โอละพ่อ! “ปตท.-เซเว่นฯ” (ยัน) จูบปาก บทเรียน “ราคาแพง” ผู้นำองค์กรก่อนให้ข่าว

2268

เป็นกระแสข่าวที่สะเทือนวงการค้าปลีกของไทยไม่น้อยทีเดียวเมื่อบริษัท ปตท. บริหารธุรกิจค้าปลีก หรือ PTTRM ออกมาประกาศว่า พีทีทีอาร์เอ็มได้ลงนามบันทึกข้อตกลงส่งมอบ Jiffy Master Franchise ให้กับ ปตท. ลาว  เพื่อบุกตลาดลาว ในช่วงสายของวันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา

โดยในงานนี้ “จิราพร ขาวสวัสดิ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ปตท. บริหารธุรกิจค้าปลีก จำกัด หรือ PTTRM (พีทีทีอาร์เอ็ม) ได้ให้สัมภาษณ์ด้วยว่า  ขณะนี้ปตท.กำลังเร่งปรับปรุงและพัฒนาธุรกิจร้านสะดวกซื้อแบรนด์จิฟฟี่ (Jiffy) ให้มีความแข็งแกร่งขึ้น

โดยมีแผนจะเปิดให้บริการทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเสริมความมั่นคงให้ธุรกิจในระยะยาวแทนร้านสะดวกซื้อ “เซเว่นอีเลฟเว่น” ที่กำลังจะทยอยสิ้นสุดสัญญาลงภายใน 6 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันที่มีเซเว่นอีเลฟเว่นเปิดให้บริการในปั๊ม ปตท. อยู่ประมาณ 1,100 แห่ง จากจำนวนปั๊มทั้งหมดของ ปตท. ที่เปิดให้บริการอยู่ 1,400 แห่ง

เนื้อหาโดยรวมๆ ระบุว่า สัญญาระหว่าง ปตท.กับเซเว่นอีเลฟเว่นได้เริ่มทยอยหมดอายุลงเรื่อยๆ และจะหมดทั้งหมดภายใน 6 ปีนับจากนี้ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าปตท. จะต่ออายุสัญญาหรือไม่ เพราะต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของบริษัท และความยินยอมของตัวแทนจำหน่าย (ดีลเลอร์) ด้วย

ดังนั้น ในระหว่างนี้ทาง “พีทีทีอาร์เอ็ม” จึงต้องเตรียมความพร้อมให้กับตัวเองด้วยการพัฒนาร้านสะดวกซื้อแบรนด์จิฟฟี่  (Jiffy) ให้มีความแข็งแกร่ง พร้อมเสริมศักยภาพด้านต่างๆ อาทิ การขยายศูนย์กระจายสินค้าเพื่อรองรับการขยายสาขาที่เพิ่มขึ้นในอนาคต จากปัจจุบันที่มีอยู่ในปั๊มปตท. แล้ว 149 สาขา

โดยกำหนดแผนยุทธศาสตร์ของจิฟฟี่ว่า จะไม่เพียงแค่รุกเปิดในปั๊ม ปตท. เท่านั้น แต่จะมองหาโอกาสในการเปิดให้บริการในรูปแบบสแตนอะโลน อาทิ จุดพักรถ ในแหล่งท่องเที่ยว มหาวิทยาลัย และแหล่งชุมชนต่างๆ ด้วย

ไม่ทันข้ามวันก็มีกระแสข่าว ปตท. กำลังจะเขี่ยเซเว่นอีเลฟเว่นทิ้งแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว

สื่อออนไลน์ประโคมพาดหัวข่าวออกมาในทำนองเดียวกันนี้แทบทุกสำนัก ไม่ว่าจะเป็น ปตท.จ่อเลิกสัญญาเซเว่นอีเลฟเว่นในปั๊ม หรือ ปตท.ดันจิฟฟี่เสียบแทนเซเว่นฯ หรือ ปตท.จ่อเขี่ยเซเว่นฯ ทิ้ง ฯลฯ

