เป็นกระแสข่าวที่สะเทือนวงการค้าปลีกของไทยไม่น้อยทีเดียวเมื่อบริษัท ปตท. บริหารธุรกิจค้าปลีก หรือ PTTRM ออกมาประกาศว่า พีทีทีอาร์เอ็มได้ลงนามบันทึกข้อตกลงส่งมอบ Jiffy Master Franchise ให้กับ ปตท. ลาว เพื่อบุกตลาดลาว ในช่วงสายของวันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา
โดยในงานนี้ “จิราพร ขาวสวัสดิ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ปตท. บริหารธุรกิจค้าปลีก จำกัด หรือ PTTRM (พีทีทีอาร์เอ็ม) ได้ให้สัมภาษณ์ด้วยว่า ขณะนี้ปตท.กำลังเร่งปรับปรุงและพัฒนาธุรกิจร้านสะดวกซื้อแบรนด์จิฟฟี่ (Jiffy) ให้มีความแข็งแกร่งขึ้น
โดยมีแผนจะเปิดให้บริการทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเสริมความมั่นคงให้ธุรกิจในระยะยาวแทนร้านสะดวกซื้อ “เซเว่นอีเลฟเว่น” ที่กำลังจะทยอยสิ้นสุดสัญญาลงภายใน 6 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันที่มีเซเว่นอีเลฟเว่นเปิดให้บริการในปั๊ม ปตท. อยู่ประมาณ 1,100 แห่ง จากจำนวนปั๊มทั้งหมดของ ปตท. ที่เปิดให้บริการอยู่ 1,400 แห่ง
เนื้อหาโดยรวมๆ ระบุว่า สัญญาระหว่าง ปตท.กับเซเว่นอีเลฟเว่นได้เริ่มทยอยหมดอายุลงเรื่อยๆ และจะหมดทั้งหมดภายใน 6 ปีนับจากนี้ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าปตท. จะต่ออายุสัญญาหรือไม่ เพราะต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของบริษัท และความยินยอมของตัวแทนจำหน่าย (ดีลเลอร์) ด้วย
ดังนั้น ในระหว่างนี้ทาง “พีทีทีอาร์เอ็ม” จึงต้องเตรียมความพร้อมให้กับตัวเองด้วยการพัฒนาร้านสะดวกซื้อแบรนด์จิฟฟี่ (Jiffy) ให้มีความแข็งแกร่ง พร้อมเสริมศักยภาพด้านต่างๆ อาทิ การขยายศูนย์กระจายสินค้าเพื่อรองรับการขยายสาขาที่เพิ่มขึ้นในอนาคต จากปัจจุบันที่มีอยู่ในปั๊มปตท. แล้ว 149 สาขา
โดยกำหนดแผนยุทธศาสตร์ของจิฟฟี่ว่า จะไม่เพียงแค่รุกเปิดในปั๊ม ปตท. เท่านั้น แต่จะมองหาโอกาสในการเปิดให้บริการในรูปแบบสแตนอะโลน อาทิ จุดพักรถ ในแหล่งท่องเที่ยว มหาวิทยาลัย และแหล่งชุมชนต่างๆ ด้วย
ไม่ทันข้ามวันก็มีกระแสข่าว ปตท. กำลังจะเขี่ยเซเว่นอีเลฟเว่นทิ้งแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว
สื่อออนไลน์ประโคมพาดหัวข่าวออกมาในทำนองเดียวกันนี้แทบทุกสำนัก ไม่ว่าจะเป็น ปตท.จ่อเลิกสัญญาเซเว่นอีเลฟเว่นในปั๊ม หรือ ปตท.ดันจิฟฟี่เสียบแทนเซเว่นฯ หรือ ปตท.จ่อเขี่ยเซเว่นฯ ทิ้ง ฯลฯ
