แอล.พี.เอ็น. เดินหน้าสร้างสมดุลสู่การเป็นองค์กรยั่งยืน

1953
อภิชาติ เกษมกุลศิริ

แอล.พี.เอ็น. เดินหน้าสร้างสมดุลในการบริหารพอร์ต ทั้งการลงทุนพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย และสร้างธุรกิจใหม่ เพื่อรักษาอัตราการเติบโตอย่างยั่งยืนขององค์กร ในปี 2567 ภายใต้การนำทัพของ “อภิชาติ เกษมกุลศิริ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนใหม่

อภิชาติ เกษมกุลศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)กล่าวถึงแนวทางการบริหารบริษัทภายหลังจากการเข้ามารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 ว่า แอล.พี.เอ็น. เป็นกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ทำธุรกิจอย่างครบวงจร (Self-fulfillment) นอกเหนือจากการพัฒนาโครงการที่พักอาศัยทั้งประเภทอาคารชุดและบ้านพักอาศัยแล้ว แอล.พี.เอ็น. ยังมีบริษัทในเครือที่ทำธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง และสร้างรายได้ให้กับบริษัท ทั้งบริษัทบริหารจัดการโครงการอย่าง บริษัท แอล พี พี พรอพเพอร์ตี้ มาเนจเมนท์ จำกัด (LPP) บริษัทที่ให้บริการด้านงานวิศวกรรมอย่าง บริษัท แอล พี เอส โปรเจค มาเนจเมนท์ จำกัด (LPS) และบริษัทด้านรักษาความปลอดภัยอย่าง บริษัท รักษาความปลอดภัย แอลเอสเอส โซลูชั่นส์ จำกัด (LSS) เป็นต้น แต่ละบริษัทมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา

“ผมในฐานะ CEO มีหน้าที่ในการมองไปข้างหน้า (Looking Forward) ไปยังธุรกิจอื่นๆ นอกเหนือจากธุรกิจอสังหาฯ ที่เรามีความเชี่ยวชาญ เพื่อเฟ้นหาธุรกิจใหม่ที่จะเข้ามาสร้างผลตอบแทนในระยะกลาง และระยะยาวให้กับ ผู้ถือหุ้น นอกเหนือจากธุรกิจหลักที่เป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญในการสร้างสมดุลในการเติบโตให้กับธุรกิจ (Rebalance for Sustainable Growth) ในระยะยาว ด้วยการทำงานที่สอดประสานกันในทุกภาคส่วนของธุรกิจ (Harmonization)” อภิชาติ กล่าว

โดยภายใต้กลยุทธ์ดังกล่าว บริษัทฯ มีแนวทางในการสร้างความสมดุลใน 3 มิติ เพื่อสร้างการเติบโตทางธุรกิจไปพร้อมๆ กันในทุกมิติ (Stronger Together) ได้แก่

1)       Rebalance Portfolio การสร้างความสมดุลในการพัฒนาธุรกิจอสังหาฯ ทั้งในส่วนของการพัฒนาโครงการ งานบริการ ไปจนถึงงานวิจัยและพัฒนา นำจุดแข็งของแต่ละหน่วยธุรกิจมาเสริมสร้างและขับเคลื่อนองค์กรไปพร้อมๆ กัน โดยแนวทางในการทำงานปีแรกของการเข้ามาดำรงตำแหน่งคือ การพัฒนาจุดแข็งในฐานะผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพภายใต้แนวคิด “น่าอยู่” (5C) ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น รวมถึงปรับปรุงและเติมเต็มข้อจำกัดของแอล.พี.เอ็น. เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาด โดยหลักๆ คือ การสร้างความสมดุลของ Portfolio โดยการเพิ่มรายได้ ลดค่าใช้จ่าย ซึ่งปัจจุบัน บริษัทมีสินค้าที่ขายแล้ว     รอโอน (Backlog) อยู่ที่ 2,300 ล้านบาท โดยบริษัทมีแผนที่จะเพิ่มยอดขายโดยใช้กลยุทธ์ด้านราคา (Price Strategy) และการเพิ่มอัตราผลตอบแทนที่เหมาะสม (Incentive) ให้กับหน่วยงาน รวมถึงเครือข่ายการขาย  ของบริษัทเพื่อกระตุ้นยอดขาย โดยมีเป้าหมายที่จะขายสินค้าคงเหลือที่มีอยู่ให้ได้ไม่น้อยกว่า 4,500 – 5,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากที่ขายได้ 4,000 ล้านบาทในปี 2566 โดยบริษัทตั้งเป้ายอดขายปี 2567 ที่ 11,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับยอดขายที่ 10,000 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2566

