ตำแหน่งซีอีโอ “นกแอร์”! “เผือกร้อน” หรือ “บทพิสูจน์” ฝีมือการบริหารของ “ปิยะ ยอดมณี”

4877

การได้รับแต่งตั้งจากที่ประชุมคณะกรรมการบริหารให้นั่งบริหารในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือซีอีโอของสายการบิน นกแอร์  แทนนายพาที สารสิน ของ ปิยะ ยอดมณี ในขณะนี้ถูกหลายฝ่ายจับตามองเป็นอย่างมาก

เพราะสถานะของ ปิยะ ยอดมณี ในวันนี้ไม่ได้ต่างไปจากกรณีของ จรัมพร โชติกเสถียร เมื่อครั้งที่เข้ามารับตำแหน่งบริหารในตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ หรือ ดีดี ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เมื่อปลายปี 2557

 

เผือกร้อน ปิยะ ยอดมณี

 ครั้งนั้น จรัมพร โชติกเสถียร เข้ามาบริหารการบินไทยในช่วงเวลาที่เรียกว่า เลวร้าย ที่สุดช่วงหนึ่งเช่นกัน  เพราะเป็นช่วงที่บริษัทการบินไทยมีผลประกอบการขาดทุนอย่างหนักมากกว่า 1 หมื่นล้านติดต่อกันมาแล้วถึง 2 ปี

โจทย์ใหญ่ของ จรัมพร ในการเข้าไปขับเคลื่อนการบินไทยอย่างเร่งด่วนในห้วงเวลานั้นคือ การปฏิรูปองค์กรครั้งใหญ่เพื่อพลิกฟื้นวิกฤติของสายการบินแห่งชาติให้กลับมาแข่งขันได้โดยเร็ว

เช่นเดียวกับ ปิยะ ยอดมณี ในวันที่ต้องเข้ามาบริหารสายการบิน นกแอร์ ในวันที่สายการบินแห่งนี้ประสบกับภาวะขาดทุนต่อเนื่องกันมา 3 ปี และคาดว่าจะยังคงขาดทุนต่อเนื่องอีกในปีนี้ ซึ่งประเมินยอดขาดทุนสะสมคร่าวๆ ณ เวลานี้น่าจะมีมูลค่าร่วม 5,000 ล้านบาท

และภารกิจเร่งด่วนที่ ปิยะ ต้องรีบจัดการกับองค์กรแห่งนี้ก็คือ การเร่งลดค่าใช้จ่าย หยุดเลือดไหล และมุ่งเพิ่มรายได้

เร่งหยุดขาดทุน-ลดรายจ่าย

โดยล่าสุด “ปิยะ” ได้ให้สัมภาษณ์สื่อถึงแนวทางการบริหารสายการบินนกแอร์ หลังจากร่วมประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2560 ว่า ในเบื้องต้นนี้คงต้องพยายามลดรายจ่าย และบริหารไม่ให้สายการบินนกแอร์มีตัวเลขขาดทุนที่มากไปกว่าที่เป็นอยู่ให้ได้ก่อน

จากนั้นก็จะเข้าสู่ขบวนการของการสร้างให้องค์กรมีความเข้มแข็งและก้าวเดินต่อไปได้

โดยแนวทางหลักๆ คือ ปลดระวางเครื่องบินเก่าที่ยังใช้อยู่รวม 7 ลำ ประกอบด้วยเครื่องบินโบอิ้ง 737-800 จำนวน 5 ลำ และเครื่องบินเล็ก ATR จำนวน 2 ลำ ซึ่งคาดว่าน่าจะเจรจาสำเร็จอย่างช้าภายในต้นปีหน้า

นั่นหมายความว่า “นกแอร์” ก็จะลดภาระค่าบำรุงรักษา ซึ่งถือเป็นต้นทุนสำคัญที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากในช่วงระยะหลังนี้

ส่วนแผนการหารายได้เพิ่มนั้น “นกแอร์” มีแผนที่จะเปิดเส้นทางบินใหม่ในรูปแบบเช่าเหมาลำ หรือชาร์เตอร์ไฟล์ต จากฐานการบินที่สนามบินนานาชาติอู่ตะเภาสู่เมืองรองของจีนอีก 5 เมือง ประกอบด้วย ไหโข่ว, หยินฉวน, หนานชาง, ฉางชา และหลินยี่

