ตลาดทีวีย้ายเวทีเจาะตลาดพรีเมียม เกาหลี-ญี่ปุ่น ชิงเจ้าเทคโนโลยี OLED

2018

“เทคโนโลยีไม่เคยรอใคร”  เป็นคำกล่าวที่อาจจะไม่เกินเลยไปสำหรับตลาดทีวีในเวลานี้

 เพราะนับตั้งแต่ผู้คนรู้จักทีวี กว่าจะมีการพัฒนาจากทีวีขาว-ดำ มาเป็นทีวีสี ก็ต้องใช้เวลานับสิบปี และหลังจากนั้น เราก็รู้จักทีวีจอตู้มาอีกหลายสิบปีต่อมา จนหลังปี 2000 เทคโนโลยีทีวีจึงเริ่มติดเครื่อง เปลี่ยนทีวีจอตู้ มาเป็นทีวีจอแบน จากทีวีพลาสม่า สู่ทีวีแอลซีดี และมาถึงทีวีแอลอีดี ในเวลาสิบกว่าปีมานี้

และขณะที่ทีวีแอลอีดี ตลาดเริ่มมีการพัฒนาด้านความคมชัดจาก Full HD สู่ระดับ 4K ที่มีความคมชัดมากกว่าถึง 4 เท่า ไปไม่นาน ด้านเทคโนโลยีการแสดงภาพ ก็ถูกพัฒนาไปอีกระดับ จาก LED สู่ เทคโนโลยี OLED (Organic Light Emitting Diodes) แม้จะมีอักษรย่อใกล้เคียงกัน แต่การทำงานของจอ LED กับ OLED เป็นคนละเรื่อง

พัฒนาการของจอภาพของทีวีจอแบบ นับตั้งแต่พลาสม่า ที่เป็นการเปล่งแสงของเซลส์สร้างภาพบนหน้าจอ แทนการใช้หลอดภาพขนาดใหญ่ของทีวี CRT จอตู้ แม้ให้ภาพคมชัด แต่ก็ติดปัญหาความร้อนของเซลส์สร้างภาพสูง จึงถูกทดแทนด้วยทีวี LCD ที่ใช้หลอดไฟขนาดเล็กยิงภาพจากด้านหลัง หรือ  Backlight unit ก่อนจะมีการพัฒนาหลอดไฟขนาดเล็กนี้เป็นหลอด LED ที่ประหยัดไฟกว่า  กลายเป็น ทีวี LED ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในปัจจุบัน

แต่แม้ LED จะทำให้ทีวีบางลง แถมประหยัดไฟมากกว่า  และมีการพัฒนาความคมชัดของภาพ จากระดับ HD มาเป็น Full HD และเพิ่มเป็น 4K ในปัจจุบัน แต่ทีวี LED ก็ยังมีปัญหาของการแสดงภาพสีดำ เพราะการยิงภาพจากด้านหลังเมื่อเจอเข้ากับสีดำ แสงไฟก็จะทำให้สีดำไม่ดำสนิท  ทำให้ภาพที่ได้ยังไม่สมบูรณ์เพียงพอ โดยเฉพาะกับการชมภาพยนตร์ที่มีฉากความมืด

จนเมื่อเทคโนโลยี OLED เข้ามาถึง ก็สามารถกำจัดจุดอ่อนของการแสดงภาพตั้งแต่พลาสม่า  LCD   และ LED ไปจนหมด ด้วยเทคโนโลยีเม็ดพิกเซลของจอภาพสามารถเปล่งแสงได้เอง แต่กินไฟน้อยกว่าจอพลาสม่ามาก  ทำให้ความสมจริงของสี โดยเฉพาะสีดำ มีมากกว่าการยิงแสงมาจากด้านหลังของ LCD และ LED

ทำให้ นิพนธ์ วงษ์แสงอรุณศรี ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท แอลจี อีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด ต้องกล่าวว่า  “ปีนี้ทีวีเมืองไทย จะเป็นปีที่เปลี่ยนจากการดูทีวี มาเป็นการเติมเต็มความบันเทิงภายในบ้าน”