ทำเอาทั้ง ปตท. และซีพีออลล์ ผู้บริหารร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ปั่นป่วนกันพอสมควร จนต้องออกมาแก้ข่าวกันทั้ง 2 ฝ่าย โดยปตท.นั้น “สุชาติ ระมาศ” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่การตลาดขายปลีก ได้ชี้แจงผ่านเพจ PTT News กลางดึก (21.46 น) ว่า “ปตท.ยืนยันเดินหน้าธุรกิจค้าปลีกในประเทศด้วยการจับมือกับร้านเซเว่นอีเลฟเว่น เปิดให้บริการในสถานีบริการ ปตท. ในฐานะพันธมิตรธุรกิจที่มีความสัมพันธ์อันดีกันมายาวนาน ปัจจุบันมีร้านเซเว่นฯ เปิดให้บริการในปั๊ม ปตท.แล้วกว่า 1,400 แห่งทั่วประเทศ และยังคงมีแผนงานที่จะร่วมกันขยายให้มีจำนวนรวมกว่า 1,700 แห่งในอีก 4-5 ปีข้างหน้า”
ขณะที่ทางซีพีออลล์ “ดร. สุวิทย์ กิ่งแก้ว” รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ก็ได้แชร์เพจของ PTT News พร้อมทั้งเปิดเผยผ่านเพจ CPALL ว่า “ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ร้านอิ่มสะดวกของคนไทยได้ร่วมมือทางธุรกิจกับ ปตท. มาอย่างเหนียวแน่นยาวนานตั้งแต่ปี 2545 รวมแล้วกว่า 15 ปี ด้วยการคัดสรรสินค้าและบริการเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนและสังคมจนเป็นที่ยอมรับของคนไทยทั่วประเทศ และในโอกาสที่ทั้งสององค์กรอยู่ระหว่างการขยายกิจการอย่างต่อเนื่องก็จะยังคงรักษาความเป็นพันธมิตรที่ดีเพื่อเดินหน้าให้บริการแก่ประชาชนทั่วประเทศไปพร้อมๆกัน”
สุดท้ายทั้ง 2 ฝ่ายออกมาประกาศจูบปากกันบนสื่อโชเชี่ยล โอละพ่อ…ไหมละทีนี้
บทเรียนราคาแพง “ผู้นำองค์กร”
แหล่งข่าวธุรกิจค้าปลีกรายหนึ่งกล่าวกับ www.362degree.com ว่า ต้องยอมรับว่าในห้วงเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา การที่ปั๊ม ปตท. มี “เซเว่นอีเลฟเว่น” เป็นพาร์ทเนอร์นั้นส่งผลต่อภาพลักษณ์ให้ปั้ม ปตท. ดูดีและได้รับความนิยมจากนักเดินทางอย่างมาก
ไม่เพียงเท่านั้น เซเว่นอีเลฟเว่น ยังถือเป็นแม็กเน็ตสำคัญและหนุนให้ปั๊ม ปตท. ก้าวขึ้นมาสู่ผู้นำได้อย่างชัดเจน การที่ผู้บริหารท่านหนึ่งของ ปตท. ออกมาเปิดเผยถึงระยะเวลาของสัญญาระหว่าง ปตท. กับเซเว่นอีเลฟเว่นนั้นเป็นการกระทำที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง แม้ว่าจะเป็นเรื่องจริงก็ตาม เพราะเสียหายกันทั้ง 2 ฝ่าย
ปตท. เองก็ถูกมองว่า เป็นบริษัทที่ไร้จริยธรรม เห็นแก่ได้ พร้อมทั้งยังถูกโยงในประเด็นที่ส่งผลต่อภาพลักษณ์ เพราะที่ผ่านมาก็มีข่าวมาเป็นระยะว่า ปตท. ต้องการปั้นพอร์ตธุรกิจ non-oil ให้มีแวลูมากขึ้น ด้วยการสร้างแบรนด์ของตัวเอง รวมถึงไล่ซื้อสิทธิ์ร้านค้าร้านอาหารต่างๆ มาเปิดในพื้นที่ปั๊มน้ำมัน