2)       Rebalance Resource การสร้างสมดุลโดยการนำทรัพยากรที่มีอยู่มาจัดสรร และสร้างมูลค่าให้กับองค์กรด้วยการนำความเชี่ยวชาญของแต่ละส่วนงาน มาสนับสนุนการบริหารงานและการจัดการของแอล.พี.เอ็น. ให้สอดคล้องกันยิ่งขึ้น เพื่อพัฒนาศักยภาพและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน โดยเป็นแนวทางของการพัฒนาองค์กรในระยะยาว ปัจจุบัน แอล.พี.เอ็น. มีบริษัทในเครือที่กำลังเติบโตอยู่หลายบริษัท ซึ่งทำงานเกื้อหนุนกันตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการพัฒนาสินค้า ไปจนถึงการบริการหลังการขายอย่างครบถ้วน หรือเรียก    ได้ว่าเป็น LPN Completed Ecosystem อันได้แก่

·      บริษัท แอล ดับเบิลยู เอส วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด (LWS) รับผิดชอบด้านงานวิจัย การศึกษาพื้นที่ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้แก่บริษัท / บริษัทในเครือ รวมถึงบริษัทอื่นๆ ภายนอก นอกจากนั้น บริการให้คำปรึกษาและวิจัยด้าน GREEN หรือ Sustainable Developmentและ BIM (Building Information Modeling) อีกด้วย

·      บริษัท แอล พี เอส โปรเจค มาเนจเมนท์ จำกัด (LPS) รับผิดชอบงานบริการด้านวิศวกรรม และบริการที่ปรึกษาอสังหาริมทรัพย์ ครอบคลุมไปถึงการควบคุมงานก่อสร้าง โดยมุ่งเน้นการส่งมอบคุณค่าผลิตภัณฑ์ให้แก่ลูกค้า

·      บริษัท แอล พี พี พรอพเพอร์ตี้ มาเนจเมนท์ จำกัด (LPP) รับผิดชอบการบริการหลังการขายอย่างครบวงจร ทั้งอาคารชุดและบ้านพักอาศัย ครอบคลุมตั้งแต่ 1) งานบริหารชุมชน โดยมีเป้าหมายเพื่อรักษาคุณค่าของโครงการ 2) งานบริหารอาคารพักอาศัย สำนักงาน อาคารเชิงพาณิชย์ / การบริหารจัดการทรัพย์สินส่วนกลาง การวางระบบ – บริหารจัดการอาคารชุด 3) รับผิดชอบในการบริหารทรัพย์สินประเภทห้องชุดพักอาศัย ที่ผู้ซื้อ (นักลงทุน) ต้องการจัดหาผู้เช่าและผู้ซื้อ นอกจากนั้น           ยังดำเนินการตรวจคัดกรองผู้เช่าเพื่อความปลอดภัยในชุมชน

·      บริษัท แอล พี ซี วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด (LPC) รับผิดชอบด้านงานบริการชุมชนอย่างครบวงจร   โดยให้บริการด้านการดูแลรักษาความสะอาดเป็นหลัก ทั้งในโครงการที่แอล.พี.เอ็น. พัฒนาขึ้น และโครงการอื่นๆ ภายนอก