ตลาดทีวีเมืองไทยในรอบหลายปีมานี้ หยุดนิ่งที่มูลค่า 30,000 ล้านบาทมาร่วม 2-3 ปี โดยการยังทรงมูลค่าอยู่ที่ระดับนี้ได้ แม้จำนวนเครื่องที่ขายได้ลดลง ก็เพราะตลาดบนที่นำเสนอเทคโนโลยีใหม่ๆ ทั้งสมาร์ททีวี  ทีวีจอใหญ่ และทีวีที่มีความคมชัดมากขึ้นอย่าง 4K ได้รับความนิยมมากขึ้น

โดยข้อมูลจากแอลจี ระบุว่า ตลาดทีวีจอใหญ่ ที่มีขนาดระดับ 40 นิ้วขึ้นไป มีส่วนแบ่งมากถึง 44% เมื่อเทียบกับจอภาพขนาดที่เล็กลงไป  ในตลาด ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่มากที่สุด ขณะที่สมาร์ททีวี ที่สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต มีส่วนแบ่งตลาดมากถึง 66%  เทียบกับทีวีทั่วไป ขณะที่ทีวีความคมชัดระดับ 4K แม้จะยังมีคอนเทนต์รายการให้ชมไม่มาก แต่ระดับราคาที่ลดลงก็ทำให้ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นมาถึง 36% เมื่อเทียบกันในเรื่องความคมชัด และ OLED ทีวี ที่เพิ่งถูกแนะนำตลาดไปได้ไม่นา ก็มีแนวโน้มที่จะเติบโตถึง 3 เท่าตัวในปีนี้

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตลาดทีวี OLED มีแนวโน้มเติบโต คือการเปิดตัวสินค้าใหม่อย่างพร้อมเพียงกันของแบรนด์ผู้นำในตลาดทั้งฝั่งเกาหลี และญี่ปุ่น

แอลจีประกาศรุกจองเจ้าตลาดทีวีพรีเมียม

                 บริษัท แอลจี อีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้เปิดตัว LG OLED TV ซีรี่ย์ G7T ชูมีจุดเด่นที่สมบูรณ์แบบทั้งภาพและเสียง ด้วยเม็ดพิกเซลที่สามารถกำเนิดแสงได้ด้วยตัวเองและเป็นอิสระจากกัน ทำให้ภาพดำสนิทขับให้มีสีสันสดใส คมชัดทุกมุมมอง 180 องศา เหนือกว่าด้วยเทคโนโลยี HDR รูปแบบดอลบี วิชั่น (Dolby Vision) ภาพจึงมีมิติ สมจริง เติมเต็มอรรถรสกับการรับฟังด้วยดอลบี แอทโมส (Dolby Atmos) ระบบเสียงที่ดีที่สุด ซึ่งเป็นคุณภาพเสียงของโรงภาพยนตร์ระดับพรีเมียม ช่วยให้การรับชมความบันเทิงภายในบ้านสมบูรณ์แบบดุจชมในโรงภาพยนตร์ นอกจากนี้ LG OLED TV ซีรี่ย์ G7T โดดเด่นที่สุดในเรื่องของดีไซน์ที่หรูหรา บางเพียง 2.57 มิลลิเมตร พร้อมการใช้งานที่ง่ายดายยิ่งขึ้นผ่านระบบปฏิบัติการสมาร์ททีวี webOS 3.5 ใหม่ล่าสุด

นิพนธ์ กล่าวว่า แอลจีถือเป็นแบรนด์แรกที่นำเสนอ OLED TV นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 และมีการพัฒนามาโดยตลอด ล่าสุด LG OLED TV ซีรี่ย์ G7T นอกจากสมบูรณ์แบบทั้งภาพและเสียงแล้ว ยังพัฒนาเพื่อตอบรับพฤติกรรมผู้บริโภคในการรับชมความบันเทิงผ่านทางออนไลน์และวิดีโอสตรีมมิ่งที่มากขึ้น โดยได้พัฒนาระบบปฏิบัติการ webOS3.5 ให้ใช้งานง่าย สะดวก เพิ่มฟีเจอร์ต่างๆ ให้ง่ายต่อการเข้าถึงคอนเทนต์ที่ต้องการ ช่วยให้ผู้บริโภคเพลิดเพลินกับความบันเทิงภายในบ้านได้อย่างสมบูรณ์แบบ

นิพนธ์ วงษ์แสงอรุณศรี

ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท แอลจี อีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด

 

