เวียดนามปักธงตำแหน่ง “สวรรค์นักลงทุน” แห่งยุคสงครามการค้า

1465

ท่ามกลางผลกระทบเชิงลบจากสงครามการค้า เวียดนามพยายามพลิกวิกฤตเป็นโอกาสโดยเสนอตัวในฐานะ “สวรรค์” ของภาคการผลิต หวังดึงดูดเงินลงทุนและผู้ประกอบการต่างชาติเข้ามาในประเทศ ชูจุดขายเศรษฐกิจโตเร็ว ค่าแรงถูกและเสถียรภาพทางการเมือง

“เราพร้อมที่จะคว้าโอกาสนี้” นายกรัฐมนตรีเวียดนาม เหงียน ซวน ฟุก กล่าว

โดยเวียดนามค่อยๆ วางจุดยืนของตัวเองในฐานะสวรรค์ของภาคการผลิต ท่ามกลางความกังวลของนักลงทุนต่อสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ ด้วยค่าแรงที่อยู่ในระดับต่ำ อีกทั้งตั้งอยู่ประชิดชายแดนจีน ล้วนเป็นจุดแข็งที่รัฐบาลเวียดนามเตรียมจะใช้จูงใจผู้ประกอบการต่างชาติ

“เราพยายามเพิ่มการส่งออกทั้งในแง่ปริมาณและคุณภาพ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่เรามีข้อได้เปรียบอยู่แล้ว เช่น อาหารทะเล สินค้าโภคภัณฑ์ รองเท้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เรามุ่งมั่นจะเป็นเศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยการส่งออก ที่เติบโตรวดเร็วและสร้างตำแหน่งงานที่มีรายได้สูงขึ้นสำหรับประชาชน”

นอกจากนี้ เวียดนามยังได้รับการจัดอันดับธนาคารนาทิซิส จากฝรั่งเศส ให้เป็นจุดหมายปลายทางด้านการผลิตสินค้าแรงงานเข้มข้นอันดับ 1 ในบรรดาชาติตลาดเกิดใหม่ 7 ประเทศในเอเชีย โดยพิจารณาจากปัจจัยด้านโครงสร้างประชากร ค่าจ้างแรงงาน ต้นทุนค่าไฟฟ้า ความสะดวกในการเข้าไปเปิดธุรกิจ ระบบโลจิสติกส์ และมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (FDI)

อย่างไรก็ตาม “ฟุค” ยอมรับว่า ขณะนี้ยังไม่เห็นภาคธุรกิจจากจีนหลั่งไหลเข้ามาในเวียดนาม และมีความท้าทายหลายประการต้องเร่งแก้ไข อาทิ โครงสร้างพื้นฐานที่ไม่ครอบคลุม และโดยเฉพาะปัญหาแรงงานขาดทักษะ ที่ทำให้ยากจะเห็นอุตสาหกรรมขั้นสูงย้ายมาตั้งฐานในเวียดนาม ปัจจุบันจึงเต็มไปด้วยอุตสาหกรรมใช้แรงงานเข้มข้น อย่างเครื่องนุ่งห่ม

ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจโลกที่กำลังอ่อนแรง รวมถึงสงครามการค้าที่ฉุดดีมานด์ต่อสินค้าส่งออก ถือเป็นภัยคุกคามสำคัญต่อประเทศที่พึ่งพาการส่งออกอย่าง เวียดนาม ซึ่งมูลค่าการค้าระหว่างประเทศสูงเป็น 2 เท่าของขนาดจีดีพีประเทศ มากกว่าแทบทุกชาติในเอเชียยกเว้นสิงคโปร์ ยิ่งไปกว่านั้น 1 ใน 4 ของตัวเลขดังกล่าวมาจากการค้าขายกับแดนมังกร

แม้ว่าจนถึงขณะนี้ พิษภัยจากสงครามการค้ายังไม่แสดงอาการเด่นชัดนัก โดยปีที่แล้วเศรษฐกิจเวียดนามขยายตัว 7.1% สูงเป็นลำดับต้นๆ ของโลก แต่ปีนี้ผลกระทบมีแนวโน้มจะออกฤทธิ์รุนแรง ถึงกระนั้น “ฟุค” ยังมั่นใจว่าจีดีพีจะโตได้ถึงขอบบนของเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้ที่ 6.6-6.8% พร้อมทั้งให้คำมั่นว่าจะดูแลค่าเงินด่องให้มีเสถียรภาพ เพื่อลดความกังวลของผู้ประกอบการต่างชาติ

“ฟุค” ย้ำว่า เราจำเป็นต้องผลักดันการเติบโตให้ได้ 6% ต่อปีเป็นอย่างน้อย เพื่อให้จีดีพีต่อหัวของประชากรหลุดกับดับประเทศรายได้ปานกลาง

นับจากปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับตลาดโลกในทศวรรษ 1980 ภายใต้การปฏิวัติ “Doi Moi” หรือการบูรณะใหม่ในภาษาท้องถิ่น เวียดนามทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีแล้ว 16 ฉบับ มูลค่าการส่งออกพุ่งแตะ 2.24 แสนล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว หรือกว่า 2 เท่าของตัวเลข 5 ปีก่อน โดยมาจากการส่งสินค้าไปสหรัฐ 4.8 หมื่นล้านดอลลาร์

เนื่องจากเป็นหนึ่งในประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐ ฟุคจึงกังวลว่า เวียดนามอาจกลายเป็นเป้าหมายต่อไปที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์จ้องจะเล่นงาน รัฐบาลเวียดนามวางแผนรับมือโดยนำเข้าสินค้าจากบริษัทอเมริกันมากขึ้น เช่น อากาศยานจากโบอิง และผลิตภัณฑ์น้ำมัน

ปี 2018 เวียดนามเกินดุลการค้า 6.8 พันล้านดอลลาร์ แต่ปีนี้มีความเสี่ยงที่จะขาดดุลการค้า 3 พันล้านดอลลาร์ จากนโยบายกีดกันการค้าของหลายประเทศที่เป็นตลาดส่งออกหลัก ตลอดจน ยอดส่งออกสินค้าเกษตรมีแนวโน้มลดลง เพราะประเทศปลายทางหันไปผลิตเอง ขณะที่มูลค่านำเข้าสินค้าเทคโนโลยี กลุ่มเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตพุ่งสูงขึ้น