·      บริษัท รักษาความปลอดภัย แอลเอสเอส โซลูชั่นส์ จำกัด (LSS) ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในด้านการรักษาความปลอดภัยแบบบูรณาการ ทั้งจากบุคลากรที่มีคุณภาพและมืออาชีพ ระบบอิเล็กทรอนิกส์และงานระบบ โดยจัดให้มีมาตรฐานความปลอดภัย และนำเสนอบริการตามระดับความต้องการลูกค้า        (Service Level Agreement หรือ SLA) เป็นต้น และยังครอบคลุมไปถึงงานบริการทำความสะอาด ซึ่งเป็นการขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มลูกค้าในอาคารเชิงพาณิชย์ประเภทอื่นๆ เช่น โรงพยาบาล โรงแรม ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น

3)       Rebalance Stakeholders’ Wealth ภายใต้แนวทางการบริหารในการสร้างความสมดุลทั้งสองมิติแรก จะนำไปสู่การสร้างสมดุลในการให้ผลตอบแทนที่ดีกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกส่วน ทั้งนักลงทุน ผู้ถือหุ้น พนักงาน และพันธมิตรทางธุรกิจ ให้ได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสม นอกจากนั้น ยังมองเห็นโอกาสการเติบโตด้วยการนำบริษัทในเครือที่มีผลการดำเนินงานที่ดี เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ โดยเฉพาะบริษัท แอล พี พี พรอพเพอร์ตี้ มาเนจเมนท์ จำกัด (LPP) ซึ่งเป็นผู้นำในกลุ่มธุรกิจบริหารจัดการชุมชน และทรัพยากรอาคาร ปัจจุบัน ได้เข้าบริหารจัดการชุมชนกว่า 260 โครงการในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล และต่างจังหวัด ครอบคลุมประชากรมากกว่า 300,000 คน ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ตามแผนคาดว่าจะนำ แอล พี พีฯ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ภายในปีนี้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของตลาดทุน และปัจจัยแวดล้อมอื่นๆในช่วงเวลาเสนอขายอีกครั้ง

โดยคาดว่าการนำ แอล พี พีฯ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ เป็นการแยกธุรกิจบริการออกจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่จะช่วยให้ แอล.พี.เอ็น. รับรู้มูลค่าที่แท้จริงของธุรกิจบริการ ที่ปัจจุบันรวมอยู่ในผลกำไร การดำเนินงานของแอล.พี.เอ็น.กว่าร้อยละ 40 และยังเป็นการส่งเสริมกลยุทธ์การเติบโตอย่างยั่งยืน โดยในปี 2566 แอล พี พี มีรายได้ประมาณ 1,560 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิประมาณ139 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นอัตราการเติบโตทางรายได้กว่าร้อยละ 80 และการเติบโตทางกำไรสุทธิกว่าร้อยละ 23 ภายใน 3 ปี ทำให้การเข้าจดทะเบียน  ในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ ครั้งนี้ แอล พี พีฯ มีแผนการการลงทุนในบริษัทพันธมิตร เพื่อขยายงานบริการวิศวกรรมและที่ปรึกษาอสังหาริมทรัพย์ เพื่อต่อยอดความเป็นผู้นำธุรกิจบริหารชุมชนและทรัพยากรอาคาร โดยพัฒนาระบบ Application รองรับการบริการผู้อยู่อาศัย และเชื่อมต่อพันธมิตรที่ให้บริการเกี่ยวเนื่องกับการใช้ชีวิตได้ตลอด 24 ชม. และนับเป็นการเปิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ที่เสริมสร้างให้แอล.พี.เอ็น. สามารถทำกำไรได้ดีขึ้น และสร้างความสมดุลด้านรายได้ให้กับองค์กร เนื่องจากในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา ผลการดำเนินงานของแอล.พี.เอ็น. อยู่ในภาวะถดถอยจากเดิม ในการทำกำไรที่ 1,256 ล้านบาท ในปี 2562 มาอยู่ที่ระดับ 353 ล้านบาทในปี 2566  ในขณะเดียวกัน แอล.พี.เอ็น. มีแผนที่จะนำบริษัทในเครือ ที่มีผลการดำเนินงานที่ดีเข้าระดมทุนในหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ เพื่อสร้างความสมดุลในการบริหารจัดการทรัพยากรขององค์กรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

