1 ขวบ LINE MAN ผมมาช่วย ไม่ได้มาฉวย(โอกาส)

1916

O2O อาจเป็นคำย่อที่หลายๆ คนคงไม่เคยได้ยิน แต่หากกล่าวถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นจาก O2O เชื่อว่าน้อยคนนักที่จะไม่เคยรับรู้  O2O หรือ Online to Offline คือโมเดลทางธุรกิจรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นจากการขยายตัวของโลกออนไลน์

สตาร์ทอัพ หรือ SME บนโลกไซเบอร์ ที่เริ่มต้นคิดค้นธุรกิจใหม่ๆ ส่วนใหญ่ก็มองโมเดล O2O คือการนำความสะดวกสบาย ความง่าย ของออนไลน์  เข้ามาช่วยเหลือสิ่งที่มีอยู่ในโลกออฟไลน์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สะดวกขึ้น หรือจะขยายธุรกิจออกไปได้มากขึ้น

O2O ที่ใกล้ตัวเรามากที่สุด ก็คือกลุ่ม อี-คอมเมิร์ซ ที่ห้างสรรพสินค้า หรือซูเปอร์มาร์เก็ต เปิดช่องทางการสั่งซื้อสินค้าผ่านออนไลน์ เว็บไซต์ หรือแอพพลิเคชั่น ผู้ซื้อก็เพียงนั่งรอรับสินค้าที่ส่งมาถึงบ้าน นั่นอาจเป็นเรื่องปกติธรรมดา

แต่การเปิดกว้างของโลกออนไลน์ กลับสร้างโอกาสทางธุรกิจได้มากกว่านั้น เพราะคนที่ไม่มีสินค้า หรือบริการอยู่ในมือ ก็สามารถสร้างธุรกิจ O2O ได้

แอพจองโรงแรม trivago หรือ traveloka ก็คือ O2O ที่ไม่มีโรงแรม ไม่มีห้องเป็นของตนเอง  หรือ อูเบอร์ แอพลิเคชั่นเรียกแท็กซี่ ที่ไม่มีแท็กซี่เป็นของตนเอง รวมไปถึง LINE MAN บริการออฟไลน์จากแอพพลิชั่นพูดคุยที่คนไทยนิยมใช้งานมากที่สุด ก็ขยับมาเล่นโมเดล O2O เช่นกัน

แต่ O2O ใช่แต่จะเป็นโอกาส เพราะหลายกรณีถูกมองเป็นการจับเสือมือเปล่า ทั้งอย่างที่โดนหนัก กรณีอูเบอร์ที่ชวนรถบ้านไม่มีใบอนุญาติรับจ้าง มาให้บริการ นอกจากผิดกฎหมายยังโดนกลุ่มแท็กซี่เขม่นเอา ขณะที่ LINE MAN หากใครลองเข้าดาวน์โหลดแอพนี้  จะพบคอมเมนต์แรงๆ ว่า

“ฮ่วยแตก เอาสินค้าคนอื่นมาใส่แอฟตัวเองไม่ขออนุญาตเจ้าของแบรนด์ ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด”

LINE MAN  เป็นบริการผู้ช่วยในชีวิตประจำวัน จากแอพพลิเคชั่น LINE ที่เปิดให้บริการมาตั้งแต่พฤษภาคมปีทีผ่านมา ปัจจุบันมีบริการ 4  รูปแบบ ประกอบด้วย   1. บริการสั่งซื้ออาหาร (Food Delivery) 2.บริการรับ-ส่งสิ่งของ (Messenger) 3. บริการสั่งสินค้าผ่านร้านสะดวกซื้อ (Convenience Goods) และ 4.บริการรับส่งสิ่งของผ่านไปรษณีย์ (Postal) ทุกวันครอบคลุมตลอด 24 ชั่วโมง

อริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้จัดการ LINE ประเทศไทย กล่าวว่า บริการทั้งหมดของ LINE MAN เกิดจากการสอบถามความต้องการของผู้ใช้แอพพลิเคชั่น LINE  ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้งานอยู่ราว 41 ล้านคน คิดเป็น 94% ของจำนวนผู้ใช้สมาร์ทโฟนทั่วประเทศที่มีอยู่ราว 44 ล้านคน  โดย LINE MAN ถือเป็นบริการแรกที่คิดค้นโดยคนไทย และเปิดให้บริการในประเทศไทยเพียงประเทศเดียวในปัจจุบัน

อริยะกล่าวว่า เหตุผลที่ LINE เปิดให้บริการ LINE MAN เพราะพบปัญหาในชีวิตประจำวันของคนกรุงเทพฯ ที่สะท้อนกลับมาหลายเรื่อง เช่น ความไว้วางใจในการใช้งานวินมอเตอร์ไซค์ในการทำงานเฉพาะ เช่น การส่งเอกสาร ส่งสินค้าระยะสั้น การรับส่งของที่ต้องใช้ความชำนาญ  รวมไปถึงปัญหาความต้องการทานอาหารร้านเด็ดที่ตนไม่มีโอกาสไปทาน หรือไม่มีเวลาไปต่อคิวที่ร้าน ซึ่ง LINE MAN จะตอบโจทย์ความต้องการเหล่านี้จาก 4 บริการที่นำเสนอ

ปัจจุบัน LINE MAN มียอดผู้ใช้งาน อยู่ราว 500,000 ครั้งต่อเดือน โดยบริการที่มีผู้ใช้งานสูงสุด มีสัดส่วนการใช้งานมากถึง 70% คือ บริการสั่งซื้ออาหาร ที่ LINE ได้ร่วมมือกับเว็บไซต์แนะนำร้านอาหารชื่อดัง Wongnai ในการคัดสรรร้านอาหารตั้งแต่ระดับโรงแรม ภัตตาคาร ลงมาถึงสตรีทฟู้ด รวมกว่า 30,000 ร้าน

“บริการสั่งซื้ออาหารจาก LINE MAN  กลายเป็นส่วนที่สร้างความสำเร็จให้กับร้านอาหารหลายร้าน  เช่น ร้านเจ๊โอว ข้าวต้มเป็ด ที่พบว่า ผู้ที่สั่งอาหารผ่าน LINE MAN จะได้ทานก่อนคนที่ไปรอทานที่ร้าน  เพราะปัญหาของร้านดังไม่ได้อยู่ที่การทำอาหารไม่ทัน  ร้านส่วนใหญ่จะทำอาหารได้เร็ว แต่ปัญหาคือที่นั่งในร้านมีไม่เพียงพอ  LINE MAN จึงกลายเป็นผู้เข้ามาช่วยเพิ่มยอดขายให้กับร้านอาหาร โดยไม่มีการคิดราคาค่าอาหารเพิ่มจากร้าน มีเพียงค่าขนส่งเริ่มต้น 55บาท เพิ่มขึ้น 9 บาทต่อกิโลเมตร ”

ขณะที่การรับส่งสิ่งของ (Messenger)  LINE MAN ได้ร่วมมือกับพาร์ทเนอร์  Lalamove ในการบริการจัดส่งสินค้าอย่างรวดเร็วเป็นระบบและถึงมือผู้รับได้อย่างปลอดภัย

บริการสั่งซื้อสินค้าผ่านร้านสะดวกซื้อ (Convenience Goods) นับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกใหม่ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การใช้บริการสั่งซื้อสินค้าผ่านร้านสะดวกซื้ออย่างเซเว่น อีเลฟเว่น พร้อมส่งตรงไปสู่จุดหมายตามคำสั่งซื้อของผู้ใช้งานตลอด 24 ชั่วโมงโดยไม่จำเป็นต้องเดินทางด้วยตัวเอง

และบริการรับส่งสิ่งของผ่านไปรษณีย์ (Postal) บริการที่พัฒนาเข้ามาเติมเต็มช่องว่างทางธุรกิจที่ช่วยประหยัดเงินและเวลาให้กับผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซ สามารถส่งสินค้า และดำเนินธุรกรรมด้านไปรษณีย์ได้อย่างสะดวกสบายโดยมีบริการให้เลือกทั้ง  บริการส่งเอกสารและพัสดุ โดยการดำเนินงานของบริษัท Alpha Fast โดยพนักงานจะรับพัสดุจากผู้ส่งที่ต้นทางและจะดำเนินการส่งพัสดุไปให้ถึงมือผู้รับ โดยสามารถตรวจเช็คสถานะการจัดส่งได้แบบเรียลไทม์โดยบริการนี้จะให้บริการเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการเท่านั้น และ บริการส่งจดหมาย พัสดุ และ EMS โดยการดำเนินงานของไปรษณีย์ไทย โดยLINE MAN จะรับของจากผู้ส่งที่ต้นทางและจัดส่งไปยังที่ทำการไปรษณีย์เพื่อให้ศูนย์ไปรษณีย์ดำเนินการจัดส่งต่อไป โดยคิดราคาตามน้ำหนักจริงของพัสดุจากตามมาตรฐานของไปรษณีย์ไทย

   อริยะ พนมยงค์

กรรมการผู้จัดการ LINE ประเทศไทย

แต่แม้ความสำเร็จในรอบปีจะมีจำนวนผู้ใช้มากถึงหลักห้าแสนคนต่อเดือน แต่อริยะก็ยังมองว่า ยังมีโอกาสที่ LINE MAN จะเติบโตไปได้มากกว่านี้ เพราะจำนวนผู้ใช้บริการ LINE ที่มีมากถึง 41 ล้านคน แต่กลับมีผู้ใช้งาน LINE MAN เพียงหลักห้าแสน ถือเป็นสัดส่วนที่เล็กมาก ขณะที่ธุรกิจบริการสั่งซื้ออาหารออนไลน์ (Online Food Delivery) มีส่วนแบ่งทางการตลาดเพียง 4.9%ของตลาดธุรกิจร้านอาหารทั้งหมดในประเทศไทย

ในปีนี้ อริยะจึงตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มจำนวนผู้ใช้งาน LINE MAN ให้เพิ่มได้ถึง 1 ล้านคนในปีนี้ โดย LINE MAN จะเพิ่มบริการทั้งในส่วนของบริการที่มีอยู่แล้ว เช่น การเพิ่มจำนวนร้านอาหารที่สามารถให้บริการสั่งซื้อ และการเพิ่มบริการใหม่ๆ จากการสำรวจความต้องการของผู้ใช้ LINE

เพื่อให้ LINE MAN คือผู้ช่วย ที่ไม่ใช่ผู้ฉวยโอกาสจากแบรนด์ของคนอื่น เพราะหากมองชุมชนที่มีคนมากถึง 41 ล้านคนนี้ ก็เชื่อว่า ทุกธุรกิจ ทุกแบรนด์ก็อยากพาตัวเองเข้ามาสานสัมพันธ์กับ LINE กันทั้งนั้น