MICRO เชื่อแนวโน้ม Q4/64 พีคทั้งรายได้-กำไร หนุนพอร์ตสินเชื่อปี 2564 แตะ 3,500-4,000 ลบ.

272
วิศาลท์ บูรณสันติกูล

วิศาลท์ บูรณสันติกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า แนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 4/2564 คาดว่าจะเป็นไตรมาสที่ดีที่สุดของปีทั้งรายได้และกำไร  จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ รวมถึงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ของการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งทั่วทั้งประเทศอย่างบูรณาการ ที่จะช่วยเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ส่งผลให้การลงทุนในประเทศกลับมาคึกคัก ประกอบกับเป็นช่วงไฮซีซั่นธุรกิจคาดการณ์ภาพรวมการปล่อยสินเชื่อจะเติบโตกว่าทุกไตรมาส สนับสนุนพอร์ตสินเชื่อปี 2564 ให้อยู่ที่ 3,500-4,000 ล้านบาท หรือเติบโตขึ้นมากกว่า 30% จากพอร์ตสินเชื่อ ณ สิ้นปีก่อน และคาดว่าพอร์ตสินเชื่อปี 2565 จะแตะ 5,000 ล้านบาท ได้ตามแผน พร้อมทั้งกลยุทธ์การขยายสาขาใหม่ที่ปีนี้เปิดสาขาเกินเป้าหมายไปแล้ว โดยเน้นขยายไปยังพื้นที่เป้าหมายเพื่อให้สอดคล้องกับดีมานด์ของการขยายเศรษฐกิจของประเทศ

“สำหรับในการเปิดสาขาใหม่เพื่อรองรับการให้บริการในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา เราสามารถเปิดครบ 4 สาขาได้ตามแผนไปแล้ว ได้แก่ สาขาสมุทรปราการ สาขาปทุมธานี สาขาแพร่ และสาขาปราจีนบุรี และล่าสุดในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ เปิดเพิ่มอีก 3 สาขา คือสาขาอุดรธานี เชียงใหม่ และร้อยเอ็ด ปัจจุบันบริษัทมีสาขาพร้อมให้บริการ 19 สาขาทั่วประเทศ  พร้อมมุ่งสู่การเป็นผู้นำด้านการให้บริการสินเชื่อรถบรรทุกมือสอง ยกระดับการให้บริการและตั้งเป้าขยายสาขาครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาค เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจและบริการแบบครบวงจรให้กับลูกค้าสินเชื่อรถบรรทุกมือสอง พร้อมด้วยการพัฒนาบริการเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุด ไมโครลิสซิ่ง เล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจและศักยภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ตั้งเป้าเปิดสาขาใหม่ไม่ต่ำกว่า 4 สาขาภายในปี 2565 ครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาค มุ่งเน้นจังหวัดที่มีศักยภาพการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม เพื่อสนับสนุนการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อของบริษัท ให้สามารถเติบโตราว 30% ในระยะยาว แม้เศรษฐกิจในประเทศจะส่งสัญญาณการปรับตัวดีขึ้น จากการผ่อนคลายมาตรการป้องกันโควิด-19 และการเปิดประเทศ แต่ก็ยังคงความไม่แน่นอนสูง  บริษัทฯ ยังคงต้องรักษาระดับการตั้งสำรอง และติดตามสถานการณ์ของลูกค้าอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกค้าได้ทันต่อสถานการณ์ต่างๆ ” วิศาลท์ กล่าว

โดยในปี 2565 บริษัทฯ เตรียมพร้อมขยายธุรกิจใหม่ พร้อมให้บริการสินเชื่อรถบรรทุกมือสองอย่างครบวงจร พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้ครอบคลุมทั้งลูกค้าปัจจุบันและลูกค้าใหม่ เพิ่มโอกาสสร้างรายได้เข้ามาต่อเนื่อง ล่าสุดเดินหน้าให้บริการบริษัท ไมโครอินชัวร์ โบรกเกอร์ จำกัด บุกตลาดโบรกเกอร์ ประกันภัย และเตรียมจัดตั้งบริษัท เพื่อดำเนินธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับประเภทสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นหลักประกันและสินเชื่อที่ไม่มีทะเบียนรถเป็นหลักประกัน โดยได้รับมติคณะกรรมการบริษัทให้จัดตั้งแล้วนั้น คาดว่าจดทะเบียนจัดตั้งแล้วเสร็จภายในไตรมาส 2/2565 ด้วยทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาท (MICRO ถือหุ้น 99.99 %)

“ปัจจุบันบริษัทมีฐานลูกค้าเดิมกว่า 5,000 ราย ที่ใช้บริการสินเชื่อของไมโครฯ เรามองเห็นโอกาสในการสร้างธุรกิจใหม่ที่สามารถต่อยอดการให้บริการทางด้านการเงินแบบครบวงจรให้กับลูกค้าได้ โดยล่าสุดครบรอบ 1 ปี หลังเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ของหุ้นลิสซิ่งขวัญใจสิบล้ออย่าง “MICRO” บริษัทฯ และเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน  2564 ที่ผ่านมา บริษัท ไมโครอินชัวร์ โบรกเกอร์ จำกัด หรือ MIB ได้ดำเนินการเปิดบริษัทฯ อย่างเป็นทางการไปแล้ว เพื่อเตรียมพร้อมให้บริการธุรกิจนายหน้าประกันวินาศภัยและนายหน้าประกันชีวิต โดยมีทุนจดทะเบียน 3,000,000 บาท แบ่งออกเป็น 30,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 100 บาท ซึ่ง MICRO ถือหุ้นสัดส่วน 99.99 % ที่มาแหล่งเงินทุนครั้งนี้ มาจากเงินทุนหมุนเวียนบริษัทฯ  ตั้งเป้าประกันภัยปีต่อจากฐานลูกค้าเดิมของบริษัทฯ ประมาณ 30-50% ของลูกค้าที่ประกันภัยครบอายุในปี 2565 คาดว่ามีไม่ต่ำกว่า 2,500 ราย” วิศาลท์ กล่าว

นอกจากนี้ ภายในปี 2565 MICRO ได้เตรียมจัดตั้งบริษัทย่อยเพิ่มเติม อีก 1 แห่ง โดยเมื่อวันที่ 18 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในการจัดตั้งบริษัทเพื่อดำเนินธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับประเภทสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นหลักประกันและสินเชื่อที่ไม่มีทะเบียนรถเป็นหลักประกัน โดยมีทุนจดทะเบียน 50,000,000 บาท  แหล่งเงินทุนมาจากเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท ฯ MICRO เข้าถือหุ้นในสัดส่วน 99.99 % และคาดว่าจะดำเนินการจดทะเบียนจัดตั้งแล้วเสร็จภายในไตรมาส 2 ปี 2565  สามารถต่อยอดกลุ่มธุรกิจ พร้อมหนุนแผนกลยุทธ์ของ MICRO ในการเพิ่มผลิตภัณฑ์ที่เชื่อมต่อได้กับสินเชื่อรถบรรทุกมือสอง ที่อยู่ภายใต้ระบบนิเวศน์ของ MICRO ได้อย่างครบวงจรยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารงาน และการตัดสินใจเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันอีกด้วย