“ในฐานะที่ผมมีความเชี่ยวชาญทางด้านการเงิน ทำให้ผมให้ความสำคัญกับการบริหารโครงสร้างทางการเงินและขณะเดียวกันกับการบริหารจัดการสินทรัพย์ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดย แอล.พี.เอ็น. เป็นองค์กรที่มีความแข็งแกร่งทางการเงิน เราสามารถที่จะบริหารจัดการพอร์ตการลงทุนของเราให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับองค์กร และเป็นการเพิ่มผลประโยชน์ตอบแทนให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องกับองค์กรทั้งหมด (Stakeholders) ทั้งผู้ลงทุน ผู้ถือหุ้น พนักงาน พันธมิตรทางธุรกิจ และ Supply Chain” อภิชาติ กล่าวเสริม

สำหรับแผนการลงทุนในปี 2567 นายอภิชาติ กล่าวว่า บริษัทมีแผนเปิดตัวโครงการใหม่ 6 โครงการ มูลค่า 6,520 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการอาคารชุดพักอาศัย 1 โครงการ มูลค่า 980 ล้านบาท และโครงการบ้านพักอาศัย 5 โครงการ มูลค่า 5,540 ล้านบาท โดยเป็นโครงการที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล เป็นหลัก

“80% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Products: GDP) อยู่ในกรุงเทพฯ ส่วนอีก 20% อยู่ในต่างจังหวัด โดยการพัฒนาโครงการของแอล.พี.เอ็น. จะให้ความสำคัญกับพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และพื้นที่โดยรอบกรุงเทพฯ ที่ใช้เวลาเดินทางจากกรุงเทพฯ ไม่เกิน 2 ชั่วโมงมากกว่าที่จะขยายไปในพื้นที่ต่างจังหวัดที่ไกลจากกรุงเทพฯ โดยเรามีการซื้อที่ดินในจังหวัดนครปฐมเพื่อพัฒนาโครงการ และเรามีแผนที่จะร่วมทุนกับกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศ ที่สนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจา 2-3 ราย ทั้งการลงทุนในลักษณะ  ร่วมทุน และการลงทุนแบบ Turnkey” อภิชาติ กล่าว

ในขณะที่บริษัทมีงบลงทุนเพื่อซื้อที่ดินในปี 2567 ที่ 1,000 – 2,000 ล้านบาท โดยมาจากกระแสเงินสดของบริษัทฯ / การกู้จากสถาบันการเงินและการออกหุ้นกู้ โดยในเดือนมกราคมที่ผ่านมา บริษัทประสบความสำเร็จในการออกหุ้นกู้มูลค่า 1,500 ล้านบาท สะท้อนความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อการดำเนินงานของ แอล.พี.เอ็น.

“ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 แอล.พี.เอ็น. มีทุนจดทะเบียน 1,454 ล้านบาท บริษัทมีกําไรสะสมมาตลอด 30 ปี ทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นปัจจุบันอยู่ที่ 11,959 ล้านบาท ซึ่งจำนวนเงินดังกล่าวทำให้บริษัทสามารถลงทุนเพิ่มเติมทั้งในธุรกิจอสังหาฯ และธุรกิจอื่นๆ ได้ ส่งผลให้สามารถสร้างรายได้ได้ในระยะยาว ในขณะที่ผลการดำเนินงาน ณ สิ้นปี 2566 แอล.พี.เอ็น. มีรายได้จากการขายและบริการ 7,407 ล้านบาท ลดลงประมาณ 28 % จากรายได้จากการขายและบริการที่ 10,276 ล้านบาท โดยมีกำไรสุทธิ 353 ล้านบาท ลดลง 42 % จากกำไรสุทธิที่ 612 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2565 จากผลการดำเนินงานดังกล่าว ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารของบริษัทฯ ได้มีมติเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567  ให้จ่ายเงินปันผล 0.13 บาทต่อหุ้นให้กับผู้ถือหุ้นที่มีชื่ออยู่ในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 โดยบริษัทฯ ได้มีการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลไปแล้ว 0.08 บาทต่อหุ้น เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2566 ทำให้ต้องจ่ายอีก   0.05 บาท ต่อหุ้น ในวันที่ 17 เมษายน 2567” อภิชาติ กล่าว