“ช้อปช่วยชาติ” มาตรการนี้เพื่อใคร?…“ได้คุ้มเสีย” หรือไม่?

2866

หลังจากที่ลุ้นกันมาพักใหญ่ว่าทางกระทรวงการคลังจะชงมาตรการ “ช้อปช่วยชาติ” มาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปีนี้ต่อเนื่องอีกหรือไม่ เนื่องจากมาตรการดังกล่าวนี้ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจและการจับจ่ายในช่วงปลายปีของผู้บริโภคได้อย่างมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

ในที่สุด คณะรัฐมนตรีก็มีมติเห็นชอบให้ดำเนินมาตรการนี้ในช่วงระหว่างวันที่ 11 พฤศจิกายน-3 ธันวาคม 2560 เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายนที่ผ่านมา หลังจากที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กระทรวงการคลังพิจารณามาตรการดังกล่าวโดยเร็วเมื่อสัปดาห์ก่อน

โดยระยะเวลาในการใช้มาตรการในปีนี้รวมทั้งสิ้น 23 วัน สูงกว่า 2 ครั้งที่ผ่านมา โดยครั้งแรกจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-31 ธันวาคม 2558 รวม 7 วัน และครั้งที่ 2 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-31 ธันวาคม 2559 รวม18 วัน

เดินหน้ามาตรการ “ช้อปช่วยชาติ” ปีที่ 3

ณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอมาตรการ “ช้อปช่วยชาติ” เพื่อเป็นการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ โดยสามารถนำค่าใช้จ่ายจากการซื้อสินค้าและบริการ วงเงินไม่เกิน 15,000 บาท ยกเว้น สุรา ยาสูบ ที่ใช้จ่ายในช่วงวันที่ 11 พฤศจิกายน –3 ธันวาคม 2560 มาหักลดหย่อนภาษีเงินได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท

อย่างไรก็ตาม การซื้อสินค้าตามมาตรการดังกล่าวต้องเป็นการซื้อสินค้าเพื่อใช้ภายในประเทศหรือบริการเพื่อใช้ภายในประเทศเท่านั้น และต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ไม่รวมถึงการซื้อสุรา เบียร์ ไวน์ ยาสูบ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ เรือ น้ำมัน ก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ และไม่รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม ซึ่งจะต้องมีหลักฐานเป็นใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร

ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี บอกด้วยว่า มาตรการดังกล่าวนี้ทางกระทรวงการคลังประเมินว่าจะทำให้สูญเสียเงินภาษีไปประมาณ 2,000 พันล้านบาท

แต่จะช่วยเพิ่มยอดขายสินค้าหรือการให้บริการแก่ผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม โดยคาดว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจปีนี้ขยายตัวเพิ่มขึ้นราว 0.05%          

คาดมีคนใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษี 2.25 หมื่นล้าน

“แพตริเซีย มงคลวนิช” รองอธิบดีกรมสรรพากร ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร กล่าวว่า สำหรับมาตรการช้อปช่วยชาติในปีนี้คาดว่าจะมีผู้ใช้สิทธิ์ลดหย่อนในปีนี้คิดเป็นมูลค่าภาษีราว 22,500 ล้านบาท และคาดว่าจะส่งผลให้กรมสรรพากรเสียรายได้ภาษีราว 2,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีผู้ใช้สิทธิ์ลดหย่อนเป็นมูลค่าราว 15,000 ล้านบาท สูญเสียรายได้ภาษีราว 1,800 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม จะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการบริโภคภายในประเทศในช่วงปลายปี 2560 ซึ่งจะทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น และส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม

โดยย้ำว่าสินค้าและบริการที่จะใช้ลดหย่อนภาษีตามมาตรการนี้ได้จะต้องมีการออกใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบโดยผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษี VAT เท่านั้น

ชี้รัฐหวังขับเคลื่อนศก.ภาพรวม

“เชาว์ เก่งชน” กรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การที่รัฐบาลอนุมัติมาตรการช้อปช่วยชาติปีนี้นั้น รัฐบาลต้องการช่วยชดเชยให้กับห่วงโซ่เศรษฐกิจ เนื่องจากเศรษฐกิจในภาพรวมเติบโตขึ้น แต่ยังเติบโตแบบกระจุกตัว โดยเฉพาะในภาคส่งออกเป็นหลัก แต่มาตรการนี้จะช่วยกระจายรายได้ไปให้ผู้ประกอบธุรกิจการค้า และภาคเกษตรกรรมที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม

เพราะหากดูเศรษฐกิจโดยรวม GDP ค่อนข้างสูงที่ 4% มาตรการนี้ คนที่ทำคงคำนึงถึง Supply Chain ที่ยังไม่มีรายได้มากนัก ซึ่งก็ไม่น่าจะเสียหายอะไร

พร้อมทั้งมองว่า รัฐบาลคงเป็นห่วงผู้ประกอบการธุรกิจที่ปีก่อนรัฐบาลได้มีมาตรการนี้ออกมาใช้ แล้วถ้าปีนี้ไม่ทำ อาจจะทำให้ผู้ประกอบการรู้สึกเสียโอกาส การอนุมัติมาตรการนี้จึงเป็นความต้องการให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง เพราะตัวเลข GDP ไม่ใช่ประเด็นหลักที่มุ่งหวังจากมาตรการนี้

ซึ่งคาดว่ารอบนี้จะมีเม็ดเงินสะพัดราว 5,000-6,000 ล้านบาท

เช่นเดียวกับ ภูมินทร์ หะรินสุต รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ที่มองว่า มาตรการดังกล่าวจะส่งผลดีทางจิตวิทยาและช่วยกระตุ้นการจับจ่ายในช่วงโค้งสุดท้ายของปี  ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมได้

มาตรการนี้เพื่อใคร?…“ได้คุ้มเสีย” หรือไม่?

แม้ว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นการจับจ่ายของคนไทยในช่วงปลายปี และในแต่ละครั้งที่ออกมาตรการนี้มาใช้นั้นได้ช่วยให้มีเม็ดเงินออกมาหมุนเวียนเพิ่มขึ้นจากปกติถึงราว 3-4 เท่าตัว แต่ในทางกลับกันก็ทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้ไปมหาศาลเช่นกัน

จากการให้สัมภาษณ์ของ ประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร บอกว่า มาตรการช้อปช่วยชาติดังกล่าวเป็นมาตรการทางภาษี เพื่อจูงใจให้ประชาชนจับจ่ายใช้สอย แต่ก็มีผลกระทบในแง่อัตราภาษีที่จะหายไปจากมาตรการดังกล่าวด้วย

โดยแจงว่าหลังจากที่รัฐบาลนำมาตรการนี้มาใช้ติดต่อกัน 2 ปี พบว่า กรมสรรพากรสูญเสียรายได้ภาษีจากมาตรการช้อปช่วยชาติรวมแล้วประมาณ 10,000 ล้านบาท และยังคาดการณ์ต่อเนื่องอีกว่าสำหรับปีนี้รัฐบาลน่าจะสูญเสียรายได้ภาษีจากมาตรการดังกล่าวนี้อีกราว 2,000 ล้านบาท

จากตัวเลขการสูญเสียรายได้ภาษีดังกล่าวนี้จึงทำให้หลายฝ่ายมีคำถามว่า แล้วประโยชน์ที่เกิดขึ้นนั้นไปตกอยู่กับใคร ประชาชน” หรือ กลุ่มทุนใหญ่ หรือว่ารัฐบาลเอื้อประโยชน์ให้ใคร…

เนื่องจากว่ากลุ่มคนที่ได้รับประโยชน์จากมาตรการดังกล่าวนี้คือกลุ่มคนที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งมีเพียงแค่ประมาณ 3 ล้านคนเท่านั้น อีกกว่า 60 ล้านคนไม่ได้รับประโยชน์เพราะไม่ได้เสียภาษีเงินได้

ข้อมูลดังกล่าวยังสอดคล้องกับผลวิจัยของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่ระบุว่า จากการสำรวจพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 79.13% ระบุว่า ไม่ได้รับประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าว

กลุ่มทุน ค้าปลีก ตีปีกพรึบพรับ

ภรณี ทองเย็น รองกรรมการผู้อำนวยการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย พลัส จำกัด ประเมินว่า จากจำนวนวันที่เพิ่มมากขึ้นกว่าที่ดำเนินการมา 2 ครั้งเชื่อว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยหนุนอุตสาหกรรมค้าปลีก และคาดว่าหุ้นกลุ่มค้าปลีกน่าจะได้ประโยชน์

โดยมาตรการดังกล่าวจะช่วยหนุนอัตราการเติบโตของยอดขายสาขาเดิม (SSSG) ที่มีสัญญาณฟื้นตัวที่ดีนับจากไตรมาส 3/60 เช่น  HMPRO (โฮมโปร) พบว่า SSSG ในไตรมาส 3/60 พลิกกลับมาขยายตัว 2.5% เมื่อเทียบปีต่อปี จากระดับ -6.3% เมื่อเทียบปีต่อปีในไตรมาส 2/60 และ -2.9% เมื่อเทียบปีต่อปีในไตรมาส 1/60

