‘บมจ.ธนจิรา รีเทล คอร์ปอเรชั่น หรือ TAN’ ประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2567 ทำสถิติสูงสุดใหม่อย่างต่อเนื่อง มีรายได้จากการขายและบริการรวม 458 ล้านบาท เติบโต 30% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่กำไรขั้นต้นทำได้ 307 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรขั้นต้นที่ 67% สูงสุดเป็นประวัติการณ์ (All Time High) และมีกำไรสุทธิส่วนของกลุ่มบริษัทฯ 60.4 ล้านบาท เติบโต 21% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) โดยมาจากการเติบโตของยอดขายสาขาเดิม (SSSG) การขยายสาขาหน้าร้าน (Concept Store) และการตอบรับที่ดีของแบรนด์ใหม่ในพอร์ต มั่นใจผลการดำเนินงานปี 2567 เติบโตแข็งแกร่ง ชูกลยุทธ์ขยายธุรกิจสินค้าแฟชั่นและร้านอาหาร ควบคู่กับการรุกตลาดต่างประเทศ ปักธงดันรายได้เติบโตทะลุ 20% ตามเป้า
ธนพงษ์ จิราพาณิชกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ธนจิรา รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TAN ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ลักซ์ชัวรีระดับโลก เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2567 (มกราคม-มีนาคม) กลุ่มบริษัทฯ มีรายได้จากการขายและบริการรวม 458 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่มีกำไรขั้นต้นทำได้ 307 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรขั้นต้นที่ 67% โดยความสำเร็จดังกล่าวมาจากยอดขายสาขาเดิม (SSSG) ที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งตามเป้า และรายได้จากการการขยายสาขาใหม่สร้างผลตอบแทนได้ดี รวมทั้งการเพิ่มแบรนด์ใหม่ที่มีศักยภาพเติบโตสูงเข้ามาเสริมแกร่งพอร์ตโฟลิโอของกลุ่มบริษัทฯ การขยายธุรกิจสู่กลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ที่ได้รับการตอบรับอย่างดีจากกลุ่มลูกค้า เพิ่มขีดความสามารถการทำกำไร ส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ (All Time High) นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทฯ และเป็นอัตราเติบโตที่มากกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมค้าปลีกในประเทศ ขณะที่กำไรสุทธิส่วนของกลุ่มบริษัทฯ ทำได้ 60.4 ล้านบาท 21% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY)
ทั้งนี้ แผนการดำเนินงานในปี 2567 กลุ่มบริษัทฯ คงเป้าหมายรายได้เติบโต 20% โดยมาจากการเติบโตของยอดขายสาขาเดิม (SSSG) 10% และการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการขยายสาขาใหม่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ 10% โดยมุ่งเน้นการขยายธุรกิจในกลุ่มแฟชั่นและกลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ที่มีผลตอบรับดีอย่างต่อเนื่อง และมีความสามารถในการสร้างอัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) ที่ดีให้แก่กลุ่มบริษัทฯ รวมทั้งมีศักยภาพเติบโตสูง ควบคู่กับการขยายธุรกิจในต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม กลุ่มบริษัทฯ ยังคงมุ่งมั่นสร้างการเติบโตให้แก่ทุกกลุ่มธุรกิจ ผ่านกลยุทธ์การสื่อสารการตลาดกับกลุ่มลูกค้าอย่างมีประสิทธิภาพ การขยายสาขาและปรับปรุงสาขาอย่างต่อเนื่อง โดยมีแผนการสร้างการเติบโตในแต่ละกลุ่มธุรกิจ ดังนี้
