วว. ผนึกกำลังหน่วยงานเครือข่าย พัฒนาเชื่อมโยงการค้า ตลาด วิจัย เทคโนโลยี นวัตกรรม สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

146

ดร.อาภากร  สุปัญญา รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์และจัดการนวัตกรรม สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)  กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วย ดร.โสภาพรรณ สัญญาณเสนาะ ผู้อำนวยการ สำนักจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นผู้แทน วว.  เข้าร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วย การพัฒนาเชื่อมโยงระหว่างการค้า การตลาด การวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ภายใต้แนวคิด “Innovation for Sustainable Trade ส่งเสริมนวัตกรรมเพื่อการค้าที่ยั่งยืน” เน้นการขับเคลื่อนนวัตกรรม เสริมสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ ควบคู่กับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และการทำธุรกิจคาร์บอนต่ำ โดยร่วมกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ  กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานเครือข่ายกระทรวง อว. ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สปอว.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยคณะสิ่งแวดล้อม และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุน แลกเปลี่ยนข้อมูล และเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างกัน ทั้งในด้านการค้า การตลาด การวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม  ส่งเสริมการใช้นวัตกรรมในการเพิ่มปริมาณผลผลิตและเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านการค้าระหว่างประเทศของไทย รวมถึงตอบโจทย์เมกะเทรนด์โลกโดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อมและการทำธุรกิจคาร์บอนต่ำ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนและยกระดับผู้ประกอบการไทยสู่การดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืน “ยกระดับสินค้าไทย” ไปสู่ “สินค้ามูลค่าสูง” พร้อมทั้งขยายโอกาสทางการตลาดสู่ต่างประเทศ ให้เกิดผลกระทบเชิงเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืน เมื่อวันที่  9 เมษายน 2567 ณ กระทรวงพาณิชย์

โอกาสนี้ รองผู้ว่าการ วว. ได้เข้าร่วมเสวนา CEO Talk ในหัวข้อ “เบื้องหลังความสำเร็จของสินค้านวัตกรรม” โดยได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการสร้างแนวทางสู่ความสำเร็จของ วว. ด้านนวัตกรรมว่า ประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก ได้แก่  1) การออกแบบนวัตกรรมให้ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ หรือ mega trend ของโลกยุคใหม่  นอกจากการออกแบบและการ ตอบโจทย์ trend แล้ว ยังต้องออบแบบให้นวัตกรรมสร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อมร่วมด้วย เพื่อให้คน ธุรกิจ รวมทั้งสิ่งแวดล้อม สามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกที่รวดเร็ว แล ภัยคุกคาม ต่างๆ เช่น สภาวะโลกร้อน PM 2.5 โรคระบาด เป็นต้น สามารถอยู่ร่วมกันได้เป็นอย่างดี และเหลือต่อไปยังคนยุคหลัง และ 2) ต้องออกแบบให้นวัตกรรมนั้นสามารถทำได้จริง ดังนั้น วว .จึงพัฒนาศักยภาพของผู้เชี่ยวชาญให้มีความรู้รอบด้าน ทันกับโลกสมัยใหม่ รวมทั้งการพัฒนา เครื่องมือ อุปกรณ์ และโครงสร้างพื้นฐานให้สามารถรองรับการพัฒนานวัตกรรมเหล่านั้นสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ คือ การสร้าง  ecosystem ให้กับผู้ประกอบการ  จึงจะทำให้นวัตกรรมก่อให้เกิดการใช้ประโยชน์และเป็นประโยชน์ให้คนและธุรกิจในยุค Next normal