซีบอร์ด” หรือโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2525 เพื่อดึงดูดนักลงทุนและเปลี่ยนพื้นที่จังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา จากพื้นที่เกษตรกรรมและประมงสู่พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเต็มรูปแบบ
ถ้าทำสำเร็จตามเป้าประเทศไทยจะกลับมารุ่งโรจน์โชติช่วงชัชวาลอีกครั้ง หรือว่าจะเป็นเพียงแค่โครงการขายฝันของรัฐบาลตามที่สื่อหลายสำนักวิเคราะห์ไว้หรือไม่ www.362degree.com ได้มอนิเตอร์ความคืบหน้าหลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบหลักการให้ดำเนินโครงการมาให้ได้อ่านกัน
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี 2 หัวเรือใหญ่ ในการขับเคลื่อนโครงการอีอีซี
3 ภารกิจหลัก “อีอีซี”
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้พูดถึงภารกิจหลักของอีอีซีว่า แบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ประกอบด้วย 1. ยกระดับความสำคัญของประเทศไทยในเอเชีย โดยตั้งเป้าหมายเป็นฐานเชื่อมโยงกลุ่มประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม หรือ CLMV
รวมทั้งให้เป็นฐานการผลิตและบริการชั้นนำของเอเชียด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย และทำให้กรุงเทพฯ และอีอีซีเชื่อมต่อเป็นเขตเมืองที่อยู่อาศัยที่น่าอยู่ระดับแนวหน้าของเอเชียให้ได้
2.ผลักดันการปรับโครงสร้างประเทศสู่ไทยแลนด์ 4.0 โดยการทำให้ประเทศไทยพ้นจากกับดักอัตรารายได้ของประชากรชั้นกลาง ภายใน 15 ปี ด้วยการลงทุนอย่างเต็มประสิทธิภาพ เต็มรูปแบบนโยบายประชารัฐ ซึ่งต้องเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทุกกิจการ ทั้งเกษตร อุตสาหกรรม บริการ และท่องเที่ยว
รวมถึงสร้างคนไทย 4.0 ด้วยการหลอมรวมการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ การผลิตใหม่ และธุรกิจแบบใหม่ๆ
และ 3. ต้องสร้างประโยชน์ให้ประชาชนในพื้นที่ ยกระดับรายได้ของครัวเรือนสู่กลุ่มรายได้ระดับสูง สร้างงานคุณภาพกว่า 100,000 ตำแหน่งต่อปี และให้มีโรงเรียน โรงพยาบาลระดับนานาชาติที่ประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้ง่าย
พร้อมกับดูแลสิ่งแวดล้อมระดับสากลด้วยการผลิตสมัยใหม่ และมีกองทุนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก เพื่อพัฒนาท้องถิ่นและชุมชน
หนุน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย
โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี ออกแบบมาเพื่อรองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยแบ่งเป็น 5 อุตสาหกรรมดั้งเดิม และ 5 อุตสาหกรรมใหม่
โดย 5 อุตสาหกรรมดั้งเดิม ประกอบด้วย 1. อุตสาหกรรมยานยนต์ (Next-Generation Automotive) สนับสนุนการพัฒนาเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า 2. อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Intelligent Electronics) การผลิตระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในยานยนต์ อุปกรณ์โทรคมนาคม รวมถึงการออกแบบที่อยู่อาศัยอัจฉริยะ ซึ่งเชื่อมต่อกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
3.การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพระดับสูง (Advance Agriculture and Biotechnology) เทคโนโลยีการเกษตรขั้นสูงที่มีการใช้เทคนิคการวิเคราะห์ข้อมูลการวิจัยและการลงทุนทางเทคโนโลยีชีวภาพ เพื่อปรับปรุงพันธุ์พืชและสัตว์ 4. อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร (Food Processing) การวิจัยและผลิตอาหารเพื่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปที่ใช้โปรตีนทางเลือก เช่น โปรตีนเกษตร