ทำเอาทั้ง ปตท. และซีพีออลล์ ผู้บริหารร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ปั่นป่วนกันพอสมควร จนต้องออกมาแก้ข่าวกันทั้ง 2 ฝ่าย โดยปตท.นั้น “สุชาติ ระมาศ” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่การตลาดขายปลีก ได้ชี้แจงผ่านเพจ PTT News กลางดึก (21.46 น) ว่า “ปตท.ยืนยันเดินหน้าธุรกิจค้าปลีกในประเทศด้วยการจับมือกับร้านเซเว่นอีเลฟเว่น เปิดให้บริการในสถานีบริการ ปตท. ในฐานะพันธมิตรธุรกิจที่มีความสัมพันธ์อันดีกันมายาวนาน ปัจจุบันมีร้านเซเว่นฯ เปิดให้บริการในปั๊ม ปตท.แล้วกว่า 1,400 แห่งทั่วประเทศ และยังคงมีแผนงานที่จะร่วมกันขยายให้มีจำนวนรวมกว่า 1,700 แห่งในอีก 4-5 ปีข้างหน้า”

ขณะที่ทางซีพีออลล์ “ดร. สุวิทย์ กิ่งแก้ว” รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ก็ได้แชร์เพจของ PTT News พร้อมทั้งเปิดเผยผ่านเพจ CPALL ว่า “ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ร้านอิ่มสะดวกของคนไทยได้ร่วมมือทางธุรกิจกับ ปตท. มาอย่างเหนียวแน่นยาวนานตั้งแต่ปี 2545 รวมแล้วกว่า 15 ปี ด้วยการคัดสรรสินค้าและบริการเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนและสังคมจนเป็นที่ยอมรับของคนไทยทั่วประเทศ และในโอกาสที่ทั้งสององค์กรอยู่ระหว่างการขยายกิจการอย่างต่อเนื่องก็จะยังคงรักษาความเป็นพันธมิตรที่ดีเพื่อเดินหน้าให้บริการแก่ประชาชนทั่วประเทศไปพร้อมๆกัน”

สุดท้ายทั้ง 2 ฝ่ายออกมาประกาศจูบปากกันบนสื่อโชเชี่ยล โอละพ่อ…ไหมละทีนี้

 บทเรียนราคาแพง “ผู้นำองค์กร”

แหล่งข่าวธุรกิจค้าปลีกรายหนึ่งกล่าวกับ www.362degree.com ว่า ต้องยอมรับว่าในห้วงเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา การที่ปั๊ม ปตท. มี “เซเว่นอีเลฟเว่น” เป็นพาร์ทเนอร์นั้นส่งผลต่อภาพลักษณ์ให้ปั้ม ปตท. ดูดีและได้รับความนิยมจากนักเดินทางอย่างมาก

ไม่เพียงเท่านั้น เซเว่นอีเลฟเว่น ยังถือเป็นแม็กเน็ตสำคัญและหนุนให้ปั๊ม ปตท. ก้าวขึ้นมาสู่ผู้นำได้อย่างชัดเจน การที่ผู้บริหารท่านหนึ่งของ ปตท. ออกมาเปิดเผยถึงระยะเวลาของสัญญาระหว่าง ปตท. กับเซเว่นอีเลฟเว่นนั้นเป็นการกระทำที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง แม้ว่าจะเป็นเรื่องจริงก็ตาม เพราะเสียหายกันทั้ง 2 ฝ่าย

ปตท. เองก็ถูกมองว่า เป็นบริษัทที่ไร้จริยธรรม เห็นแก่ได้ พร้อมทั้งยังถูกโยงในประเด็นที่ส่งผลต่อภาพลักษณ์ เพราะที่ผ่านมาก็มีข่าวมาเป็นระยะว่า ปตท. ต้องการปั้นพอร์ตธุรกิจ non-oil ให้มีแวลูมากขึ้น ด้วยการสร้างแบรนด์ของตัวเอง รวมถึงไล่ซื้อสิทธิ์ร้านค้าร้านอาหารต่างๆ มาเปิดในพื้นที่ปั๊มน้ำมัน