ไม่ว่าจะเป็นสร้างแบรนด์ร้านกาแฟอะเมซอน มาเสียบแทนบ้านใร่กาแฟ, ซื้อลิขสิทธิ์ร้านไก่ทอด Texas Chicken มาเปิดในปั๊มทั้งๆที่ยังเป็นพันธมิตรกับ KFC ฯลฯ ต่อไปใครที่คิดจะทำธุรกิจกับ ปตท. ต้องคิดหนักกว่าเดิม
ที่สำคัญ การที่ ปตท. มีร้านค้าของตัวเอง หรือซื้อลิขสิทธิ์ร้านอาหาร เครื่องดื่มจากต่างประเทศมาเปิดนั่นก็ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จไปหมด
เช่นเดียวกับทางเซเว่นอีเลฟเว่น แม้ว่าครั้งนี้ภาพจะออกมาเหมือนถูกรังแก แต่แน่นอนว่าข่าวนี้ส่งผลต่อจิตวิทยาด้านการลงทุนของนักลงทุนแน่นอน เพราะสาขาและรายได้จากค่าแฟรนไชส์จะหายไปถึงกว่า 1,000 ในอีก 5-6 ปีข้างหน้า กรณีที่เกิดขึ้นนี้จึงมีแต่เสียกับเสีย…
กรณีนี้จึงนับเป็นบทเรียนราคาแพงของผู้นำองค์กร
กว้านซื้อสิทธิ์ร้านอาหารมาเสริมทัพต่อ
ในช่วง 4-5 ที่ผ่านมานี้ ปตท. ได้หันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมัน หรือ non-oil มากขึ้น พร้อมทั้งตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาดูแลโดยเฉพาะภายใต้ชื่อ “ปตท.บริหารธุรกิจค้าปลีก” หรือ พีทีทีอาร์เอ็ม ทั้งนี้ เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคและนักเดินทางในยุคปัจจุบัน
โดยรายได้กลุ่ม non-oil นั้นมาจากคอนวีเนี่ยนสโตร์ ซึ่งมีทั้งเซเว่นอีเลฟเว่น, จิฟฟี่ ร้านกาแฟอเมซอน และพื้นที่ให้เช่า
โดย ปตท. มีแผนพัฒนาพื้นที่ค้าปลีกในปั๊มน้ำมันเพื่อเพิ่มมูลค่าธุรกิจ ซึ่งนอกจากการดึงพาร์ทเนอร์ที่มีศักยภาพแล้ว ยังมีแผนซื้อลิขสิทธิ์หรือแฟรนไชส์ร้านอาหารใหม่ๆ เข้ามาเสริมทัพให้มากขึ้น อาทิ ร้านชานมไข่มุกจากไต้หวัน “Pearly Tea” ร้านขนมปัง Daddy Dough ร้านไก่ทอดและเบอร์เกอร์ Texas Chicken, Freshness Burger ร้านก๋วยเตี๋ยวเรือใจดี เป็นต้น
เปิดแผนลงทุน 5 ปี 1.1 หมื่นล้าน
สำหรับแผนการลงทุนนั้น ปตท. ได้วางแผนการลงทุนเพิ่มต่อเนื่องอีก 1.1 หมื่นล้านบาทภายใน 5 ปี (2561-2565) โดยงบดังกล่าวนี้จะใช้สำหรับขยายปั๊มน้ำมันของ ปตท.ประมาณ 70% ซึ่งในสัดส่วนนี้มีแผนขยายปั๊มน้ำมัน ปตท.-จิฟฟี่ จำนวน 30 แห่ง ขนาดพื้นที่ 6-7 ไร่ เพื่อให้ปั๊มมีรายได้เพิ่มขึ้นจากทั้งการให้เช่าพื้นที่ร้านค้าต่างๆ และจากการให้บริการลูกค้าที่ใช้เป็นจุดพักรถแบบครบวงจรที่เพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ ปตท. ยังได้ทำข้อมูลรายงานต่อตลาดหลักทรัพย์ถืงแผนการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจน้ำมันไว้ดังนี้ 1. พัฒนาสถานีบริการน้ำมันและธุรกิจค้าปลีกภายในประเทศให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ และพัฒนาสถานีบริการรูปแบบใหม่ เพื่อให้เหมาะสมกับการขยายเครือข่ายในพื้นที่เขตเมือง ถนนสายรองในต่างจังหวัด และครอบคลุมกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้ทุกกลุ่มซึ่งมีความต้องการของผู้บริโภคและเงื่อนไขทางธุรกิจที่แตกต่างไปจากสถานีบริการรูปแบบเดิมในปัจจุบัน โดยมีเป้าหมายสาขารวมประมาณ 1,800 แห่ง ภายใน 5 ปี