และ 5. อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Tourism) จัดระเบียบและส่งเสริมกิจกรรมหลากหลายตามสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ สนับสนุนธุรกิจการฟื้นฟูทางการแพทย์และศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพ ส่งเสริมศูนย์การแสดงสินค้าและนิทรรศการระดับนานาชาติ
ส่วน 5 อุตสาหกรรมใหม่ ซึ่งภาครัฐคาดหวังให้เป็นแรงขับเคลื่อนใหม่ให้กับเศรษฐกิจไทย ประกอบด้วย 1. หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรมและชีวิตประจำวัน (Advance Robotics) เช่น หุ่นยนต์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน อาทิ การดำน้ำและการแพทย์ 2. อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation and Logistics) การพัฒนาศูนย์ซ่อมอากาศยานและฝึกอบรม ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางทางการบินของเอเชีย
3.อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) มีโรงพยาบาลที่ทันสมัย การลงทุนในการผลิตยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมถึงการรักษาโรคทางไกลผ่านอินเทอร์เน็ต/สมาร์ทโฟน
4.อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Biofuels and Biochemical) ตั้งเป้าใช้จุดแข็งด้านการเกษตรใหญ่ที่สุดในอาเซียน พัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมเคมีชีวภาพ เช่น ใช้ไบโอพลาสติกในการหีบห่อเพื่อการส่งออก
และ 5. อุตสาหกรรมดิจิทัล เช่น E-commerce, Digital Content, Data Center, Cloud Computing
ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
แผน 5 ปี ลงทุน 1.5 ล้านล้าน
“ดร.อุตตม สาวนายน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่าโครงการอีอีซีถือเป็นจุดเริ่มต้นการผลักดันไทยแลนด์ 4.0 แบบก้าวกระโดด เพราะประเทศไทยไม่มีโครงการขนาดใหญ่มากว่าสามสิบปีแล้ว ดังนั้นอีอีซีจึงเป็นแม่เหล็กสำคัญที่จะดึงดูดนักลงทุนทุกมุมโลกให้กลับมาประเทศไทยอีกครั้ง
เรียกว่า เป็นจุดเริ่มต้นของการลงทุนสร้างสิ่งใหม่ และสร้างรากฐานความเจริญใหม่ให้กับพื้นที่และกับประเทศ
สำหรับแผนการลงทุนของรัฐบาลตามกรอบการลงทุนรวมของภาครัฐและเอกชน ระยะเวลา 5 ปี (2560-2564) มีมูลค่ารวมกว่า 1.5 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนในส่วนของภาครัฐไม่เกิน 3 แสนล้านบาท ภาคเอกชน 5 แสนล้านบาท ส่วนที่เหลืออีกจะเป็นการร่วมทุนของภาครัฐกับเอกชนอีกราว 7 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่จะเป็นการร่วมลงทุนก่อสร้างท่าเรือ สนามบิน และรถไฟ อาทิ
– โครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ 3 เส้นทาง ได้แก่ กรุงเทพฯ-ชลบุรี, พัทยา-มาบตาพุด และแหลมฉบัง-นครราชสีมา วงเงิน 3.53 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะเปิดใช้ได้ภายในปี 2562
– โครงการรถไฟทางคู่ (ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย) วงเงิน 6.43 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2562
– โครงการก่อสร้างสถานีรถไฟอู่ตะเภา ตั้งเป้าเชื่อมโยง 3 สนามบิน คือ ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ด้วยงบประมาณกว่า 3 แสนล้านบาท คาดว่าเริ่มก่อสร้างปลายปี 2561 แล้วเสร็จพร้อมเปิดบริการกลางปี 2566
– โครงการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภา ให้เป็นสนามบินเชิงพาณิชย์แห่งที่ 3 วงเงิน 2.15 แสนล้านบาท แบ่งการก่อสร้างเป็น 3 ระยะ (ยังไม่ระบุเวลาแล้วเสร็จ)
– โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง (ระยะที่ 3) ให้สามารถรองรับตู้สินค้า 18 ล้านตู้ต่อปี รองรับรถยนต์ผ่านท่า 2.95 ล้านคันต่อปี วงเงิน 8.8 หมื่นล้านบาท (ยังไม่ระบุเวลาแล้วเสร็จ)
– โครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด (ระยะที่ 3) รองรับสินค้าเหลว ก๊าซ ฯลฯ และพื้นที่ถมทะเล วงเงิน 1.015 หมื่นล้านบาท คาดว่าเริ่มใช้งานได้ปี 2564 เป็นต้น
คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก
ก้าวแรกปี’60 มีมูลค่าลงทุนกว่า 1 แสนล้านบาท
นับเป็นเวลากว่า 1 ปีแล้วที่รัฐบาลได้ขับเคลื่อนโครงการอีอีซี ปัจจุบันมีความคืบหน้าและชัดเจนขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาทิ ความคืบหน้าในการจัดทำพระราชบัญญัติ หรือ พ.ร.บ. อีอีซี ที่คาดว่าน่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 1 ของปี 2561
เช่นเดียวกับมาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซี ซึ่งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ก็ได้ให้การส่งเสริมการลงทุนในโครงการพัฒนาพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นกิจการสาธารณูปโภคพื้นฐานและโลจิสติกส์ การบริการ การสนับสนุนทางด้านเทคโนโลยี และการวิจัยและพัฒนา
โดยล่าสุด บีโอไอได้ขยายเวลาและปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ อีอีซีใหม่ ด้วยการกำหนดเป็นเขตส่งเสริมพิเศษเฉพาะทางในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ประกอบด้วย 1. เมืองการบินภาคตะวันออก (Eastern Airport City หรือ EEC-A) ได้แก่ สนามบินอู่ตะเภา ในประเภท หรือกิจการขนส่งทางอากาศหรือกิจการนิคม/เขตอุตสาหกรรมอากาศยาน/อวกาศ
2.เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation หรือ EECi) และ 3. เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (Digital Park Thailand หรือ EECd)
เขตส่งเสริมพิเศษเฉพาะทางใหม่ทั้ง 3 เขตนี้ ผู้ขอรับการส่งเสริมจะได้รับด้วยการให้สิทธิประโยชน์และการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 ของอัตราปกติเป็นระยะเวลา 5 ปี เป็นการเพิ่มเติม โดยให้นับตั้งแต่วันที่ระยะเวลาการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสิ้นสุดลงตามเกณฑ์ปกติ
“คณิศ แสงสุพรรณ” เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กนศ.) ให้สัมภาษณ์ว่าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เมื่อ 22 พฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมา ได้รับทราบมูลค่าการลงทุนในพื้นที่อีอีซีในปี 2560 ตั้งแต่เดือนมกราคม-กันยายน 2560 ว่ามีมูลค่ารวมแล้ว 104,164 ล้านบาท
โดยในจำนวนนี้เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ไทยต้องการให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนประมาณ 6.78 หมื่นล้านบาท พร้อมยังคาดการณ์ด้วยว่าตลอดทั้งปี 2560 นั้นจะมีการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายในอีอีซีจะมีมูลค่ารวมไม่ต่ำกว่า 7 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ จากรายงานของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พบว่า ตัวเลขการขอรับส่งเสริมการลงทุนใน 3 จังหวัดเป้าหมาย (ฉะเชิงเทรา-ชลบุรี-ระยอง) ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560 (มกราคม-กันยายน) มีทั้งสิ้น 229 โครงการ มีมูลค่าเงินลงทุน 104,164 ล้านบาท หรือคิดเป็น 27.7% ของเงินลงทุนทั้งหมดที่ขอรับการส่งเสริม และในจำนวนนี้เป็นโครงการลงทุนที่อยู่ในพื้นที่ EEC จำนวน 88 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุน 56,855 ล้านบาท
ราคาที่ดินพุ่งนำหน้า-แตะไร่ละ 100 ล้านบาท
ทันที่รัฐบาลเริ่มเดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งบก-ราง-น้ำ-อากาศ ในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ก็พบว่ากลุ่มทุนทั้งไทยและต่างชาติแห่เข้าปักธงในพื้นที่ ทั้งญี่ปุ่น จีน ฯลฯ ได้ส่งผลให้ราคาที่ดิน 3 จังหวัดเป้าหมายพุ่งกระฉูดขึ้นไปดักรอทันที