และ TNP (ธนพิริยะ : ค้าปลีกท้องถิ่น) มี SSSG  พลิกมาเป็น +1% เมื่อเทียบปีต่อปี จาก -0.1% เมื่อเทียบปีต่อปีในไตรมาส 2/60 และ -0.3% เมื่อเทียบปีต่อปีในไตรมาส 1/60

ส่วนหุ้นค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคที่ยังไม่รายงานงบการเงินในไตรมาส 3/60 แต่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นคือ BJC (เบอร์ลี่ ยุคเกอร์)  คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 8-9% เมื่อเทียบปีต่อปี จากหดตัว 15.2% เมื่อเทียบปีต่อปีในไตรมาส 2/60

ตามด้วย CPALL (ซีพี ออลล์) คาด SSSG ในไตรมาส 3/60 กลับมาเติบโต 1-2% เมื่อเทียบปีต่อปี จากที่หดตัวเมื่อเทียบปีต่อปีในงวดไตรมาส 2/60 ยกเว้น ROBINS (โรบินสัน)  แม้จะยังหดตัว แต่ก็เป็นไปในอัตราที่น้อยลง

ขณะที่กลุ่มค้าปลีกอื่นๆ ที่มี SSSG เติบโตได้ต่อเนื่อง คือ BEAUTY (บิวตี้ คอมมูนิตี้ : ความงาม) และ COM7 (คอมเซเว่น : ค้าปลีกไอที) ที่คาดเพิ่มขึ้น 10-15% เมื่อเทียบปีต่อปี จากเพิ่มราว 12% เมื่อเทียบปีต่อปีในไตรมาส 2/60 โดยภาพรวมในไตรมาส 4/60 SSSG ก็ยังโตได้ต่อเนื่อง

“ภรณี” ยังทิ้งท้ายด้วยว่า ราคาหุ้นในกลุ่มค้าปลีกส่วนใหญ่ปรับขึ้นสะท้อนประเด็นบวกไปแล้ว จนมี Upside จำกัด จึงแนะนำหุ้นที่มี Upside เหลือ คือ BJC ให้ราคาเป้าหมายปี 2561 ที่ 60 บาท และ COM7 ให้ราคาเป้าหมายปี 2561 ที่ 19 บาท และเลือกเป็น Top picks

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ “คนึงหา แซ่ตั่น” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายบริหารสินค้าทั่วไป บริษัท โรบินสัน จำกัด (มหาชน) บอกว่า โรบินสันได้เตรียมพร้อมระบบสนับสนุนรองรับ โดยเฉพาะการออกใบกำกับภาษีที่เน้นให้เกิดความสะดวกและรวดเร็ว

ขณะที่ ยุวดี จิราธิวัฒน์ ซีอีโอและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจห้างสรรพสินค้า บริษัทกลุ่มเซ็นทรัล จำกัด เชื่อมั่นว่า มาตรการดังกล่าวจะช่วยให้ผู้บริโภคมีการจับจ่ายในช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้เพิ่มขึ้นเหมือนเช่นทุกครั้งที่ผ่านมา

เช่นเดียวกับ “ชำนาญ เมธปรีชากุล” รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด ที่บอกว่า มาตรการนี้จะกระตุ้นบรรยากาศจับจ่ายช่วงปลายปีนี้ให้กลับมาคึกคัก โดยคาดว่าจะช่วยกระตุ้นยอดขายให้เติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 5-10% เนื่องจากบรรยากาศโดยรวมปีนี้ คนไทยพร้อมจับจ่ายมากกว่าปีที่ผ่านมา

แน่นอนว่ามาตรการ “ช้อปช่วยชาติ” ยังคงเครื่องมือสำคัญในการกระตุ้นการจับของคนไทยในช่วงปลายปีนี้ แต่หากเป็นมาครการที่ออกมาเป็นประโยชน์กับคนไทยเพียงแค่ 3 ล้านคน ที่สำคัญรัฐบาลยังสูญเสียรายได้ภาษีอีกมหาศาลเช่นนี้…รัฐบาลควรทบทวนและหาแนวทางอื่นที่ช่วยสร้างให้คนไทยเกิดความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ และมีความพร้อมที่จะจับจ่ายโดยไม่ต้องออกมาตรการกระตุ้นได้แล้ว…

 

ขอบคุณภาพจาก : ไทยรัฐ, girlsfriendclub.com, storylog.co และ pantip