ม.อ.ประกาศขับเคลื่อนสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งคุณค่า เปิดเวทีระดมสมอง “สมัชชาสงขลานครินทร์” กำหนดกรอบวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์

131

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เดินหน้ายกระดับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์สู่มหาวิทยาลัยแห่งคุณค่า เปิดเวทีระดมสมองร่วมบูรณาการศาสตร์การพัฒนามหาวิทยาลัย กำหนดแผนยุทธศาสตร์การพัฒนามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 4 ปี (2566-2570) วางวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ 5 SOs สู่เป้าหมายเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัยและนวัตกรรม มีความเป็นเลิศทางวิชาการติดอันดับ Top 500 โดยการจัดอันดับจาก QS Rankings ในปี 2570

ผศ.ดร.นิวัติ แก้วประดับ

ผศ.ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดี  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เปิดเผยว่า ทิศทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ  ม.อ.มุ่งขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ครั้งใหม่ ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ 4ปี (2566-2570) ก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งคุณค่า เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับแนวหน้าของโลก ภายใต้วัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ 5 ด้าน ได้แก่ การเกษตรอาหาร สุขภาพ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องของสังคมพหุวัฒนธรรม และเรื่องของการสร้างนวัตกรรมและการท่องเที่ยว โดยทีมผู้บริหารและบุคลากรจะร่วมกันยกระดับการทำงาน พร้อมกับการเชื่อมโยงระบบ PSU System ซึ่งเป็นเครือข่ายของ 5 วิทยาเขตที่ทํางานกันอย่างเข้มแข็ง เพื่อสร้างบุคลากรที่แข็งแกร่งให้กับประเทศ

“มหาวิทยาลัยเป็นสมองของประเทศ ม.อ.พร้อมจะขับเคลื่อนไปสู่มหาวิทยาลัยที่มีคุณค่าและมีความหมาย แม้ว่าเราจะเป็นมหาวิทยาลัยภูมิภาค แต่ด้วยศักยภาพเชื่อว่าจะยกระดับสงขลานครินทร์สู่ระดับโลกได้ โดยเราจะปรับวิธีการทำงานร่วมกัน พร้อมที่จะเข้าไปทํางานร่วมกับทุกภาคส่วน ร่วมมือจากหลายฝ่ายทั้งภายในและภายนอก แก้ปัญหาเพื่อขับเคลื่อนประเด็นสำคัญของสังคม ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างแท้จริงในอนาคต” ผศ. ดร.นิวัติ กล่าว

ผศ.ดร. พงค์เทพ สุธีรวุฒิ

            ด้าน ผศ.ดร. พงค์เทพ สุธีรวุฒิ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและยุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) กล่าวว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เดินหน้าจัดงาน ‘สมัชชามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์’ภายใต้กรอบเรื่อง “การขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์สู่โลกแห่งอนาคต” ครั้งที่ 1 เพื่อระดมความคิดเห็น 3 มิติ ได้แก่ 1.การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อเป็นกำลังของชาติ 2.การสร้างและเพิ่มมูลค่าความรู้นวัตกรรมนำไปสู่การพัฒนาประเทศ และ 3.การพลิกโฉมรูปแบบทางวิชาการและความเป็นเลิศทางวิชาการโดยมุ่งนำเสนอเชิงนโยบายหลากหลายด้าน ทั้งการปรับวิสัยทัศน์สู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งคุณค่าเพื่อขับเคลื่อนและการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับโลก ด้วยการพัฒนาระบบการเรียนการศึกษาโดยการนำระบบเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุน การพัฒนาระบบการลงทุนด้านนวัตกรรม การสร้างระบบนิเวศวิจัยเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางวิชาสู่การพัฒนาประเทศ

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์

          ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) กล่าวถึงการเปิดเวทีสมัชชามหาวิทยาลัยในครั้งนี้ว่า เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การพัฒนามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พ.ศ. 2566 – 2570 และในอนาคต โดยการระดมสมองครั้งนี้เพื่อการกำหนดทิศทาง การบริหาร แนวคิดและสร้างความเข้าใจร่วมกันของบุคลากรทุกภาคของ ม.อ. เพื่อร่วมมือในการบูรณาการศาสตร์ในการขับเคลื่อนการพัฒนามหาวิทยาลัยในอนาคต ทั้งการวางแผนงาน โครงการขนาดใหญ่ที่สำคัญก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้างต่อทุกภาคส่วนของประเทศ

รศ.ดร.ธนิต เฉลิมยานนท์

รศ.ดร.ธนิต เฉลิมยานนท์ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและการเงิน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.)กล่าวว่า การขับเคลื่อนสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งคุณค่าด้วยวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วางเป้าหมายในปี 2570 จะได้รับการจัดอันดับเป็น Top 500 โดยการจัดอันดับจาก QS Rankings เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัยและนวัตกรรม มีความเป็นเลิศทางวิชาการ และเป็นกลไกหลักขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนให้ภาคใต้และประเทศ ซึ่งวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ ประกอบด้วย 5 SOs ด้วยกัน ได้แก่SO1 สร้างความมั่นคงด้านอาหารและเกษตรกรรมยั่งยืนเพื่อความอยู่ดีมีสุข SO2 สร้างสรรค์องค์ความรู้และนวัตกรรมด้านสุขภาพและการแพทย์ SO3 สร้างความยั่งยืนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม SO4 สร้างสังคมพหุวัฒนธรรมและวิถีสุวรรณภูมิสู่ความยั่งยืน และ SO5 ยกระดับเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และการท่องเที่ยวมูลค่าสูง 

ทั้งนี้ตามแผนยุทธศาสตร์ ม.อ. จะขับเคลื่อน 12 ด้าน ประกอบด้วย 1.การพัฒนาเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง 2.การท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพและความยั่งยืน 3.ฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก4. การแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง 5.ประตูการค้าการลงทุนและโลจิสติกส์ 6.ศูนย์กลางดิจิทัลและอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ7.SMEs ที่เข้มแข็ง ศักยภาพสูง แข่งขันได้ 8.พื้นที่และเมืองอัจฉริยะ 9.ความยากจนข้ามรุ่นและความคุ้มครองทางสังคม 10.เศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ 11.การลดความเสี่ยงภัยธรรมชาติ และ 12.กำลังคนที่มีสมรรถนะสูง