ทิพยประกันภัย ร่วมกับภาคีเครือข่าย หนุนครูอาจารย์ทั่วประเทศ บูรณาการระบบนิเวศสร้างชุมชนเข้มแข็ง

316

รณชัย จิตรวิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ให้เกียรติเป็นประธานเปิดโครงการและกล่าวเปิดงาน ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 16 ณ โครงการพัฒนาที่ดินมูลนิธิชัยพัฒนาบ้านเกาะคู อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก  จัดโดยบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ร่วมกับศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) มูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สมาคมนักเรียนเก่า AFS ประเทศไทย และมูลนิธิธรรมดี นำคณะครูอาจารย์ที่ได้รับการคัดเลือกจากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ รวมทั้งผู้บริหารจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่สนใจ กิจกรรมเน้นการเรียนรู้ระบบ Ecosystem การมีส่วนร่วมในชุมชน การเกื้อกูลแบ่งปัน สร้างสมดุลเพื่อความแข็งแรงของชุมชนอย่างยั่งยืน

รณชัย จิตรวิเศษ ผู้ว่าฯ พิษณุโลก

ปัญหาสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19)  ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลากว่า 3 ปี อีกทั้งสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ก่อให้เกิดสภาวะวิกฤตเศรษฐกิจผันผวน ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต เกิดความไม่มั่นคง การน้อมนำเอาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาปรับใช้กับวิถีชีวิตด้วยความพอเพียง Self Sufficiency และการสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจของตนเองให้มีความมั่นคงแข็งแรง มีความพอกินพอใช้ จนมีฐานะเพียงพอที่จะพึ่งตนเอง ต่อยอดไปถึงการรวมตัวสร้างเครือข่าย เพิ่มความเจริญก้าวหน้าและฐานะทางเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นไปตามลำดับอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้คนไทยสามารถอยู่รอดได้

วรางศิญา กองนิมิตร

ในงานนี้ยังได้รับฟังการบรรยายภาพรวมของโครงการพัฒนาที่ดินมูลนิธิชัยพัฒนาบ้านเกาะคู อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลกจาก วรางศิญา กองนิมิตร เจ้าหน้าที่สำนักบริหารโครงการ 4 ซึ่งโครงการนี้ ดำเนินกิจกรรมด้านการส่งเสริมการพัฒนาอาชีพเกษตรกร สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร โดยเฉพาะ “กล้วย” พืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้สู่วิถีความมั่นคง โดย มูลนิธิฯ ดำเนินการด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตกล้วยตากโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ (พาราโบลาโดม) ส่งเสริมการผลิตกล้วยตากที่ถูกสุขลักษณะ และการแปรรูป การขยายพันธุ์กล้วย รวมทั้งการผลิตหน่อพันธุ์ดีให้กับเกษตรกร ตลอดจนการอนุรักษ์พันธุ์กล้วยที่หายาก  อีกทั้งการจัดทำแปลงสาธิตการปลูกไม้ผลแบบผสมผสาน รวมทั้งดำเนินการทดสอบปลูกข้าวพันธุ์ดี เพื่อช่วยให้เกษตรกรมีทางเลือกเสริมมากขึ้น  นอกจากนี้ สนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่มในรูปแบบของสหกรณ์ เพื่อให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในกิจกรรมของชุมชนและสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างเข้มแข็ง  เป็นการแสดงถึงทฤษฎีใหม่ขั้นที่สอง หรือขั้นที่สาม คือ นอกจากการแปรรูปการเกษตรแล้ว ยังเชื่อมโยงกับกับกิจกรรมการขายและการตลาดในประเทศที่มีความสำคัญ แสดงให้เห็นถึงทฤษฎีใหม่ทั้ง 3 ขั้น ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้ประทานไว้ คือทุกคนสามารถเป็นเศรษฐีอย่างยั่งยืนได้ ซึ่งคณะครู อาจารย์ จะได้เรียนรู้และร่วมกันลงมือทำกิจกรรมตามฐานต่างๆ อาทิ  กิจกรรมการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากกล้วย การขยายพันธุ์กล้วย การใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตกล้วยตาก เป็นต้น

วิชชุดา ไตรธรรม

วิชชุดา ไตรธรรม ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน)  กล่าวว่า “กิจกรรมทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ที่เราได้ดำเนินมา 15 ครั้งอย่างต่อเนื่อง ล้วนเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการดูแลรักษา อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ พื้นดิน ป่า และสิ่งแวดล้อม สำหรับกิจกรรมในครั้งที่ 16 นี้  เป็นการพัฒนาไปสู่อีกขั้นของการปฏิบัติตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คือเน้นการต่อยอดผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและ

การสร้างการมีส่วนร่วมในชุมชน ถือเป็นการสร้าง Ecosystem  ช่วยให้เกษตรกรสามารถรวมตัวกันสร้างรายได้ เกิดความคุ้มค่าด้านต้นทุน สร้างกิจการให้เจริญเติบโต สู่การพัฒนาคุณภาพชีวิต Ecosystem คืออีกหนึ่งแนวคิดในการทำธุรกิจหรือโครงการ เป็นทางรอดของทุกคนในยุคนี้ ซึ่งครู อาจารย์ ที่เข้าร่วมโครงการในกิจกรรม สามารถใช้ประสบการณ์จากการเรียนรู้โมเดลการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรนี้ ไปลงมือทำ นำไปเผยแพร่เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ในกลุ่มเยาวชนและเครือข่ายที่เกี่ยวข้องต่อไปได้ โดยโครงการ “ทิพยทำความดีไม่มีสิ้นสุด” พร้อมร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือสังคมในทุกมิติ”

ด้าน ดร. ดนัย จันทร์เจ้าฉาย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ มูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด กล่าวว่า “การน้อมนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติ โดยการพึ่งพาตนเองนั้นเป็นเรื่องที่เหมาะสมที่สุดกับปัจจุบัน  การที่ครู อาจารย์ ที่ผ่านการคัดเลือกจากทั่วประเทศได้รับโอกาสลงพื้นที่เรียนรู้ ณ โครงการพัฒนาที่ดินมูลนิธิชัยพัฒนาบ้านเกาะคู อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลกเป็นการเสริมบริบทในการที่จะเข้าใจในหลักการพึ่งตนเอง 5 ประการ คือ ด้านจิตใจที่เข้มแข็งมีจิตสำนึกที่ดี ด้านสังคมมีการช่วยเหลือเกื้อกูลในชุมชน ด้านทรัพยากรธรรมชาติด้วยการจัดการทรัพยากรอย่างเหมาะสม ด้านการเลือกใช้เทคโนโลยีและพัฒนาให้สอดคล้องกับภูมิปัญญา และด้านเศรษฐกิจที่นอกเหนือจากการสามารถบริหารจัดการให้อยู่ได้อย่างพอเพียงแล้ว ยังพัฒนาไปสู่การสร้างพลังจากเครือข่ายในชุมชนให้เข้มแข็งสามารถพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งเป็นการเตรียมพื้นฐานที่ดี ในการที่เราจะก้าวสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยังยืนขององค์การสหประชาชาติ UNSDG ได้ภายในปี 2030”

ขณะที่ รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) กล่าวว่า “การลงพื้นที่เรียนรู้         ณ โครงการพัฒนาที่ดินมูลนิธิชัยพัฒนาบ้านเกาะคู อำเภอบางกระทุ่มจังหวัดพิษณุโลก เป็นหนึ่ง ใน 9 เส้นทาง 81 แหล่งการเรียนรู้ 4,877 โครงการในพระราชดำริ ที่คัดสรรอยู่ใน “หนังสือเดินทางตามรอยพระราชา”  คาดหวังว่าครูอาจารย์และผู้ร่วมกิจกรรมทุกท่าน จะเกิดความเข้าใจมากขึ้นในเรื่องปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และใช้พื้นที่นี้ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การส่งเสริมคุณธรรม สามารถนำไปขยายผลเพื่อช่วยกันขับเคลื่อนสังคมให้เป็นสังคมคุณธรรม พร้อมทั้งส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือต่อไป”

นอกจากการลงพื้นที่ร่วมกันทำกิจกรรมตามฐานต่างๆ  แล้ว คณะครู อาจารย์ ยังเข้าร่วมการถอดบทเรียน โดย  อาจารย์อดุลย์ ดาราธรรม นายกสมาคมนักเรียนเก่า AFSประเทศไทย  ให้เกียรติเป็นวิทยากร จัดกิจกรรม Interactive Board Workshop ตามรอยนวัตกรรมศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนระดับสากล และ “The King’s Journey: Learn English an Example of an Invention” ซึ่งคณะครูอาจารย์สามารถนำนวัตกรรมการเรียนรู้ไปต่อยอดการเรียนการสอนสำหรับเยาวชนต่อไป

หน่วยงานหรือองค์กรที่สนใจร่วมเรียนรู้นวัตกรรมศาสตร์พระราชา สามารถติดต่อได้ที่มูลนิธิธรรมดี เว็บไซต์ http://www.do-d-foundation.com แฟนเพจ: ตามรอยพระราชา-The King’s Journey Facebook: มูลนิธิธรรมดี
และ LINE Official: @dfoundation