“ไทยประกันชีวิต” พร้อมเคียงข้างชุมชนยามวิกฤต มุ่งพัฒนาทักษะผู้ประกอบการท้องถิ่น

304

ในวงการธุรกิจ ผู้ประกอบการระดับท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน หรือ SMEs ดูจะเสียเปรียบกิจการขนาดใหญ่เสมอมา ทั้งในแง่ของต้นทุนและกำลังการผลิต ลู่ทางการตลาด องค์ความรู้ในการพัฒนากิจการ หรือแม้กระทั่งการรับมือกับวิกฤต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่กินเวลามากว่า 2 ปีและอาจยืดเยื้อไปอีกสักระยะกิจการระดับท้องถิ่นต้องเจอกับมรสุมครั้งใหญ่ที่ส่งผลกระทบให้รายได้สำหรับหล่อเลี้ยงหลายครัวเรือนลดลงหรือหายไป ดังนั้นเจ้าของกิจการไม่ว่าจะธุรกิจขนาดหรือใหญ่จึงต้องคอยอัพเดตข้อมูลและหาแนวทางปรับตัว เพื่อผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้ และเดินหน้าต่อได้อย่างมั่นคง

            ดังเช่นพันธกิจหลักข้อหนึ่งของ ไทยประกันชีวิต ที่มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย ประกอบกับการเล็งเห็นผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ที่สั่นคลอนเศรษฐกิจในระดับฐานราก จึงได้จัดกิจกรรมออนไลน์ทอล์ค “ชี้ทางรอดธุรกิจท้องถิ่น ฝ่าวิกฤตโควิด-19 เพื่อถ่ายทอดความรู้ด้านการขายออนไลน์ การตลาด แนวโน้มพฤติกรรมผู้บริโภคยุคโควิด-19 และประสบการณ์ตรงจากผู้ประกอบการทั้งรุ่นเก๋าและรุ่นใหม่ ที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมสามารถนำเทคนิคต่างๆ ไปปรับใช้กับธุรกิจของตนได้จริง

          โอ – วีระ เจียรนัยพานิชย์ ที่ปรึกษาด้านการตลาดและการสร้างเครือข่ายธุรกิจมืออาชีพ หนึ่งในวิทยากรจากกิจกรรมออนไลน์ทอล์คครั้งนี้พูดถึงภาพรวมเศรษฐกิจยุคโควิด-19 ไว้ว่า “…ตอนนี้เศรษฐกิจทั้งในไทยและต่างประเทศเป็นแบบ K-Shape ตัวอักษร K มีทั้งเส้นที่ลากขึ้นและลง เส้นที่ลากขึ้นหมายถึงคนที่มองเห็นโอกาส จับกระแสได้ และปรับตัวได้ ส่วนเส้นที่ลากลงคือคนที่ปรับตัวไม่ได้ ใช้ชีวิตแบบเดิม ใช้กระบวนการแบบเดิมๆ…ซึ่งสภาพเศรษฐกิจแบบนี้ ส่งผลมาจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป…”

วีระ เจียรนัยพานิชย์

            โดยวีระเล่าถึง “พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป” อย่างเห็นได้ชัด 4 ข้อ ซึ่งเรียกสั้นๆ แบบจำง่ายว่า “4 NO ได้แก่

·      NO Touch ไม่สัมผัสร่างกายกัน

·      NO Share ไม่แบ่งปันสิ่งของร่วมกัน

·      NO Move ไม่เดินทางออกไปเสี่ยงรับเชื้อโรค

·      NO Add-on ไม่เติมแต่ง เนื่องจากไม่จำเป็นต้องพบปะสังสรรค์

            เมื่อพิจารณาพฤติกรรม 4 NO นี้ ก็คงไม่น่าแปลกใจที่การค้าขายออนไลน์จะเฟื่องฟูยิ่งกว่าเดิมในยุคโควิด-19 ซึ่งหนึ่งในผู้ประกอบการท้องถิ่นผู้ประสบความสำเร็จจากการขายออนไลน์ และก้าวมาเป็นนักไลฟ์ขายของที่มีลีลาเฉพาะตัวอย่าง บังฮาซัน – อนุรักษ์ สรรฤทัย อีกหนึ่งวิทยากรในงานออนไลน์ทอล์ค “ชี้ทางรอดธุรกิจท้องถิ่น ฝ่าวิกฤตโควิด-19” จึงอยากกระตุ้นให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นทั่วประเทศที่ยังไม่เคยขายสินค้าออนไลน์ ใช้จังหวะเวลานี้ลุกขึ้นมาลงมือทำ

            “…เมื่อคนไม่สัมผัสกัน ไม่ไปไหนกัน มันก็เป็นโอกาสการเริ่มต้นออนไลน์ที่ดีมาก…” บังฮาซันกล่าวในออนไลน์ทอล์ค “…โควิด-19 มันไม่ดีอยู่แล้วละ แต่สำหรับผู้ประกอบการที่ทำตลาดออนไลน์ ผมว่ามันก็มีโอกาสดีๆ อยู่ในนั้น…”

บังฮาซัน – อนุรักษ์ สรรฤทัย

            บังฮาซันยังได้ฝากเคล็ดลับการไลฟ์ขายของออนไลน์ที่ใครๆ ก็นำไปปรับใช้ได้อยู่หลายข้อ ซึ่งหนึ่งในเทคนิคสำคัญคือ ต้องทำให้คนคลิกเข้ามาในไลฟ์แล้วไม่เลื่อนผ่านไป ด้วยการสร้างความสนใจและความสงสัยให้คนติดตาม เหมือนที่บังฮาซันสวมเสื้อและหมวกสีแดงเพื่อสร้างจุดเด่น จัดลูกคู่มาส่งเสียงร้องให้คนสงสัย และอยากติดตามว่าไลฟ์สดของบังครั้งนี้จะมาขายอะไรบ้าง

            นอกจากการไลฟ์ขายของแล้ว อีกเทคนิคหนึ่งที่สำคัญต่อการขายของออนไลน์ในยุคนี้คือ พ่อค้าแม่ขายต้องจริงใจกับลูกค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้นกิจการ เหมือนกับ กล้า – ปาฏิหาริย์ มาตสะอาด เจ้าของ “เฮือนสวนเฮา” Organic Farm อีกหนึ่งวิทยากรรับเชิญในออนไลน์ทอล์คที่ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเริ่มต้นสร้างตัวตนให้เป็นที่รู้จักในโลกออนไลน์ด้วยเทคนิคการเล่าเรื่องอย่างจริงใจ

ปาฏิหาริย์ มาตสะอาด

            “…ผมรู้สึกว่าในเรื่องที่เราเล่า ยิ่งมีความจริงมากเท่าไร คนก็จะสัมผัสและเข้าถึงได้เท่านั้น…” คุณกล้าแบ่งปันเรื่องเล่าที่ช่วยเพิ่มลูกค้าให้แบรนด์ได้สำเร็จ “…ผมได้ข้อมูลมาว่าข้าวที่เรากินนี้ ชาวนาใช้เวลา 6 เดือนในการเก็บเกี่ยว แต่ไร่หนึ่งได้เงินแค่ 5,000 บาท เราอยากช่วยชุมชนด้วยการปลูกข้าว เลยไปชวนให้คนร่วมระดมทุน โดยที่ผมถ่ายกระบวนการทั้งหมด ตั้งแต่ตอนปลูกข้าว ทำน้ำหมัก ไปจนถึงส่งข้าวถึงมือ…”

            แม้จะเป็นผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่ไม่เคยเป็นที่รู้จักมาก่อน แต่เรื่องเล่าเกี่ยวกับการปลูกข้าวของคุณกล้าที่เปิดเผยและตรงไปตรงมา มีการแบ่งปันคุณค่า ไม่มุ่งแต่จะขายสินค้าเพียงอย่างเดียว ทำให้มีลูกค้าสนใจร่วมระดมทุนและมีออเดอร์เข้ามาเป็นมูลค่าราว 7 – 8 หมื่นบาท ความจริงใจต่อลูกค้านี้จึงเป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญในการสร้างตัวตนของผู้ประกอบการหน้าใหม่ให้เป็นที่รู้จักและน่าจดจำ

            นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสาระความรู้ เทคนิค และประสบการณ์ที่วิทยากรแต่ละท่านได้แบ่งปันไว้ในกิจกรรมออนไลน์ทอล์ค “ชี้ทางรอดธุรกิจท้องถิ่น ฝ่าวิกฤตโควิด-19” ผู้ประกอบการหรือผู้ที่สนใจอยากได้ความรู้ที่นำไปปรับใช้ได้จริง แบบจัดเต็มครบทุกประเด็น สามารถรับชมได้ที่นี่ https://bit.ly/3ckBFRf

