เทคโนโลยีจากโลกออนไลน์ อาจทำให้หลายธุรกิจดั้งเดิมต้องล้มหายตายจาก เทปเพลง ซีดี หนังสือพิมพ์ นิตยสาร สาขาธนาคาร แต่เทคโนโลยีออนไลน์เอง ก็สร้างโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นได้ทุกวัน
เพราะของสำคัญคู่กายของผู้คนในวันนี้ ไม่ใช่กระเป๋าสตางค์ แต่กลายเป็นสมาร์ทโฟน ที่สามารถทำหน้าที่แทนทุกอย่างในกระเป๋า ตั้งแต่นาฬิกา สมุดนัดหมาย กระเป๋าสตางค์ ไปจนถึงรีโมทรถยนต์ ที่ถูกเชื่อมต่อด้วย IoT (Internet of Things)
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่ทุกวัน เราจะพบบริการแปลกใหม่มาให้บริการบนสมาร์ทโฟนของเรา อย่างประกันภัยที่สามารถเลือกเปิดหรือปิดความคุ้มครองได้ตามความต้องการด้วยสมาร์ทโฟน หรือการกดขอความช่วยเหลือจากแอพพลิเคชั่น ที่ทำให้ จส 100 สามารถแจ้งหน่วยงานไปให้ความช่วยเหลือเราได้ถึงที่โดยไม่ต้องแจ้งพิกัดที่เราอยู่
และวันนี้คนไทยกำลังจะได้ใช้บริการรถเช่า แบบ อยากขับ อยากคืนเมื่อไหร่ ก็คิดราคาตามที่ใช้งานจริง ไม่ต้องเหมาทั้งวัน ทั้งสัปดาห์อีกต่อไป
ทรงวิทย์ ฐิติปุญญา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซินเนอร์เจติค ออโต้ เพอร์ฟอร์มานซ์ จำกัด (มหาชน) ภายใต้แบรนด์ asap (เอแซ็ป) เผยว่า จากศักยภาพการดำเนินธุรกิจรถยนต์ให้เช่าของ asap ที่มีจำนวนรถยนต์ให้เช่ามากกว่า 10,000 คัน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มลูกค้าองค์กรที่มีความต้องการรถยนต์ให้เช่าระยะยาวมากกว่า 90% สามารถสร้างความมั่นคงด้านรายได้แล้ว บริษัทฯ ยังมีความต้องการเพิ่มฐานลูกค้าองค์กรใหม่ ๆ จึงวางแผนรุกขยายธุรกิจที่นำแนวคิด car sharing มาสู่การให้บริการรถยนต์ให้เช่าในประเทศไทย ด้วยการเปิดบริการ asap GO (เอแซ็ป โก) ที่คิดค่าบริการตามการใช้งานจริง (Pay per use) โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายเป็นองค์กรตามตึกออฟฟิศให้เช่าต่าง ๆ ซึ่ง asap เป็นผู้ประกอบธุรกิจรถยนต์ให้เช่ารายแรกในประเทศไทยที่ให้บริการในรูปแบบดังกล่าว เป็นการตอกย้ำถึงความเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมรถยนต์ให้เช่าของไทย
“วันนี้เอแซ็ปมีลูกค้าองค์การที่ทำสัญญาเช่ารถระยะยาวอยู่ราว 500 ราย ปัญหาส่วนใหญ่ขององค์กรเหล่านี้ คือมีรถใช้ไม่เพียงพอในบางช่วงเวลา การแก้ปัญหาคือต้องมาเช่ารถเพิ่มรายวัน หรือรายสัปดาห์ ทั้งที่ไม่ต้องใช้เต็มเวลาที่เช่า ขณะเดียวกัน ทางเอแซ็ปเอง ก็มีการสำรองรถเช่าไว้เสริมเวลาที่ลูกค้าต้องการ หรือเกิดอุบัติเหตุ ราว 200 คันที่จอดอยู่เฉยๆ ดังนั้น การจะนำทรัพย์สินเหล่านี้มีบริหารจัดการให้เกิดการใช้ประโยชน์ ก็ถือเป็นเทรนด์ที่ทุกองค์กรในวันนี้ต้องทำ”
ทรงวิทย์ ฐิติปุญญา
