ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทวีความรุนแรงขึ้น “ผู้ป่วยโรคไต” นับได้ว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มเปราะบางที่แพทย์ต่างก็ออกมาแสดงความเป็นห่วงมากเป็นพิเศษ เนื่องจากยากดภูมิคุ้มกันที่ใช้ในกลุ่มผู้ป่วยปลูกถ่ายไต และ ภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอลงในกลุ่มผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่ล้างไต ส่งผลให้ผู้ป่วยโรคไตมีระดับภูมิต้านทานต่ำกว่าคนทั่วไป จึงทำให้มีโอกาสติดโรคโควิด-19 ได้ง่าย อีกทั้ง หากผู้ป่วยโรคไตติดขึ้นมา จะมีความเสี่ยงสูงมากที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ทั้งจากโรคไตเองและจากโรคโควิด-19 และมีแนวโน้มที่โรคโควิด-19 จะลุกลามไปสู่ระดับรุนแรง จนอาจต้องเข้ารับการรักษาใน ICU หรือเสียชีวิต
ด้วยตระหนักถึงความเสี่ยงสูงในกลุ่มผู้ป่วยโรคไต รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย จึงนำทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคไต แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ และแพทย์ผู้มีประสบการณ์ดูแลผู้ป่วยโรคไตซึ่งติดโควิด-19 ทั้งจากโรงพยาบาลรัฐและเอกชน ร่วมกันจัดงานบรรยายพิเศษ ‘Optimising COVID-19 Management in Kidney Patients’ เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจแก่บุคลากรทางการแพทย์ ถึงแนวทางการรับมือที่เหมาะสมและทันท่วงทีต่อการติดโรคโควิด-19 ในผู้ป่วยโรคไต ด้วยยาในกลุ่มภูมิคุ้มกันลบล้างฤทธิ์อย่าง ‘แอนติบอดี ค็อกเทล’ ซึ่งมีผลการทดสอบทางคลินิกในต่างประเทศ[1] ระบุว่าช่วยลดจำนวนไวรัสในร่างกาย จึงช่วยให้ผู้ป่วยโควิด-19 ลดอัตราการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลได้ถึง 70% ลดระยะเวลาการแสดงอาการให้สั้นลง 4 วัน รวมถึงลดความเสี่ยงที่จะต้องใช้เครื่องช่วยหายใจหรือเสียชีวิตได้
ยาแอนติบอดี ค็อกเทล มีข้อบ่งใช้เพื่อการป้องกันการติดเชื้อ[1] และเพื่อการรักษาโควิด-19 ในผู้ป่วยอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีความเสี่ยงสูงที่โรคโควิด-19 อาจลุกลามไปสู่ระดับรุนแรง นอกจากนี้ ยาแอนติบอดี ค็อกเทลไม่ใช่ยาที่ดูดซึมผ่านทางไต จึงไม่กระทบต่อยาชนิดอื่นที่ผู้ป่วยไตได้รับอยู่
อีกทั้ง เมื่อเร็วๆ นี้ พลอากาศโท นายแพทย์อนุตตร จิตตินันทน์ ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย พร้อมด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ยังได้ร่วมกันจัดกิจกรรมเสวนาเพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไป ในหัวข้อ ‘โควิดจะยังอยู่กับเราต่อไป ผู้ป่วยไตรับมืออย่างไรดี’ เพราะแม้ประชาชนไทยมากกว่าครึ่งจะได้รับวัคซีนอย่างน้อย 2 เข็ม และประชาชนบางส่วนเริ่มได้รับการกระตุ้นด้วยวัคซีนเข็ม 3 จากความร่วมมือของหน่วยภาครัฐและภาคเอกชนแล้ว[1] แต่สำหรับผู้ป่วยโรคไตบางคน เช่น ผู้ป่วยที่ล้างไตหรือปลูกถ่ายไต ภูมิคุ้มกันอาจจะขึ้นได้ไม่ดีเท่าที่ควร ทำให้มีโอกาสติดโรคโควิด-19 ได้ง่าย ดังนั้น หากผู้ป่วยหรือญาติที่ดูแลพบว่าผู้ป่วยโรคไตติดโควิด-19 ควรพาผู้ป่วยมาพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อโดยเร็วที่สุดเพื่อเข้ารับการรักษา เพราะทุกวันนี้โรงพยาบาลทุกภูมิภาคทั่วประเทศไทย เกือบ 70 แห่ง[2] มีความพร้อมด้านการดูแลผู้ป่วยด้วยยาแอนติบอดี ค็อกเทล ซึ่งเป็นตัวเลือกการรักษาโควิด-19 ที่ได้รับการยืนยันด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัย
สำหรับผู้ป่วยโรคไต ผู้ดูแล และประชาชนทั่วไปที่ประสงค์จะรับชมการเสวนาออนไลน์ดังกล่าวย้อนหลัง เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความเสี่ยงที่ผู้ป่วยโรคไตอาจต้องเผชิญในสถานการณ์การแพร่ระบาด และทราบถึงตัวเลือกการรักษาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยโรคไตที่ติดเชื้อโควิด-19 สามารถค้นหา ‘โควิดจะยังอยู่กับเราต่อไป ผู้ป่วยไตรับมืออย่างไรดี’ ได้ทางแพล็ตฟอร์มยูทูป (YouTube) หรือคลิกที่ https://youtu.be/thGYHSPX3Aw
[1] https://ourworldindata.org/covid-vaccinations?country=THA
[2] https://www.sanook.com/health/31809/
[1] เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2564 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้เพิ่มข้อบ่งใช้ในการป้องกันเชื้อ SARS-COV-2 ที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19 นอกเหนือจากเดิม (วันที่ 15 กรกฎาคม 2564) ซึ่งยาแอนติบอดี ค็อกเทล ผ่านการอนุมัติแบบมีเงื่อนไขภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน ให้ใช้เพื่อการรักษาเท่านั้น
[1] https://clinicaltrials.gov/ct2/show/NCT04425629