- ขยายธุรกิจ Café Amazon ทั้งในและนอกสถานีบริการ จำนวนสาขารวมประมาณ 2,700 แห่ง ภายใน 5 ปี พร้อมทั้งต่อยอดธุรกิจ Café Amazon ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำโดยมีการลงทุนก่อสร้างโรงคั่วกาแฟ พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เช่น Coffee Drip ผงผสมเครื่องดื่ม และ เบเกอรี่แห้ง รวมถึงการสร้างศูนย์กระจายสินค้า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน
- บริหาร Retail brand port เช่น Texas chicken, ฮั่วเซงฮง ฯลฯ โดยขยายสาขาในพื้นที่ที่มีศักยภาพ และสรรหา Retail brand ใหม่ๆ เข้ามาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้แนวคิดที่ ปตท. เป็นเจ้าของแบรนด์เอง หรือ ปตท. ได้รับสิทธิเป็น Master Franchise
- ต่อยอดขีดความสามารถ และทักษะการบริหารพื้นที่ให้เช่าภายในสถานีบริการน้ำมัน สู่การบริหารพื้นที่ให้เช่านอกสถานีบริการ เช่น สนามบิน ฯลฯ จุดแวะพักระหว่างการเดินทาง (Rest Area) ตามแนวถนนทางหลวงที่จะก่อสร้างใหม่ จุดแวะพักรถขนส่งขนาดใหญ่ (Bus Terminal) และโรงแรมราคาประหยัด (Budget Hotel)
- พัฒนาระบบจัดเก็บข้อมูลและวิเคราะห์เชิงลึก (Smart Analytics with Big Data) เพื่อใช้ในการวางแผนธุรกิจและสร้าง Business Model ใหม่ รวมทั้งสรรหา Partner ธุรกิจรายใหม่ เพื่อเพิ่มความหลากหลายและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้บริโภค
- สร้างจุดชาร์จแบตเตอรี่รถยนต์ EV ในสถานีบริการ เพิ่มขึ้นเป็น 20 แห่ง พร้อมท่าการศึกษาความเป็นไปได้ทางธุรกิจต่างๆ ตลอดทั้ง EV Value Chain
บุกหนักทั่วอาเซียน
นอกจากนี้ ยังให้น้ำหนักกับการขยายธุรกิจน้ำมันและธุรกิจค้าปลีกไปยังต่างประเทศ โดย ในส่วนของธุรกิจน้ำมันนั้นมีแผนขยายไปในประเทศฟิลิปปินส์ กัมพูชา ลาว และเมียนมา ให้มีจำนวนสาขารวมประมาณ 500 แห่ง ภายใน 5 ปี
ขณะที่ธุรกิจ Non-Oil ก็มีแผนขยายควบคู่กันไปด้วย ได้แก่ ร้านกาแฟ Café Amazon ด้วยรูปแบบ Master Franchise ในประเทศฟิลิปปินส์ กัมพูชา ลาว เมียนมา และอื่นๆ ให้มี จำนวนสาขารวมประมาณ 400 แห่ง ภายใน 5 ปี รวมถึง ร้านสะดวกซื้อ Jiffy ในประเทศลาว และกัมพูชา ให้มีจำนวนสาขารวมประมาณ 160 แห่ง ภายใน 5 ปีด้วยเช่นกัน