SCGP ประกาศผลการดำเนินงานปี 2566 ทำรายได้จากการขาย 129,398 ล้านบาท และกำไรสำหรับปี 5,248 ล้านบาท จากการเพิ่มประสิทธิภาพบริหารต้นทุนและเสริมความแข็งแกร่งของเครือข่ายจัดหาวัตถุดิบกระดาษรีไซเคิลที่ครอบคลุม ชี้แนวโน้มอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ปีนี้ฟื้นตัวจากการกระตุ้นท่องเที่ยว ส่งออกฟื้นตัว อัตราเงินเฟ้อและดอกเบี้ยนโยบายมีแนวโน้มลดลง กางแผนปี 2567 วางกลยุทธ์รุกสร้างรายได้และทำกำไรให้ธุรกิจ ตั้งเป้าหมายรายได้จากการขาย 150,000 ล้านบาท
วิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP แถลงผลการดำเนินงานบริษัทฯ ปี 2566 มีรายได้จากการขาย 129,398 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 11 จากปีก่อน มี EBITDA 17,769 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 8 จากปีก่อน และมีกำไรสำหรับปี 5,248 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 10 จากปีก่อน โดยมีอัตรา EBITDA Margin ปรับเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 14 จากปีก่อนที่ร้อยละ 13 จากการมุ่งเน้นบริหารต้นทุนและการผลิตสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ มียอดขายบรรจุภัณฑ์สินค้าอุปโภคบริโภคที่ยังแข็งแกร่ง แม้ภาพรวมอุตสาหกรรมกระดาษบรรจุภัณฑ์ปีที่ผ่านมามีการแข่งขันด้านราคาสูงขึ้น และมีปัจจัยอัตราเงินเฟ้อและภาวะดอกเบี้ยซึ่งส่งผลกระทบกับกำลังซื้อของผู้บริโภค ทั้งนี้ปัจจุบันสถานการณ์ราคาขายกระดาษบรรจุภัณฑ์และเยื่อกระดาษในภูมิภาคผ่านจุดต่ำสุดแล้ว และมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวของความต้องการซื้อในภูมิภาคอาเซียนและประเทศจีน
ส่วนผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 มีรายได้จากการขาย 31,881 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ส่วน EBITDA 4,388 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 23 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และมีกำไรสำหรับงวด 1,218 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 171 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลงร้อยละ 8 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้และต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น โดย EBITDA และกำไรสำหรับงวดที่เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน มาจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณขายในเกือบทุกกลุ่มสินค้า และการเสริมประสิทธิภาพการบริหารต้นทุน โดยนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ที่โรงงานในประเทศไทย การมีเครือข่ายจัดหาวัตถุดิบกระดาษรีไซเคิลที่ครอบคลุม ช่วยลดผลกระทบด้านราคาและเพิ่มความมั่นคงด้านการจัดหาวัตถุดิบ รวมถึงการเพิ่มสัดส่วนใช้พลังงานชีวมวล
ทั้งนี้ ภาพรวมอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม สินค้าอุปโภคบริโภคที่ได้รับปัจจัยบวกจากการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลปีใหม่และการท่องเที่ยว การฟื้นตัวของการบริโภคในประเทศเวียดนามและประเทศอินโดนีเซีย สินค้าส่งออกโดยเฉพาะอาหารแช่แข็งและอาหารสัตว์เลี้ยงที่ฟื้นตัวดี ส่วนสินค้าคงทนยังทรงตัว
จากผลการดำเนินงานของปี 2566 คณะกรรมการบริษัทมีมติให้เสนอที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นเพื่ออนุมัติการจ่ายเงินปันผลประจำปี 2566 ในอัตราหุ้นละ 0.55 บาท โดยบริษัทได้จ่ายเป็นเงินปันผลงวดระหว่างกาลไปแล้วในอัตราหุ้นละ 0.25 บาท เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 และจะจ่ายเงินปันผลงวดสุดท้ายในอัตราหุ้นละ 0.30 บาท ในวันที่ 22 เมษายน 2567 ตามรายชื่อ ณ วันกำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิรับเงินปันผลในวันที่ 3 เมษายน 2567 โดยจะขึ้นเครื่องหมาย XD หรือวันที่ไม่มีสิทธิรับเงินปันผลในวันที่ 2 เมษายน 2567
วิชาญ กล่าวว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ปี 2567 มีแนวโน้มฟื้นตัว โดยเฉพาะภูมิภาคอาเซียน เช่น ประเทศไทย ประเทศเวียดนาม ประเทศอินโดนีเซีย รวมถึงประเทศจีน โดยมีปัจจัยบวกจากนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวและการส่งออกที่คาดว่าจะฟื้นตัว อัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่มีแนวโน้มลดลงจะส่งผลดีต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค ในขณะที่ราคาพลังงานและราคาวัตถุดิบกระดาษรีไซเคิลมีแนวโน้มทรงตัวจนถึงเพิ่มขึ้น และการปรับค่าระวางเรือขนส่งสินค้าที่อาจเกิดขึ้นจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลาง
SCGP พร้อมสร้างการเติบโตเพื่อบรรลุเป้าหมายรายได้ปี 2567 ที่ 150,000 ล้านบาท ด้วยงบลงทุนรวม 15,000 ล้านบาท ผ่านกลยุทธ์การขยายในธุรกิจที่มีศักยภาพเติบโตสูง อย่างธุรกิจวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ บรรจุภัณฑ์อาหาร และการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ Bio-Solutions ที่เป็นเมกะเทรนด์ การพัฒนานวัตกรรมและโซลูชันอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการทำธุรกิจ และการบริหารจัดการต้นทุน ควบคู่ไปกับการยกระดับการทำงานสู่ความเป็นเลิศ (Operational Excellence) ผ่านการใช้เทคโนโลยี รวมถึงการขับเคลื่อน ESG เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทางเลือก พร้อมทั้งดำเนินงานเพื่อก้าวสู่เป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2593