1) กลุ่มธุรกิจแฟชั่น (Fashion) นำโดยแบรนด์ Marimekko ที่มียอดขายเติบโตต่อเนื่อง นอกจากนี้ กลุ่มบริษัทฯ ได้เปิดสโตร์ GANNI แห่งแรกในไทยอย่างเป็นทางการ สร้างปรากฎการณ์แฟชั่นเหนือระดับผ่านแฟชั่นไอเท็มที่มีความหลากหลาย และสะท้อนความเป็นตัวตน ณ Central Embassy ซึ่งได้รับการตอบรับจากกลุ่มลูกค้าอย่างดี โดยเตรียมขยายสาขาเพิ่มในไตรมาส 3/2567 บนทำเลศักยภาพที่ศูนย์การค้าใจกลางเมือง ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์หลักของ TAN ในการเลือกโลเคชั่น รวมทั้ง เปิดตัวร้านมัลติแบรนด์ (Multi-brand store) UNITED ARROWS ในเดือนมิถุนายนที่ THE EMSPHERE เพื่อเสริมแกร่งธุรกิจในกลุ่มแฟชั่น และขยายฐานลูกค้าใหม่ ซึ่งสัดส่วนจะขยายไปยังกลุ่มผู้ชายแนวสตรีทแฟชั่น โดยถือเป็นเทรนด์ที่น่าจับตามองและมีดีมานด์ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
2) กลุ่มธุรกิจไลฟ์สไตล์ (Lifestyle) ที่มีแบรนด์ Pandora เป็นแบรนด์เรือธง ซึ่งเติบโตโดดเด่นสะท้อนถึงความสำเร็จของกลุ่มบริษัทในการส่งมอบคุณค่าที่ดีที่สุดของแบรนด์ต่างๆ ให้กับลูกกลุ่มเป้าหมาย นอกจากนี้ กลุ่มบริษัทฯ ได้เปิดร้าน Concept Store ของแบรนด์ Pandora ณ ชั้น M The Mall Lifestore Bangkapi และปรับปรุงร้าน Shop in Shop ของแบรนด์ Cath Kidston ที่ Siam Paragon
3) กลุ่มธุรกิจความงามและสุขภาพ (Beauty & Wellness) กลุ่มบริษัทฯ ปรับโฉม HARNN Shop In Shop ณ ชั้น 4 ดิ เอ็มโพเรี่ยม รวมถึง เปิด THE SPA by HARNN หนึ่งในแบรนด์สปา ของกลุ่มธุกิจ HARNN Wellness & Hospitality ณ รีสอร์ตสุดหรู ANA InterContinental Appi Kogen Resort ประเทศญี่ปุ่น และโรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล สุขุมวิท ประเทศไทย นอกจากนี้ บริษัทย่อยภายใต้ชื่อ “Harnn Greater China” ซึ่งร่วมทุนกับพันธมิตร Richarm เตรียมส่งออกผลิตภัณฑ์แบรนด์ HARNN ไปยังประเทศจีน ภายในไตรมาส 3/2567
4) กลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม (Food & Beverage) กลุ่มบริษัทฯ ได้เปิดร้านอาหารเพิ่ม 2 สาขาคือ Cath Kidston Tea Room ณ The Mall Lifestore Bangkapi, และร้าน Gordon Ramsay Street Pizza ที่ชั้น GM, THE EMSPHERE โดยได้รับการตอบรับอย่างดีจากกลุ่มลูกค้า
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TAN กล่าวเพิ่มว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมค้าปลีกยังคงทรงตัว จากการยังไม่ฟื้นตัวของเศรษฐกิจส่งผลให้กำลังซื้อชะลอตัว ผู้บริโภคมีภาระค่าครองชีพที่ปรับตัวขึ้นและยังไม่มีมาตรการใหม่ที่กระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย อย่างไรก็ตาม ยังมีสัญญาณบ่งชี้ถึงการฟื้นตัวในบางภาคธุรกิจ เช่น การท่องเที่ยว มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในไทย 9.3 ล้านคนในช่วงไตรมาสแรก เพิ่มขึ้น 44 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หนุนยอดขายร้านอาหาร และสินค้าแฟชั่นไลฟ์สไตล์เติบโต โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 จากการที่รัฐบาลมีแผนจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม และในภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางมาไทยจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง