บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTA ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน “Buddy Thai” แพลตฟอร์มช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่โดนบูลลี่ในสังคมไทย ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย และ เพจ Because We Care ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวง พม. และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จัดกิจกรรม “BuddyThai โดนบูลลี่ มาหาบัดดี้” ในภาคใต้ภายใต้โครงการ “CYC Plus รู้รักในวัยเรียน”
กิจกรรมนี้จัดขึ้นด้วยความเจตนารมณ์และร่วมมือกันของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน โดยมี อภิญญา ชมภูมาศ อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิด และโดยความตั้งใจของ เฉลิมชัย มหากิจศิริ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TTA ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญในการปลูกจิตสำนึกและรณรงค์ให้เด็กและเยาวชนตระหนักรู้เรื่องพฤติกรรมการกลั่นแกล้งรังแก (Bully) การรู้เท่าทันอารมณ์ และการป้องกันการกระทำความรุนแรงในทุกมิติ รวมถึงส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนมีความรู้ ความเข้าใจ และรู้จักช่องทางการขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ เมื่อต้องรับมือกับสถานการณ์การถูกกลั่นแกล้งรังแก (Bully) ผ่านการใช้งานแอปพลิเคชัน “BuddyThai”
กิจกรรม “BuddyThai โดนบูลลี่ มาหาบัดดี้” นี้สอดคล้องกับจุดประสงค์ของโครงการ “CYC Plus รู้ รักในวัยเรียน” ที่ต้องการมุ่งเน้นให้เห็นถึงความสำคัญของการป้องกันการกระทำความรุนแรง และสร้างการรับรู้ที่ดีในการป้องกันตนเองและการช่วยเหลือผู้อื่น ผ่านการอบรมและการสร้างสื่อประชาสัมพันธ์ที่จะช่วยพัฒนาเด็กและเยาวชนให้ตระหนักรู้ถึงปัญหาสังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม ที่อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพกายและสุขภาพใจได้
สำหรับ แอปพลิเคชัน “BuddyThai” เป็นแอปพลิเคชันที่พัฒนาร่วมกันระหว่างบริษัทฯ และกรมสุขภาพจิต โดยสถาบันสุขภาพจิตเด็กและเยาวชนและวัยรุ่นราชนครินทร์ มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่โดนรังแกหรือโดนบูลลี่ในโรงเรียนและโดนบูลลี่ผ่านโซเชียลมีเดีย และเพื่อบรรเทาปัญหาการฆ่าตัวตายในกลุ่มเด็กและเยาวชนในสังคมไทย โดยแอปพลิเคชัน “BuddyThai” มีคุณสมบัติและฟังก์ชันที่ออกแบบมาเพื่อเป็นที่ปรึกษาแก่เด็กและเยาวชนโดยเฉพาะ ซึ่งมีจุดเด่นอยู่ 3 ประการ คือ
- มีปุ่มขอคำปรึกษากับนักจิตวิทยาได้โดยตรง เพื่อให้ เด็กและเยาวชน สามารถกดปุ่มนี้เพื่อติดต่อถึงสายด่วน 1323 ของกรมสุขภาพจิต หรือเลือกแชทกับนักจิตวิทยาผ่าน Facebook ของกรมสุขภาพจิต, ผ่านนักจิตวิทยาและอาสา LoveCare Station ของมูลนิธิแพธทูเฮลท์ และผ่าน Facebook ของ BuddyThai App ก็ได้เช่นกัน
- มีแบบประเมินตนเอง ด้านความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) รวมถึงมีชุดความรู้และแบบฝึกหัดทักษะการใช้ชีวิต ที่จะทำให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้ว่าจะต้องรับมือกับสถานการณ์ในชีวิตอย่างไร โดยเฉพาะเมื่อโดนบูลลี่ พร้อมมีคำแนะนำดีๆ จากนักจิตวิทยาที่เชื่อถือได้
- มีระบบบันทึกข้อมูลอารมณ์ในแต่ละวัน เด็กและเยาวชนสามารถเข้ามาบันทึกอารมณ์ของตัวเองได้ทุกวันและวันละหลายๆ ครั้ง และใส่เหตุผลได้ด้วย ข้อมูลอารมณ์จะบันทึกเป็นสถิติรายสัปดาห์และรายเดือน ทำให้เด็กและเยาวชนเช็คได้ว่า ที่ผ่านมาส่วนใหญ่ตนเองมีอารมณ์หนักไปทางด้านใด เพราะอะไร โดยมีเทคนิคการจัดการอารมณ์ให้เด็กอ่านด้วยตนเอง ในขณะที่ หากพบว่าเด็กและเยาวชนคนไหนบันทึกว่า มีอารมณ์เครียด ซึมเศร้าติดต่อกันเป็นอาทิตย์และมีแนวโน้มคิดฆ่าตัวตาย ทีม admin ก็จะ Monitor เด็กและเยาวชนคนนี้อย่างใกล้ชิด และสามารถแจ้งไปยังโรงเรียนและคุณครู หรือนักจิตวิทยาสายด่วนในการติดต่อเชิงรุกได้
ปัจจุบัน แอปพลิเคชัน “BuddyThai” ได้นำร่องให้นักเรียนในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครไปอย่างก่อนหน้านี้ และให้ดาวน์โหลดใช้งาน พร้อมแชร์ประสบการณ์ให้ทีมพัฒนาแอปพลิเคชันนำไปวางแผนปรับปรุงให้ดีขึ้นต่อไป สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมสามารถเยี่ยมชมได้ที่เว็บไซต์ www.buddy4thai.com