ธุรกิจเครื่องดื่มไทยหงอย! ตลาดรวมแนวโน้มหดตัว-คาดภาษีสรรพสามิตใหม่ขย่มซ้ำ

2640

อุตสาหกรรมเครื่องดื่มของไทยมีฐานการบริโภคกว้างครอบคลุมผู้บริโภคทุกช่วงวัย เป็นผลให้ในตลาดมีสินค้าหลากหลายประเภทเพื่อรองรับพฤติกรรมการบริโภคที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์

จากความหลากหลายดังกล่าวทำให้เกิดการทดแทนกันได้ของผลิตภัณฑ์ทั้งในกลุ่มผู้ผลิตที่มีแบรนด์ ผู้ประกอบการร้านค้า รวมไปถึงผู้นำเข้า ส่งผลให้อุตสาหกรรมเครื่องดื่มมีการแข่งขันที่รุนแรงระหว่างผู้ประกอบการ เพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งทางการตลาดและออกผลิตภัณฑ์ใหม่มาเพื่อคงความสามารถในการแข่งขัน 

ครึ่งปีแรกปี’60 ตัวเลขเติบโตติดลบ

จากรายงานของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ธนาคารกสิกรไทย ระบุว่า แม้อุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทยจะมีมูลค่าตลาดค่อนข้างสูง แต่ภาพรวมด้านการเติบโตนั้นไม่ได้สดใสมากนัก โดยในปี 2559 ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทยมีมูลค่าตลาดมากกว่า 468,924 ล้านบาท

และในครึ่งปีแรกของปี 2560 (ม.ค.-มิ.ย.) ที่ผ่านมา กลับพบว่ามูลค่าตลาดมีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมการจับจ่ายที่แปรผันตามกำลังซื้อของประชาชน กระแสการบริโภคของประชาชนที่ปรับเปลี่ยนตามเวลา ตลอดจนการออกกฎระเบียบควบคุมการบริโภคสินค้าบางประเภท เช่น กำหนดเวลาการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฯลฯ

 

ภาษีสรรพสามิตใหม่ทุบซ้ำ

และล่าสุดกรมสรรพสามิตได้ประกาศอัตราภาษีใหม่เมื่อวันที่ 16 กันยายนที่ผ่านมา โดยมีเจตนาลดการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ซึ่งผลของภาษีน่าจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่กดดันยอดขายของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มให้ยังมีภาพการเติบโตในกรอบจำกัด เนื่องจากผู้บริโภคอาจมีแนวโน้มระมัดระวังในการบริโภคมากขึ้น

อัตราภาษีสรรพสามิตใหม่มีการเปลี่ยนฐานในการคำนวณภาษีจากราคาขายส่งช่วงสุดท้าย หรือราคาหน้าโรงงานอุตสาหกรรมเป็นราคาขายปลีกแนะนำ และคำนึงถึงผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภคมากขึ้น

 โดยให้ความสำคัญกับการคำนวณภาษีจากปริมาณแอลกอฮอล์ในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเพิ่มการพิจารณาปริมาณน้ำตาลจากเดิมที่ไม่มีการจัดเก็บในเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์

จากการปรับรูปแบบการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพสามิตเครื่องดื่มมีผลทำให้รายได้ภาษีของภาครัฐมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากฐานภาษีที่ใหญ่ขึ้น ส่งผลต่อเนื่องให้ภาระภาษีของผู้ประกอบการส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นตาม และมีความเป็นไปได้ที่ราคาขายปลีกสำหรับผู้บริโภคจะมีการปรับตัวสูงขึ้นหากผู้ประกอบการสามารถส่งผ่านภาระส่วนนี้ได้

 

“ไวน์” ราคาขายปลีกใหม่ขยับ 21.1%

ทั้งนี้ จากการประเมินของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า เมื่อเปรียบเทียบหลังการปรับภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มใหม่กับก่อนการปรับ พบว่า “ไวน์” มีการเปลี่ยนแปลงของราคาขายปลีกมากที่สุดในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยมีการเพิ่มขึ้นของราคาขายปลีกใหม่ประมาณร้อยละ 21.1 ของราคาขายปลีกเดิม อันเป็นผลจากการทำให้ราคาสินค้าสะท้อนภาพลักษณ์สินค้าฟุ่มเฟือยที่มีดีกรีสูง

ส่วนเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ พบว่า “ชาพร้อมดื่ม” มีการเปลี่ยนแปลงของราคาขายปลีกมากที่สุด โดยราคาขายปลีกใหม่เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 7.5 ของราคาขายปลีกเดิม ซึ่งเป็นกลุ่มที่เดิมไม่เคยถูกเก็บภาษีแต่ต้องมีเสียภาษีแปรผันตามปริมาณน้ำตาล เพื่อเป็นการสร้างความเท่าเทียมระหว่างผู้ประกอบการและสะท้อนผลเสียต่อสุขภาพจากการมีน้ำตาลในปริมาณมาก

