ก.ล.ต. นับหนึ่งไฟลิ่ง ‘บมจ.ยูโรเอเชีย โทเทิล โลจิสติกส์’ หรือ ETL เตรียมเสนอขาย IPO จำนวน 171.87 ล้านหุ้น

487

‘บมจ.ยูโรเอเชีย โทเทิล โลจิสติกส์ หรือ ETL’ ผู้ให้บริการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดน เตรียมเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 171.87ล้านหุ้น หลังสำนักงาน ก.ล.ต. นับหนึ่งไฟลิ่ง คาดเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ภายในปีนี้ เพื่อนำเงินจากการระดมทุนขยายธุรกิจขนส่งสินค้าข้ามพรมแดน พัฒนาขั้นตอนการให้บริการที่มีความยืดหยุ่น ตอบสนองต่อความต้องการลูกค้าได้อย่างได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ พร้อมเดินหน้าสู่การเป็นผู้นำในธุรกิจให้บริการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนในอนาคต 

กฤชวรรณ ซื้อเจริญชัย กรรมการผู้จัดการบริษัท ยูโรเอเชีย โทเทิล โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน)(บริษัทฯ) หรือ ETL เปิดเผยว่า ผู้บริหารของกลุ่มบริษัทฯ มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์มามากกว่า 10 ปี โดยบริษัทฯ เป็นหนึ่งในผู้ให้บริการโลจิสติกส์สัญชาติไทยที่ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ที่มีธุรกิจหลัก คือ การให้บริการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดน (Cross-Border Transport Carrier) อย่างครบวงจร ด้วยความมุ่งมั่นเป็นอย่างยิ่ง ที่จะเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนไปยังประเทศต่างๆ ทั้งในแถบทวีปเอเชียและทวีปยุโรป ภายใต้การบูรณาการรูปแบบการขนส่งที่หลากหลาย  ให้สามารถบริการขนส่งข้ามพรมแดนที่รวดเร็ว มีความยืดหยุ่น และมีประสิทธิภาพ สามารถรองรับการขยายตัวของภาคธุรกิจ รวมถึงมุ่งเน้นต่อการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ในแต่ละประเทศ  

ทั้งนี้ ด้วยวิสัยทัศน์ที่สำคัญของบริษัทฯ ในการเชื่อมโยงประเทศในยุโรปและเอเชียให้ใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้นผ่านบริการขนส่งที่รวดเร็ว คุ้มค่า และหลากหลายรูปแบบ เพราะธุรกิจโลจิ‍สติกส์ถือเป็นส่วนสำคัญในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) และต้นทุนทางธุรกิจที่สำคัญของผู้ประกอบการ กลุ่มบริษัทฯ จึงมุ่งมั่นในการพัฒนาขั้นตอนการให้บริการที่มีความยืดหยุ่น และสามารถตอบสนองต่อความต้องการลูกค้าได้อย่างได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ มุ่งมั่นสู่การเป็นผู้นำในธุรกิจให้บริการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนในอนาคต 

ปัจจุบัน บริษัทฯ เป็นผู้ให้บริการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนระหว่างประเทศ (Cross Border Transportation Service) โดยมีบริการ 2 รูปแบบ ได้แก่ (1.) การขนส่งสินค้าแบบเต็มตู้ (Full Truck Load: FTL) การให้บริการขนส่งสินค้าแบบเต็มตู้คอนเทนเนอร์ หรือเหมาทั้งตู้คอนเทนเนอร์ โดยสินค้าภายในตู้คอนเทนเนอร์จะเป็นของผู้ส่งหรือลูกค้าเพียงรายเดียว ซึ่งบริษัทฯ จะให้บริการแบบ Door to Door โดยบริษัทฯ จะนำรถบรรทุกพร้อมตู้คอนเทนเนอร์ไปรับสินค้าจากโรงงานหรือคลังสินค้าของผู้ส่งสินค้า (Shipper) และส่งไปยัง โรงงาน หรือคลังสินค้าของผู้รับสินค้า (Consignee) และ (2.) การขนส่งสินค้าแบบไม่เต็มตู้ (Less than Truck Load: LTL) การให้บริการขนส่งสินค้าที่สินค้าในตู้คอนเทนเนอร์จะเป็นของลูกค้ามากกว่า 1 รายแบ่งใช้พื้นที่ร่วมกัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกค้าที่มีปริมาณขนส่งไม่มากพอที่จะเช่าตู้คอนเทนเนอร์ทั้งตู้ เพื่อบรรจุสินค้าเฉพาะของตนเอง ทั้งนี้ สินค้าจะถูกนำมาส่งยังจุดรวมสินค้า (Hub) ของบริษัทฯ จากนั้นบริษัทฯ มีทำหน้าที่รวบรวมสินค้า คำนวณพื้นที่ในการจัดวางและจัดทำแผนงาน (Consolidation Plan) และขนส่งสินค้าไปส่งยังจุดรวมสินค้า (Hub) ปลายทางของบริษัทฯ ตามตารางเวลาการขนส่งที่บริษัทฯ กำหนด 

โดยกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของบริษัทฯ ได้แก่ ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ระหว่างประเทศแบบครบวงจร (International Logistics Services and Solutions Provider) ที่ให้บริการโลจิสติกส์แก่ผู้ประกอบการเพื่อนำเข้าและส่งออกในหลากหลายอุตสาหกรรม เช่นอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค อาหารและเครื่องดื่ม ผลไม้ ยาและเวชภัณฑ์ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ สินค้าอิเลกทรอนิกส์ อุปกรณ์โซลาร์เซลล์ เป็นต้น ทั้งนี้ กลุ่มลูกค้าหลักของ ETL มีทั้งบริษัทนานาชาติ (Multinational Company) และบริษัทภายในประเทศ (Local Company) นอกจากนี้ บริษัทฯ มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและความต้องการร่วมกับลูกค้า เพื่อที่จะได้นำความคิดเห็นดังกล่าวมาปรับปรุงการให้บริการและนำเสนอการให้บริการที่เหมาะสมต่อความต้องการและมีประสิทธิภาพสูงสุดแก่ลูกค้า 

กรรมการผู้จัดการบริษัท ETL กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทฯ มุ่งเน้นสร้างความแตกต่างในการบริการโลจิสติกส์ขนส่งสินค้าข้ามพรมแดน เพื่อสร้างทางเลือกให้แก่ลูกค้า โดยที่ผ่านมาได้มีการศึกษาและพัฒนาการให้บริการขนส่งรูปแบบใหม่เพิ่มเติม เพื่อบูรณาการการขนส่งทางถนนเข้ากับการขนส่งทางรางรถไฟ จีน-ลาว โดยได้เปิดให้บริการเมื่อปลายปี 2564 นับเป็นการเพิ่มทางเลือกให้แก่ลูกค้าของบริษัทฯ เพื่อเชื่อมการขนส่งทางถนนเข้ากับการขนส่งทางรางรถไฟในประเทศจีน ข้ามชายแดนมายังประเทศลาว จากนั้นเชื่อมต่อกับการขนส่งทางถนนเพื่อข้ามชายแดนมายังประเทศไทยที่ จ.หนองคาย อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ยังมีแผนที่จะขยายการให้บริการขนส่งด้วยรางรถไฟที่สามารถเชื่อมต่อจากจีนไปยังประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรป ภายใต้ โครงการ One Belt, One Road (OBOR) ของประเทศจีนอีกด้วย  

พร้อมกันนี้ บริษัทฯ ได้จัดตั้งบริษัทย่อย และบริษัทร่วมในประเทศต่างๆ อันเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ เพื่อรองรับการให้บริการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดน โดยปัจจุบัน กลุ่ม ETL มีบริษัทรวมทั้งสิ้น 7 บริษัท ในประเทศไทย มาเลเซีย เวียดนาม และจีน โดยลูกค้าหรือผู้ส่งสินค้าในแต่ละประเทศ สามารถติดต่อเพื่อใช้บริการได้มีศูนย์รวมสินค้า (Hub) ในประเทศต่างๆ ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย และจีน เพื่อเป็นจุดรับส่ง และรวมสินค้า อีกทั้ง ได้จัดตั้ง Command Center ในสำนักงานของแต่ละประเทศ เพื่อเป็นศูนย์ปฏิบัติการสำหรับการติดตามสถานะการขนส่งสินค้าและประสานงานการขนส่งระหว่างประเทศต่างๆ พร้อมพัฒนาโปรแกรม Transportation Management System: TMS สำหรับใช้ในการติดตามสถานการณ์ขนส่งในแต่ละประเทศ ทำให้สามารถติดตามตำแหน่งของรถบรรทุกได้แบบเรียลไทม์ (Real Time) รวมถึงติดตามสินค้าในตู้คอนเทนเนอร์ได้ตลอดเส้นทางการขนส่งผ่านระบบ Global Positioning System (GPS) และกล้อง CCTV ซึ่งมีระบบการแจ้งความคืบหน้าสถานะการขนส่งอัตโนมัติให้ลูกค้าทราบ 

จิรยง อนุมานราชธน กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจย์ แคปปิตอล แอดไวเซอรี จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า หลังจากที่ บมจ.ยูโรเอเชีย โทเทิล โลจิสติกส์ หรือ ETL ได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (แบบไฟลิ่ง) การเสนอขายหลักทรัพย์และแบบคำขออนุญาตเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) ล่าสุด สำนักงาน ก.ล.ต. ได้เริ่มนับหนึ่งไฟลิ่งแล้วเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2566 ปัจจุบันบริษัทฯ อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมเพื่อเสนอขายหุ้น IPO คาดเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ภายในปีนี้ 

ทั้งนี้ ETL มีทุนจดทะเบียนจำนวน 310,000,000 บาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 620,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท โดยเป็นทุนชำระแล้วทั้งสิ้นจำนวน 224,067,280 บาท แบ่งออกเป็นหุ้นสามัญจำนวน 448,134,560 หุ้น และจะเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 171,865,440 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท คิดเป็นไม่เกินร้อยละ 27.72 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญในครั้งนี้ โดยจะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปใช้ในการขยายธุรกิจ ชำระคืนเงินกู้ยืม และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในอนาคต