สมาคมประกันวินาศภัยไทย ต่อยอด “โครงการธนาคารน้ำใต้ดิน” มุ่งสร้าง “เกษตรกรมืออาชีพ”

308

นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยว่า จากแนวคิดในการบริหารความเสี่ยงเชิงรุกเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมให้มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถประกอบอาชีพได้โดยไม่ต้องประสบกับภัยแล้งหรือน้ำท่วมซ้ำซากอีกต่อไป สมาคมประกันวินาศภัยไทยจึงได้นำแนวคิดการทำระบบธนาคารน้ำใต้ดินของสถาบันน้ำนิเทศศาสนคุณ มาขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมภายใต้ “โครงการบริหารจัดการแหล่งน้ำชุมชนเพื่อการมีน้ำใช้อย่างสมดุลและยั่งยืน (ธนาคารน้ำใต้ดิน)” ในเขตพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้

การดำเนินโครงการธนาคารน้ำใต้ดินเพื่อเปลี่ยน “ทุ่งกุลาร้องไห้” ให้เป็น “ทุ่งกุลายิ้มได้” นั้น ครอบคลุมพื้นที่กว่า 1.6 แสนไร่ ใน 2 อำเภอของจังหวัดร้อยเอ็ด ได้แก่ อำเภอหนองฮีและอำเภอสุวรรณภูมิ ซึ่งประชาชนในพื้นที่กว่า 7,000 ครัวเรือน ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการทำระบบธนาคารน้ำใต้ดินในพื้นที่ชุมชนของตนเองเพื่อร่วมแก้ไขปัญหาภัยน้ำท่วมและภัยแล้ง และได้รับประโยชน์จากโครงการดังกล่าวโดยตรง

นอกจากนี้ สมาคมฯ ยังได้ต่อยอดโครงการธนาคารน้ำใต้ดินด้วยการสนับสนุนงบประมาณในการขุดบ่อธนาคารน้ำใต้ดินให้กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตร้อยเอ็ด ณ ทุ่งกุลาร้องไห้” (มทร.อีสาน วิทยาเขตร้อยเอ็ดฯ) ที่อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด และจัดตั้ง “ศูนย์การเรียนรู้การจัดการน้ำครบวงจรด้วยระบบธนาคารน้ำใต้ดิน” เพื่อเป็นต้นแบบการจัดการน้ำใต้ดินในพื้นที่แห้งแล้งที่อยู่นอกเขตชลประทาน และเป็น “ศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านการเพาะปลูกข้าวหอมมะลิคุณภาพสูงและพืชผลนอกฤดูกาล” ในภาคอีสาน เพื่อให้เกษตรกรได้เข้ามาศึกษาและขยายผลวิธีการทำเกษตรกรรมสมัยใหม่ให้เกิดการพัฒนาและสร้างความยั่งยืนในการประกอบอาชีพ

นายอานนท์ กล่าวเสริมว่า การร่วมมือกับ มทร.อีสาน วิทยาเขตร้อยเอ็ดฯ ในครั้งนี้ ถือเป็นการต่อยอดโครงการธนาคารน้ำใต้ดินให้สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรได้อย่างครบวงจร จากเดิมที่สภาพดินไม่เอื้อต่อการเกษตร ปลูกพืชไม่ได้ในฤดูแล้ง เมื่อมีธนาคารน้ำใต้ดินของสมาคมฯ เข้าไปช่วยบริหารจัดการน้ำ ก็จะทำให้มีน้ำที่เพียงพอสำหรับการเพาะปลูก เมื่อสามารถบริหารจัดการ “น้ำ” ซึ่งเป็นปัจจัยหลักพื้นฐานของการทำการเกษตรได้แล้ว ขั้นตอนการดำเนินงานถัดไปของสมาคมฯ ก็คือการสนับสนุนการศึกษาวิจัยหา “พันธุ์พืช” ที่เหมาะสม รวมถึงการศึกษา “ดินและสภาพแวดล้อมในการเพาะปลูก” พันธุ์พืชดังกล่าว“ผมมองว่ามหาวิทยาลัยนั้นเป็นสถาบันการศึกษาและเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ใกล้ชิดกับชุมชนมากที่สุด รวมถึงเป็นแหล่งสร้างนวัตกรรมที่มีการผสมผสานทั้งเทคโนโลยีและปราชญ์ชาวบ้านได้อย่างกลมกลืน ในขณะที่สมาคมฯ ก็เป็นหน่วยงานภาคเอกชนที่เข้าไปช่วยส่งเสริมให้เกิดการบริหารความเสี่ยงในการทำการเกษตรเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร การร่วมมือและสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยพัฒนาองค์ความรู้เพื่อให้เกษตรกรสามารถปลูกพืชผักผลไม้ที่เหมาะสมกับฤดูกาล สภาพพื้นที่ และความต้องการของตลาดได้ ถือเป็นการสร้างเกษตรกรมืออาชีพ (Smart Farmer) ที่จะสามารถประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้อย่างยั่งยืน”

นายอานนท์ วังวสุ กล่าวปิดท้ายว่า “สมาคมฯ มีความมุ่งมั่นในการเป็นผู้บริหารความเสี่ยงมืออาชีพให้กับทุกภาคส่วนของสังคมอย่างเต็มความสามารถ ในส่วนของภาคการเกษตรนั้น การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำถือเป็นหัวใจสำคัญในการบริหารความเสี่ยงเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร โครงการธนาคารน้ำใต้ดินของสมาคมฯ จะช่วยสร้างความสมดุลและความยั่งยืนในการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อให้ชุมชนและประชาชนสามารถประกอบอาชีพการเกษตรได้ ในขณะที่โครงการต่อยอดผ่านศูนย์การเรียนรู้การจัดการน้ำแบบครบวงจร จะก่อให้เกิดการทำการเกษตรสมัยใหม่ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้และส่งเสริมคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดียิ่งขึ้น ผมเชื่อมั่นว่า มทร.อีสาน วิทยาเขตร้อยเอ็ดฯ มีความพร้อมในการสร้างแหล่งเรียนรู้เรื่องการบริหารจัดการน้ำใต้ดิน รวมถึงการสร้างนวัตกรรมด้านการเกษตรและองค์ความรู้ใหม่ และสามารถที่จะถ่ายทอดความรู้ จัดการฝึกอบรม และเป็นแหล่งศึกษาดูงานด้านการบริหารจัดการน้ำใต้ดินเพื่อการเกษตรที่ครบวงจรแห่งหนึ่งในภาคอีสานต่อไปในอนาคต”