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซินเนอร์เจติค ออโต้ เพอร์ฟอร์มานซ์ จำกัด (มหาชน)
โดย asap GO เป็นแอพพลิเคชั่นที่เอแซ็ปร่วมพัฒนากับบริษัท ฮ้อปคาร์ จำกัดพันธมิตรผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่อใช้บริการ asap GO Powered by haup พนักงานขององค์กรที่ต้องการใช้บริการนั้นต้องดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นและลงทะเบียนเพื่อใช้บริการ ซึ่งสามารถกำหนดช่วงเวลาการใช้รถยนต์ จุดเด่นคือสามารถเปิด-ปิดรถผ่านแอพพลิเคชั่นได้ มีบัตรเติมน้ำมัน กรณีน้ำมันหมด ที่ปั๊มเชลล์ และคาลเท็กซ์ ทั้งนี้ asap เริ่มให้บริการตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ตามตึกออฟฟิศประมาณ 6 แห่ง ได้แก่ อาคารคอลัมน์ทาวเวอร์ รัชดาภิเษก, อาคารอินเตอร์เชนจ์ อโศก-สุขุมวิท, อาคารศุภลัยแกรนด์ ทาวเวอร์ ถนนพระราม 3, อาคารจัสมินอโศก อาคารเมโทรโพรลิส สุขุมวิท 39 และ 42 ทาวเวอร์ เอกมัย โดยจะมีรถให้บริการอาคารละ 2-3 คัน หลังจากนั้นจะขยายการให้บริการครบ 30 อาคารภายในสิ้นปีนี้ และมีแผนจะขยายออกไปตามหัวเมืองใหญ่ต่อไป
ทั้งนี้รถยนต์ที่ให้บริการมีทั้งรถขนาดเล็ก Small Car ประกอบด้วย โตโยต้า ยาริส และวิออส คิดค่าบริการเริ่มต้น 50 บาท และคิด 20 กม.แรก 5 บาทต่อกิโลโมตร จากนั้น เพิ่มอีกกิโลเมตรละ 1 บาททุกๆ 20 กิโลเมตรต่อไป ขณะที่รถขนาดกลาง Medium Car ประกอบด้วย โตโยต้า อัลติส และนิสสัน จู๊ค คิดค่าบริการเริ่มต้น 60 บาท คิดค่าบริการ 20กิโลเมตร แรก กิโลเมตรละ 6 บาท และเพิ่มขึ้นกิโลเมตรละ 1 บาท ทุกๆ 20 กิโลเมตรต่อไป ขณะที่ช่วงเวลาจอดพักรถไม่มีการสตาร์ทเครื่อง ก็คิดในอัตราค่าบริการที่ถูกลง
ทรงวิทย์ คาดว่า ลูกค้าหลักของบริการ asap GO จะมาจากลูกค้าที่ใช้บริการรถเช่ารายเดือนของเอแซ็ปเอง และอีกส่วนจะมาจากบริษัทต่างๆ ที่มีรถของ asap GO ไปจอดให้บริการอยู่ ซึ่งแม้จะมีรถจอดอยู่ 2-3 คันต่ออาคาร แต่บริษัทก็พร้อมจะนำรถเข้าเสริมให้เพียงพอหากมีผู้ใช้บริการมากกว่าจำนวนรถ เชื่อว่าบริการที่สะดวกสบายเช่นนี้ จะได้รับความสนใจ สร้างรายได้ให้กับรถ asap GO 2 หมื่นบาทต่อคันต่อเดือน และจะเป็นส่วนช่วยสร้างรายได้ให้บริษัทเติบโตได้ถึง 30% ในปีนี้ตามเป้าหมายได้
“การนำแนวคิด Car Sharing มาสู่การเปิดให้บริการ asap GO จะเป็นมิติใหม่แก่อุตสาหกรรมรถยนต์ให้เช่าของไทย ที่จะช่วยให้ลูกค้า asap ได้รับความสะดวกสบายและความประทับใจมากขึ้น โดยลูกค้าสามารถบริหารค่าใช้จ่ายการใช้บริการรถยนต์ให้เช่าได้อย่างคุ้มค่า ขณะที่ asap เองยังสามารถบริหารจัดการรถยนต์ในพอร์ตให้เกิดประโยชน์เพื่อสร้างรายได้สูงสุด อันนำไปสู่การดำเนินงานที่เติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้” ทรงวิทย์ กล่าว