“สุนทร ธัญญวัฒนกุล” ประธานหอการค้า จังหวัดชลบุรีเคยให้สัมภาษณ์ว่า ที่ผ่านมามีนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติติดต่อหอการค้าช่วยหาที่ดินเพื่อนำมาพัฒนาทำโครงการ ทั้งที่อยู่อาศัยประเภทบ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม นิคมอุตสาหกรรม โรงแรม ฯลฯ เพื่อรองรับโครงการอีอีซีของรัฐบาล โดยเฉพาะในโซนศรีราชา ถนนสุขุมวิท ที่ติดทะเล ส่งผลให้ราคาที่ดินซื้อขายปี 2560 ขยับขึ้นเป็นไร่ละ 100 ล้านบาท เทียบจากต้นปี 2559 ที่ดินทำเลเดียวกันราคาขายกันอยู่ที่ไร่ละ 40 ล้านบาท
เช่นเดียวกับ “ณัฏฐนันท์ คุณาจิระกุล” นายกสมาคมการค้าอสังหาริมทรัพย์ จังหวัดระยอง ที่บอกว่า ผลจากโครงการอีอีซีทำให้ราคาที่ดินในจังหวัดระยองก้าวกระโดดจากราคา 5 ล้านบาทต่อไร่ ช่วงก่อนรัฐบาลประกาศเขตอีอีซีเป็น 20 ล้านบาทต่อไร่ (ทำเลทางหลวงหมายเลข 36 ซึ่งเป็นถนนสายรอง) ส่วนถนนสายหลักติดถนนสุขุมวิท จากเดิมไร่ละ 15 ล้านบาทได้ขยับเป็นไร่ละ 40 ล้านบาท หรือหากอยู่ในพิกัดสถานีรถไฟความเร็วสูง ราคาที่ดินจะขยับอีก 20%
ส่วนในโซนเมืองพัทยา “วสันต์ คงจันทร์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท โมเดอร์น พร็อพเพอร์ตี้ คอนซัลแตนท์ จำกัด บอกว่า ขณะนี้ราคาที่ดินพัทยาพุ่งไปแตะที่ 1 ล้านบาทต่อตารางวา หรือไร่ละ 400 ล้านบาทแล้วจากเดิมที่ทำเลใกล้ทะเลจะซื้อขายกันอยู่ที่ประมาณ 5 แสนบาทต่อตารางวาเท่านั้น
ลุ้นคลอดพ.ร.บ. อีอีซี
รัฐบาลไทยได้วางกฎหมายสำคัญ 3 ฉบับ เพื่อสนับสนุนการลงทุนเอกชน ได้แก่ การแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมการลงทุน โดยมอบสิทธิพิเศษยกเว้นภาษีนิติบุคคล ไม่เกิน 13 ปี จากเดิม 8 ปี, พ.ร.บ.กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยยกเว้นภาษีนิติบุคคลไม่เกิด 15 ปี รวมทั้งมีกองทุนเพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ ทั้งการช่วยเหลือดอกเบี้ยเงินกู้ และเงินทุนสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา
และพ.ร.บ.พัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. ….หรือ พ.ร.บ.อีอีซี โดยมีแผนการลงทุนที่ต้องดำเนินการ รัฐลงทุน รัฐร่วมเอกชน รัฐให้เอกชนลงทุน และมีสิทธิประโยชน์จูงใจการลงทุนได้เต็มตามที่สำนักส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ ได้เต็มที่ตามกองทุนเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน สิทธิประโยชน์การพัฒนาเมือง โรงพยาบาล โรงเรียนนานาชาติ ที่อยู่อาศัย การเช่าที่ดินราชพัสดุระยะยาว 99 ปี (50+49 ปี)
โดยคาดการณ์ว่าในปี 2561 นี้ พ.ร.บ.พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.… จะมีความคืบหน้าและชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งในช่วงปลายปี 2560 ที่ผ่านมายังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมาธิการในวาระ 1 และคาดว่าจะใช้เวลาพิจารณาราว 3 เดือน
หากเป็นไปตามแผนที่วางไว้ว่าจะสามารถประกาศใช้ได้ในช่วงปลายไตรมาส 1 ของปี 2561 นี้ ก็จะยิ่งสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนได้ดียิ่งขึ้น และเชื่อว่าจะเริ่มเห็นการลงทุนจากอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ การบิน หุ่นยนต์ เทคโนโลยีชีวภาพ ยาและเครื่องมือแพทย์ ได้ภายในไตรมาส 2 ของปี 2561 นี้เป็นต้นไป โดยเฉพาะภาพของการลงทุนของบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่
ปี 2561 นี้จึงเป็นปีที่โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี จะมีความคืบหน้าและชัดเจนอย่างมาก ส่วนจะเป็นโครงการที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ตามที่รัฐบาลคาดหวังได้มากแค่ไหนนั้น คนไทยยังคงต้องลุ้นกันต่อไป …
ขอบคุณภาพจาก : salika, srirachapost.com, logisticstime