ไม่ว่าจะเป็นสร้างแบรนด์ร้านกาแฟอะเมซอน มาเสียบแทนบ้านใร่กาแฟ, ซื้อลิขสิทธิ์ร้านไก่ทอด Texas Chicken มาเปิดในปั๊มทั้งๆที่ยังเป็นพันธมิตรกับ KFC ฯลฯ ต่อไปใครที่คิดจะทำธุรกิจกับ ปตท. ต้องคิดหนักกว่าเดิม

ที่สำคัญ การที่ ปตท. มีร้านค้าของตัวเอง หรือซื้อลิขสิทธิ์ร้านอาหาร เครื่องดื่มจากต่างประเทศมาเปิดนั่นก็ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จไปหมด

เช่นเดียวกับทางเซเว่นอีเลฟเว่น  แม้ว่าครั้งนี้ภาพจะออกมาเหมือนถูกรังแก แต่แน่นอนว่าข่าวนี้ส่งผลต่อจิตวิทยาด้านการลงทุนของนักลงทุนแน่นอน เพราะสาขาและรายได้จากค่าแฟรนไชส์จะหายไปถึงกว่า 1,000 ในอีก 5-6 ปีข้างหน้า กรณีที่เกิดขึ้นนี้จึงมีแต่เสียกับเสีย…

กรณีนี้จึงนับเป็นบทเรียนราคาแพงของผู้นำองค์กร

กว้านซื้อสิทธิ์ร้านอาหารมาเสริมทัพต่อ

ในช่วง 4-5 ที่ผ่านมานี้ ปตท. ได้หันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมัน หรือ non-oil มากขึ้น พร้อมทั้งตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาดูแลโดยเฉพาะภายใต้ชื่อ “ปตท.บริหารธุรกิจค้าปลีก” หรือ พีทีทีอาร์เอ็ม ทั้งนี้ เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคและนักเดินทางในยุคปัจจุบัน

โดยรายได้กลุ่ม non-oil นั้นมาจากคอนวีเนี่ยนสโตร์ ซึ่งมีทั้งเซเว่นอีเลฟเว่น, จิฟฟี่ ร้านกาแฟอเมซอน และพื้นที่ให้เช่า

โดย ปตท. มีแผนพัฒนาพื้นที่ค้าปลีกในปั๊มน้ำมันเพื่อเพิ่มมูลค่าธุรกิจ  ซึ่งนอกจากการดึงพาร์ทเนอร์ที่มีศักยภาพแล้ว ยังมีแผนซื้อลิขสิทธิ์หรือแฟรนไชส์ร้านอาหารใหม่ๆ เข้ามาเสริมทัพให้มากขึ้น อาทิ ร้านชานมไข่มุกจากไต้หวัน “Pearly Tea” ร้านขนมปัง Daddy Dough ร้านไก่ทอดและเบอร์เกอร์ Texas Chicken, Freshness Burger ร้านก๋วยเตี๋ยวเรือใจดี เป็นต้น

เปิดแผนลงทุน 5 ปี 1.1 หมื่นล้าน

สำหรับแผนการลงทุนนั้น ปตท. ได้วางแผนการลงทุนเพิ่มต่อเนื่องอีก 1.1 หมื่นล้านบาทภายใน 5 ปี (2561-2565) โดยงบดังกล่าวนี้จะใช้สำหรับขยายปั๊มน้ำมันของ ปตท.ประมาณ 70% ซึ่งในสัดส่วนนี้มีแผนขยายปั๊มน้ำมัน ปตท.-จิฟฟี่ จำนวน 30 แห่ง ขนาดพื้นที่ 6-7 ไร่ เพื่อให้ปั๊มมีรายได้เพิ่มขึ้นจากทั้งการให้เช่าพื้นที่ร้านค้าต่างๆ และจากการให้บริการลูกค้าที่ใช้เป็นจุดพักรถแบบครบวงจรที่เพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ ปตท. ยังได้ทำข้อมูลรายงานต่อตลาดหลักทรัพย์ถืงแผนการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจน้ำมันไว้ดังนี้ 1. พัฒนาสถานีบริการน้ำมันและธุรกิจค้าปลีกภายในประเทศให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ และพัฒนาสถานีบริการรูปแบบใหม่ เพื่อให้เหมาะสมกับการขยายเครือข่ายในพื้นที่เขตเมือง ถนนสายรองในต่างจังหวัด และครอบคลุมกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้ทุกกลุ่มซึ่งมีความต้องการของผู้บริโภคและเงื่อนไขทางธุรกิจที่แตกต่างไปจากสถานีบริการรูปแบบเดิมในปัจจุบัน โดยมีเป้าหมายสาขารวมประมาณ 1,800 แห่ง ภายใน 5 ปี