จากเดิมที่ให้บริการเครื่องบินแบบเช่าเหมาลำอยู่ประมาณ 40 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ จากฐานการบินหลัก 3 แห่ง คือ ดอนเมือง, ภูเก็ต และเชียงใหม่

นอกจากนี้ ยังมีแผนเพิ่มเที่ยวบินประจำจากสนามบินนานาชาติดอนเมืองไปยังแม่สอดและย่างกุ้งอีก 1 เส้นทางในช่วงปลายเดือนตุลาคมนี้

และหากแผนการบริหารเป็นไปตามที่ตั้งเป้าไว้ ในปี 2562-2563 นกแอร์มีแผนจะเพิ่มเครื่องบินใหม่เข้ามาประจำฝูงบินอีกปีละ 2 ลำ และ 4 ลำในปี 2564 จากปัจจุบันที่มีเครื่องบินให้บริการอยู่ทั้งหมด 21 ลำ (เตรียมรับปลายเดือนนี้ 1 ลำ)

ระดมทุนเพิ่มอีก 1.7 พันล้านบาท

“ปิยะ” ยังบอกอีกว่า ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2560 ได้มีมติให้เพิ่มทุนจดทะเบียนอีก 1,207,000,000 บาท จากทุนจดทะเบียนรวม 1,292,249,882 บาท เป็นทุนจะทะเบียนใหม่ 2,499,249,000 บาท โดยออกหุ้นสามัญเพิ่มทุน  1,207,000,000 หุ้น  มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท

พร้อมทั้งอนุมัติจัดสรรหุ้นสามัญใหม่จากการเพิ่มทุนของบริษัทไม่เกินจำนวน 1,207,000,000 หุ้น  มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท โดยจัดสรรให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนจำนวนที่ผู้ถือหุ้นแต่ละรายถืออยู่ และเพื่อรองรับการใช้สิทธิตามใบสำคัญแสดงสิทธิ์ที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัท ครั้งที่1 (NOK-W1) ที่มีการเปลี่ยนแปลงราคาการใช้สิทธิและอัตราการใช้สิทธิ โดยมีรายละเอียดว่า จะจัดสรรหุ้นสามัญใหม่จากการเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 1,335,999,882 หุ้น ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนจำนวนหุ้นแต่ละรายถืออยู่ในสัดส่วน 1:1 ในราคาเสนอขายหุ้นละ 1.50 บาท และกำหนดวันจองซื้อในช่วง 16-20 ตุลาคมนี้

ทำให้ในเดือนตุลาคมนี้ บริษัทสายการบินนกแอร์จะมีเงินจากการเพิ่มทุนเข้ามาเสริมสภาพคล่องอีกประมาณ 1,700 ล้านบาท

โดย ปิยะ ย้ำว่า หากสายการบินนกแอร์ได้เงินทุนเข้ามาหมุนเวียนเร็วก็จะทำให้สายการบินแห่งนี้แข็งแรงและก้าวเดินต่อไปข้างหน้าได้เร็วขึ้นเท่านั้น

วงในเผยบริหารสายการบิน ไม่ง่าย

แม้ว่า “ปิยะ ยอดมณี” ซีอีโอ คนใหม่ของสายการบินนกแอร์ จะออกมาให้สัมภาษณ์ถึงภารกิจสานต่อและนำพาองค์กรแห่งนี้ก้าวเดินไปข้างหน้าไปแล้ว แต่ผู้คลุกคลีอยู่ในแวดวงธุรกิจสายการบินก็ได้แสดงความเป็นว่า การบริหารธุรกิจสายการบินในยุคนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย

ทั้งนี้  เนื่องจากการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงมาก ขณะที่ต้นทุนราคาน้ำมันก็ยังมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ที่สำคัญ ยังมีคู่แข่งใหม่ๆ เข้ามาสู่ตลาดเพิ่มมากขึ้น

ดังนั้น ความหวังที่จะบริหารให้สายการบิน “นกแอร์” กลับมามีตัวเลขเป็น “กำไร” ได้ภายใน 1-2 ปี คงเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก

เพราะสถานะและผลดำเนินงานของบริษัทสายการบินนกแอร์ในช่วงที่ผ่านมา  พบว่า  มีหนี้สินเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงปี 2557 -2559 คิดเป็นจำนวนประมาณปีละ 2,000 ล้านบาท

โดยปี 2557 หนี้สินที่อยู่ 2,219 ล้านบาท พอมาถึงปี 2559 หนี้สินอยู่ที่ 6,340 ล้านบาท ซึ่งเป็นปีแรกที่หนี้สินสูงกว่าทรัพย์สินที่อยู่ราว 6,000 ล้านบาท ขณะที่รายได้รวมมีการปรับตัวขึ้นแต่ละปีราว 2,000 ล้านบาท จากปี 2557 รายได้รวมอยู่ที่ 12,312.93  ล้านบาท เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 16,938 ล้านบาทในปี 2559

แต่กลับปรากฏว่า บริษัทมีผลขาดทุนต่อเนื่องเริ่มตั้งแต่ปี 2557 โดยขาดทุนสุทธิ 471 ล้านบาท  และพุ่งเป็น 2,795 ล้านบาทในปี 2559 ทำให้มูลค่าหุ้นทางบัญชีจากปี 2557 ที่เคยอยู่หุ้นละ 5.99 บาท เหลือเพียง 1.50 บาทในสิ้นปี 2559  และราคาหุ้นไหลลงต่อเนื่องจากที่ 13.10 บาท (สิ้นปี 2557)  ร่วงลงมาอยู่ที่ 6.80 บาทในปีต่อมา และไหลต่อเนื่องสิ้นปี 2559 อยู่ที่ 7.40 บาท

ขณะที่ผลดำเนินงานล่าสุด (สิ้นมิถุนายน 2560) ก็ยังพบว่า บริษัทยังมีภาระหนี้สินสูงกว่าทรัพย์สินรวม โดยทรัพย์สินเหลือ 5,954 ล้านบาท ขณะที่หนี้สินสูง  6,106 ล้านบาท รายได้รวมอยู่ที่ 10,079 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 945 ล้านบาท มูลค่าหุ้นทางบัญชีเหลือ 0.46 บาท  และราคาหุ้นรูดลงเหลือ 5.20 บาท แต่ก็ยังสูงกว่ามูลค่าหุ้นทางบัญชีกว่า 4 เท่า

นกสกู๊ต(ยัง) ขาดทุนอ่วม

และที่สำคัญ ฝีมือการบริหารของ “ปิยะ ยอดมณี” ที่สะท้อนผ่านผลประกอบการบริษัท นกสกู๊ต จำกัด พบว่า ในปี 2557 ซึ่งเป็นปีแรกที่เปิดดำเนินการนั้น “นกสกู๊ต” มีรายได้รวมที่ 24.90 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 273.27 ล้านบาท  ในปี 2558 มีรายได้รวม 952.93 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 1,206.88 ล้านบาท และในปี 2559 ที่ผ่านมา มีรายได้รวม 3,910.32 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 612 ล้านบาท

หากประเมินรวมผลการดำเนินงานในช่วง 3 ปีทีผ่านมา พบว่า สายการบินนกสกู๊ต แห่งนี้ขาดทุนสะสมอยู่ที่  2,092.15 ล้านบาท

และหากสะท้อนฝีมือการบริหารของผู้บริหารระดับสูงจากผลประกอบการบริษัทในช่วงที่ผ่านมา “ปิยะ ยอดมณี” ก็ยังไม่ได้แสดงฝีไม้ลายมือในด้านการบริหารได้อย่างโดดเด่นนัก

ประเด็นการเปลี่ยนตัวผู้บริหารระดับซีอีโอของสายการบินนกแอร์ในครั้งนี้ จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับองค์กร และเรียกความเชื่อมั่นจากผู้ถือหุ้น และผู้บริโภคกลับคืนมาตามเป้าหมายได้หรือไม่ หรือจะเป็นเพียงการ ปลดล็อก ปัญหาภายในองค์กร ยังคงเป็นประเด็นที่ยังต้องติดตาม…