ทั้งนี้ แอลจีได้วางจำหน่าย LG OLED TV ซีรี่ย์ G7T  2 รุ่น ขนาด 77 นิ้ว ราคา 599,990 บาท และขนาด 65 นิ้ว ในราคา 299,990 บาท และยังจะมีการเปิดตัวอีก 4 ซีรีย์ รวม 7 รุ่น ในปีนี้

นิพนธ์กล่าวว่า เป้าหมายของแอลจีในตลาดทีวี คือการก้าวขึ้นเป็นผู้นำในตลาดทีวีพรีเมียม ที่รวมทีวี 4K  และ OLED โดยการเพิ่มส่วนแบ่งเฉพาะตลาดพรีเมียมที่แอลจีมีอยู่ 30% เป็น 40%  เพราะการเป็นผู้นำในตลาดนี้ไม่เพียงแต่การสร้างยอดขายแล้ว ยังเป็นการสร้างแบรนด์ความน่าเชื่อถือได้เป็นอย่างดี

โดยเป้าหมายการขายทีวีของแอลจีในปีนี้ที่ถูกวางไว้  8,000 ล้านบาท จะมาจากกลุ่มทีวีพรีเมียมนี้ถึง 5,000 ลลล้านบาท

 

       วางเป้าเป็น Top Premium Brand เอเชีย

       พานาฯ ชูทีวีพรีเมียมด้วยคุณภาพญี่ปุ่น

ด้านแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าเก่าแก่จากแดนอาทิพย์อุทัย พานาโซนิค แม้จะพลาดพลั้งเสียส่วนแบ่งตลาดไปให้กับแบรนด์เกาหลีมาตั้งแต่ 2 แบรนด์เกาหลีเริ่มแข็งแกร่งในเมืองไทย แต่พานาโซนิคก็ยังสามารถรักษาพื้นที่ส่วนแบ่งตลาดยืนอย่างแข็งแกร่งต่อเนื่อง ไม่ได้พังพาบไปเหมือนหลายๆ แบรนด์ญี่ปุ่น

จุดขายสำคัญที่พานาโซนิคจับทางถูก คือการชูการเป็น Japan Product และ Japan Quality ที่คนไทยให้การยอมรับมากกว่าสินค้าเกาหลี

ฮิเดคาสึ อิโตะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พานาโซนิค ซิว เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมา กลุ่มผลิตภัณฑ์ภาพและเสียงของพานาโซนิค มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยยังคงมุ่งเน้นที่จะพัฒนาและนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่มาพร้อมเทคโนโลยีล่าสุด ด้วยแนวคิด “ความเป็นพรีเมียม ด้วยคุณภาพญี่ปุ่น” (Premium Products with Japan Quality) เพื่อตอบรับความต้องการ และทุกไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคใหม่อย่างแท้จริง ซึ่งทุกผลิตภัณฑ์นั้นมาพร้อมกับจุดเด่นด้าน “คุณภาพ (Quality)” และ “ดีไซน์ (Design)” อันเป็นเอกลักษณ์ของพานาโซนิค

สำหรับสินค้าไฮไลท์เด่นในปีนี้ คือ การเปิดตัว  Panasonic VIERA OLED TV ที่ได้นำนวัตกรรมจอภาพ OLED ผสานกับ 4K Hexa Chroma Drive Pro ที่สุดแห่งเทคโนโลยีด้านภาพ เอกลักษณ์เฉพาะพานาโซนิค ควบคู่ไปกับการพัฒนาร่วมกันกับทีมสร้างภาพยนตร์จากฮอลลีวูด ทำให้ได้ภาพที่ดำสนิท สีสันคมชัดทุกเฉดสี สมจริง ดังที่ผู้สร้างภาพยนตร์ต้องการ หรือตรงกับมาตรฐานของอุตสาหกรรมภาพยนตร์มากที่สุด

ขณะเดียวกันพานาโซนิคยังได้นำเทคโนโลยีดังกล่าวนี้ มาพัฒนาในผลิตภัณฑ์ LED TV รุ่นอื่นๆ เพื่อนำเสนอคุณภาพที่ดีที่สุดต่อผู้บริโภค ส่วนผลิตภัณฑ์ Home Audio พานาโซนิคยังคงเน้นคุณภาพเสียงที่ยอดเยี่ยม เต็มอิ่มทุกความหนักแน่นของดนตรีทุกรูปแบบ มีความง่ายในการเชื่อมต่อ และเพื่อรองรับความต้องการของตลาด 4K ที่เพิ่มมากขึ้น จึงได้แนะนำผลิตภัณฑ์ Ultra HD Blu-ray Player เข้าสู่ตลาดด้วย

ด้าน โยสุเกะ อิชิกาวะ ผู้อำนวยการส่วนการขายและการตลาด ผลิตภัณฑ์คอนซูมเมอร์ บริษัท พานาโซนิค ซิว เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ในปีนี้คาดว่าความต้องการจอภาพในกลุ่ม 4K จะมีโอกาสเติบโตกว่า 140% ทำให้พานาโซนิคหันมามุ่งเน้นที่กลุ่มพรีเมียม (Premium Marketing) ให้มากยิ่งขึ้นและตั้งเป้าเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดเป็น 10% มีการทำตลาดกลุ่มจอภาพที่เป็น Strategic Product คือ 4K และ OLED ผ่านดีลเลอร์หรือพาร์ทเนอร์ที่มีศักยภาพ และสื่อสารถึงคุณสมบัติที่เหนือกว่าด้านคุณภาพญี่ปุ่น (Japan Quality) และเทคโนโลยี 4K Hexa Chroma Drive Pro ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเฉพาะของพานาโซนิค เป็นต้น

โดยการเปิดตัว พานาโซนิค เวียร่า  ในปีนี้ มีจำนวน 10 ซีรี่ย์ 24 รุ่น ตั้งแต่ขนาด 32 นิ้ว ถึง 77 นิ้ว ไฮไลท์ คือ Panasonic VIERA OLED TV รุ่น TH-65EZ1000T ขนาด 65 และ 77 นิ้ว ภายใต้คอนเซ็ปท์ COLOUR ALIVE in TRUE BLACK  ที่มีคุณสมบัติเด่น คือ การปรับแต่งสี (Tuning) โดยทีมผู้เชี่ยวชาญด้านสีจากฮอลลีวูดเพื่อให้ได้คุณภาพของสีสมจริงตรงกับที่ผู้สร้างภาพยนตร์ต้องการ ระบบประมวลผลเฉดสี (Processor) ด้วยเทคโนโลยี 4K Hexa Chroma Drive Pro ซึ่งแสดงผลของเฉดสีได้ถึง 6 สี แบบ 3 มิติ ให้รายละเอียดในทุกความสว่างตั้งแต่ดำสนิทที่สุดในระดับ 0 ถึงจนถึงสว่างที่สุดถึง 1,000 nit เพิ่มฟังก์ชั่นใหม่อย่าง HEXA AI เพื่อปรับปรุงสีให้สดใสและแสดงสีผิวได้ดียิ่งขึ้น และ HEXA Boost ซึ่งสามารถสั่งใช้งานได้ผ่านรีโมทคอนโทรล เพื่อปรับสีให้สดใส และ จอภาพ (Panel) Master HDR OLED ทำให้ได้ภาพจากเทคโนโลยี OLED  ที่สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันยังได้เพิ่มฟังก์ชั่น HDR Multi Support เพื่อให้สามารถรองรองรับภาพระดับ HDR (High Dynamic Range) ในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกล้องดิจิตอล ภาพยนตร์จากเครื่องเล่นบลูเรย์ และจากการส่งสัญญาณของสถานีโทรทัศน์ ซึ่งผู้ชมสามารถรับชมภาพที่มีรายละเอียดเต็ม 100% จากต้นฉบับ และคมชัดในทุกองศาของจอภาพ”

ผู้บริหารพานาโซนิค ยอมรับว่า การจะขยับส่วนแบ่งตลาดทีวีให้ขึ้นไปต่อกรกับเจ้าตลาด คงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่การวางเป้าหมายชิงส่วนแบ่งในกลุ่มทีวี 4K ที่จะเป็นเทรนด์ที่ตลาดทีวีจะมุ่งไปและมีแนวโน้มจะมีสัดส่วนถึงครึ่งหนึ่งของตลาดได้ในปีนี้ให้ได้ 10% ก็ถือเป็นความสำเร็จ ที่สามารถสะท้อนภาพการเป็น Top Premium Brand ของเอเชีย ให้กับพานาโซนิคได้เป็นอย่างดี

ซึ่งตรงนี้คือพื้นที่ที่มั่นคงที่พานาโซนิคเลือกแล้ว