  1. ขยายธุรกิจ Café Amazon ทั้งในและนอกสถานีบริการ จำนวนสาขารวมประมาณ 2,700 แห่ง ภายใน 5 ปี พร้อมทั้งต่อยอดธุรกิจ Café Amazon ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำโดยมีการลงทุนก่อสร้างโรงคั่วกาแฟ พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เช่น Coffee Drip ผงผสมเครื่องดื่ม และ เบเกอรี่แห้ง รวมถึงการสร้างศูนย์กระจายสินค้า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน
  2. บริหาร Retail brand port เช่น Texas chicken, ฮั่วเซงฮง ฯลฯ โดยขยายสาขาในพื้นที่ที่มีศักยภาพ และสรรหา Retail brand ใหม่ๆ เข้ามาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้แนวคิดที่ ปตท. เป็นเจ้าของแบรนด์เอง หรือ ปตท. ได้รับสิทธิเป็น Master Franchise
  3. ต่อยอดขีดความสามารถ และทักษะการบริหารพื้นที่ให้เช่าภายในสถานีบริการน้ำมัน สู่การบริหารพื้นที่ให้เช่านอกสถานีบริการ เช่น สนามบิน ฯลฯ จุดแวะพักระหว่างการเดินทาง (Rest Area) ตามแนวถนนทางหลวงที่จะก่อสร้างใหม่ จุดแวะพักรถขนส่งขนาดใหญ่ (Bus Terminal) และโรงแรมราคาประหยัด (Budget Hotel)
  4. พัฒนาระบบจัดเก็บข้อมูลและวิเคราะห์เชิงลึก (Smart Analytics with Big Data) เพื่อใช้ในการวางแผนธุรกิจและสร้าง Business Model ใหม่ รวมทั้งสรรหา Partner ธุรกิจรายใหม่ เพื่อเพิ่มความหลากหลายและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้บริโภค
  5. สร้างจุดชาร์จแบตเตอรี่รถยนต์ EV ในสถานีบริการ เพิ่มขึ้นเป็น 20 แห่ง พร้อมท่าการศึกษาความเป็นไปได้ทางธุรกิจต่างๆ ตลอดทั้ง EV Value Chain

บุกหนักทั่วอาเซียน

นอกจากนี้ ยังให้น้ำหนักกับการขยายธุรกิจน้ำมันและธุรกิจค้าปลีกไปยังต่างประเทศ โดย ในส่วนของธุรกิจน้ำมันนั้นมีแผนขยายไปในประเทศฟิลิปปินส์ กัมพูชา ลาว และเมียนมา ให้มีจำนวนสาขารวมประมาณ 500 แห่ง ภายใน 5 ปี

ขณะที่ธุรกิจ Non-Oil ก็มีแผนขยายควบคู่กันไปด้วย ได้แก่ ร้านกาแฟ Café Amazon ด้วยรูปแบบ Master Franchise ในประเทศฟิลิปปินส์ กัมพูชา ลาว เมียนมา และอื่นๆ ให้มี จำนวนสาขารวมประมาณ 400 แห่ง ภายใน 5 ปี รวมถึง ร้านสะดวกซื้อ Jiffy ในประเทศลาว และกัมพูชา ให้มีจำนวนสาขารวมประมาณ 160 แห่ง ภายใน 5 ปีด้วยเช่นกัน