            นอกจากกิจกรรมออนไลน์ทอล์คที่มีให้ชมสดและย้อนหลังแล้ว โครงการ “ไทยประกันชีวิต เสริมโอกาส สุขยั่งยืน” ที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2562 ยังเดินหน้าสร้างคุณค่าร่วมกันกับวิสาหกิจชุมชน (Creating Shared Value หรือ CSV) อย่างต่อเนื่อง ผ่านกิจกรรม 2 ช่วงคือ ช่วงอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพด้านการขาย การออกแบบผลิตภัณฑ์ และการจัดการการเงิน และช่วงให้คำปรึกษาที่จะมีโค้ชเดินทางไปให้คำแนะนำแก่ผู้เข้าร่วมอบรมถึงสถานประกอบการ เพื่อให้ทุกคนนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้กับธุรกิจของตัวเองได้อย่างเหมาะสม ตามแนวคิดหลักของกิจกรรมคือ “สอนให้ทำ นำไปใช้ได้จริง”

 

            “เมื่อจบการอบรม ยังมีทีมงานจากไทยประกันชีวิตเดินทางมาให้คำแนะนำถึงที่สวน ไม่ได้จบการอบรมในห้องแล้วจบไป ทำให้เราสามารถปรับใช้ความรู้ที่เรียนมาได้…” คุณกล้าเล่าประสบการณ์ในฐานะผู้เข้าร่วมโครงการไทยประกันชีวิต เสริมโอกาส สุขยั่งยืน รุ่นที่ 2

และเพื่อให้เกิดการส่งต่อความรู้และแรงบันดาลใจออกไปในวงกว้าง โครงการ “ไทยประกันชีวิต เสริมโอกาส สุขยั่งยืน” ยังแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาธุรกิจท้องถิ่นผ่านเฟซบุ๊กเพจ “เสริมโอกาส สุขยั่งยืน” อย่างต่อเนื่อง และสร้างกลุ่ม “ตลาดสุขยั่งยืน” ให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นทั่วประเทศมาโพสต์ขายสินค้าและแบ่งปันเทคนิคต่างๆ ซึ่งกันและกัน โดยปัจจุบันมีสมาชิกนับหมื่นคนแล้ว

            “…เมื่อก่อนเราต้องไขว่คว้าหาความรู้เองว่าเราควรดำเนินธุรกิจแบบไหน แต่วันนี้ไทยประกันชีวิตได้รวบรวมความรู้ที่เป็นประโยชน์มาให้เราที่เพจ…” บังฮาซันกล่าวถึงเพจเสริมโอกาส สุขยั่งยืน “…มันเป็นโอกาสในการหาความรู้ที่อยู่ตรงหน้า แค่คลิกเข้าไปดูก็ได้ประโยชน์...”

            ส่วนโอ ผู้อยู่ในกลุ่มตลาดสุขยั่งยืนด้วยก็บอกว่า “…เครือข่ายชุมชนที่เราอยู่ถือเป็นอีกหนึ่งกลุ่มเป้าหมายในการทำการตลาด ถ้าเราอยู่ในกลุ่มที่มีคนเป็นหมื่นๆ คน แล้วเราขายของได้ทุกคน เท่ากับว่าเราจะขายของได้เป็นหมื่นๆ ชิ้น แต่นอกจากจะขายของได้แล้ว มันจะดียิ่งกว่าเดิมถ้าเราทำให้คนหมื่นคนนั้นรู้จักและชื่นชมในแบรนด์เรา แล้วเอาไปบอกต่อ…”

ทั้งกิจกรรมอบรม มีโค้ชเดินทางไปให้ความรู้ถึงสถานประกอบการ อัพเดตเพจเผยแพร่ความรู้สำหรับพัฒนาธุรกิจ และสร้างคอมมูนิตี้ให้ผู้ประกอบการมาโพสต์ขายสินค้าหรือแลกเปลี่ยนเทคนิค ทำให้โครงการไทยประกันชีวิต เสริมโอกาส สุขยั่งยืนช่วยเติมเต็มผู้ประกอบการท้องถิ่นให้ต่อยอดได้อย่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้น แม้กิจกรรมอบรมจะไม่สามารถจัดขึ้นได้ในปี 2564 เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 แต่ไทยประกันชีวิตยังมีความตั้งใจอย่างยิ่งที่จะจัดกิจกรรมในพื้นที่ภาคใต้ภายในปี 2565

ติดตามข่าวสารโครงการไทยประกันชีวิต เสริมโอกาส สุขยั่งยืน และสาระความรู้สำหรับผู้ประกอบการได้ที่เฟซบุ๊กเพจ “เสริมโอกาส สุขยั่งยืน” https://www.facebook.com/OpportunityforBetterLife และเข้าร่วมกลุ่ม “ตลาดสุขยั่งยืน” ได้ที่ https://www.facebook.com/groups/298615821408667