ทั้งนี้ ราคาขายปลีกใหม่นี้เป็นเพียงภาระภาษีที่เพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการเท่านั้น ส่วนราคาขายปลีกที่จะนำไปจำหน่ายแก่ผู้บริโภคย่อมขึ้นอยู่กับการวางกลยุทธ์ของผู้ประกอบการภายใต้ผลที่อาจจะเกิดขึ้นจากปัจจัยแวดล้อมหลากหลายของอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในสภาวะที่ครัวเรือนยังเผชิญแรงกดดันด้านกำลังซื้อ การที่ผู้ประกอบการจะส่งผ่านต้นทุนภาษีทั้งหมดที่เพิ่มขึ้นด้วยปรับขึ้นราคาขายปลีกอาจไม่ใช่ทางเลือกที่เหมาะสม ยกเว้นในผลิตภัณฑ์ที่มีความต้องการบริโภคค่อนข้างสูง และผู้บริโภคไม่มีความอ่อนไหวต่อราคา

ผู้ประกอบการเร่งปรับตัวรับ

ดังนั้น คาดว่าผู้ประกอบการในตลาดคงมีการปรับตัวในหลายๆ แนวทาง เพื่อรักษาฐานลูกค้ากลุ่มเดิมไม่ให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคทั้งจากการปรับปรุงภาษีครั้งนี้และจากปัจจัยแวดล้อมหลากหลายที่มากระทบต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ และในท้ายที่สุด ผู้ประกอบการยังสามารถครองส่วนแบ่งทางการตลาดของตน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภายใต้สถานการณ์ที่มีปัจจัยหลายด้านมากระทบอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม ผู้ประกอบการในตลาดอาจมีการปรับตัวที่แตกต่างกันตามความพร้อมและประเภทของผลิตภัณฑ์ เพื่อให้คงความสามารถในการแข่งขันภายใต้เงื่อนไขหลากหลายที่อาจส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจ ดังนี้

1.ผู้ประกอบการอาจชั่งน้ำหนักผลดีและผลเสียระหว่างการส่งผ่านภาระภาษีบางส่วนให้แก่ผู้บริโภคกับยอดขายที่อาจจะลดลง เนื่องด้วยลักษณะของเครื่องดื่มที่ผู้บริโภคค่อนข้างมีความอ่อนไหวต่อราคา ประกอบกับการไม่ยึดติดแบรนด์และการมีสินค้าทดแทนในตลาดมากมาย

โดยสัดส่วนการปรับราคาจะขึ้นอยู่กับกลยุทธ์และภาวะการแข่งขันของผู้ประกอบการแต่ละราย

2.ผู้ประกอบการอาจปรับผลิตภัณฑ์หลักให้มีต้นทุนการผลิตลดลง หรือสอดรับกับเทรนด์การบริโภคอยู่เสมอ ซึ่งผู้ประกอบการในตลาดมีการปรับตัวมาระยะหนึ่งแล้ว

อย่างไรก็ตาม การปรับภาษีสรรพสามิตในรอบนี้น่าจะยิ่งกระตุ้นให้ผู้ประกอบการมีการปรับตัวมากขึ้นไปอีก

ผู้ประกอบการอาจปรับสายผลิตภัณฑ์ หรือส่วนผสมผลิตภัณฑ์ของธุรกิจเครื่องดื่มและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เช่น ลดทอนกำไรในระหว่างกลุ่มสินค้าที่หลากหลาย เพื่อทำให้ไม่ต้องปรับขึ้นราคาสินค้าในทุกผลิตภัณฑ์ และผลประกอบการในภาพรวมเปลี่ยนแปลงน้อยที่สุด เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม จากภาพของตลาดเครื่องดื่มของไทยที่อาจจะไม่สดใสนักอันเป็นผลจากปัจจัยหลากหลายที่มาผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการเครื่องดื่ม แต่ในระยะยาว คาดว่าจะเกิดผลดีจากการที่ตลาดได้ถูกกำหนดทิศทางไว้ในลักษณะที่ต้องการให้ผู้บริโภครายใหม่ (Gen ใหม่) และกลุ่มผู้สูงอายุที่นับวันจะยิ่งมีฐานใหญ่ขึ้นบริโภคผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากขึ้น

 

ขอบคุณภาพจาก : sanook.com, dreamstime.com และ ข่าวหุ้น