หัวเว่ยจับมือกระทรวงพลังงาน ร่วมแบ่งปันองค์ความรู้และทักษะให้ไทย สู่ผู้นำความเป็นกลางทางคาร์บอนอาเซียน

236

สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ร่วมมือกับบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการและนโยบายแผนพลังงานดิจิทัลแห่งประเทศไทย (Thailand Digital Energy Policy & Planning Workshop) ภายใต้หัวข้อ “ผลักดันเส้นทางการเปลี่ยนผ่านพลังงานดิจิทัลและโครงสร้างเทคโนโลยีไอซีที สู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียวของประเทศไทย” (Accelerate Digital Energy and ICT Transformation Pathway towards Carbon Neutrality and Contribute to Thailand BCG Economy)โดยมีเป้าหมายเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และแนวทางในการเปลี่ยนผ่านด้านเทคโนโลยีร่วมกับผู้กำหนดนโยบาย นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีกว่า 80 ท่านจากประเทศไทยและประเทศจีน

งานสัมมนาเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้จัดขึ้นในกรุงเทพมหานครและผ่านทั้งช่องทางออนไลน์ เพื่อเป็นการตอบรับเป้าหมายของการผลักดันประเทศไทยสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายใต้นโยบายของรัฐบาล ตามวาระการประชุมผู้นำรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP 26) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศแรกที่จัดทำแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ (LT-LEDS) ภายใต้กรอบความตกลงปารีส (Paris Agreement) เพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี ค.ศ. 2065 ประเทศไทยกำลังมุ่งสู่เป้าหมายดังกล่าว ผ่านความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดระหว่างรัฐบาลและภาคเอกชนเพื่อส่งเสริมโครงสร้างเทคโนโลยีไอซีทีอันเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน

วีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ได้กล่าวถึงพลังงานดิจิทัลในงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการว่า “การเปลี่ยนผ่านด้านเทคโนโลยีไอซีทีกำลังขับเคลื่อนภาคพลังงานไปสู่ยุคดิจิทัล ซึ่งจะช่วยเร่งเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy) ไปสู่เป้าหมายด้านความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายและแผนงานของกระทรวงพลังงาน ตามทิศทางนโยบายภายใต้แผนพลังงานชาติ 2022 (National Energy Plan2022) ที่มุ่งเน้นการสนับสนุนการลงทุนในพลังงานสีเขียวในภาคพลังงาน ดังต่อไปนี้ 1) เพิ่มสัดส่วนการผลิตพลังไฟฟ้าแหล่งใหม่ โดยให้เป็นพลังงานทดแทนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 2) ปรับการใช้พลังงานภาคขนส่งเป็นพลังงานสีเขียว โดยใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) ตามนโยบาย 30/30 3) เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานสูงขึ้นกว่า 30% 4) ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมพลังงานเพื่อส่งเสริมเทรนด์การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ตามนโยบาย 4D1E ของกระทรวงพลังงาน”

จ้าว ไต้ชิง (Zhao Daiqing) หัวหน้าคณะนักวิจัย ศูนย์ยุทธศาสตร์พลังงานและการพัฒนาคาร์บอนต่ำแห่งสถาบันวิจัยพลังงานกวางโจว (Energy Strategy & Low-Carbon Development Center of Guangzhou Energy Research Institute) สถาบันวิทยาศาสตร์จีน (Chinese Academy of Sciences: CAS) ร่วมแชร์แนวทางในหัวข้อต่างๆ รวมถึงเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน 30/60 ของประเทศจีน (China 30/60 Carbon Neutrality Target) การวิจัยด้านนโยบาย (Policy Research) เส้นทางการพัฒนา (Development Path) การออกแบบ (Top Planning Design) และประสบการณ์จากการปฏิบัติจริงในพื้นที่ Greater Bay Area (Practice Experience in Greater Bay Area) โดยเธอกล่าวว่า “สถาบันวิจัยพลังงานกวางโจวแห่งสถาบันวิทยาศาสตร์จีน มุ่งเป้าวิจัยเกี่ยวกับพลังงานทดแทน การประหยัดพลังงาน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงนโยบายด้านอุตสาหกรรม เราหวังจะได้ร่วมมือกับมันสมองในแวดวงอุตสาหกรรม และผู้กำหนดนโยบายของประเทศไทยในการวิจัยนโยบายเพื่อผลักดันการเปลี่ยนผ่านด้านอุตสาหกรรมพลังงาน”

อุตสาหกรรมพลังงานจะเข้าสู่ยุคดิจิทัล เนื่องจากการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะเกิดความท้าทายที่ตามมาจากการเปลี่ยนผ่านพลังงานสู่ดิจิทัล และการพัฒนาระบบเศรษฐกิจ ทั้งอุตสาหกรรมจะต้องหันมาให้ความสำคัญเพื่อเพิ่มการลงทุนในโครงสร้างพลังงานดิจิทัล ซึ่งถือเป็นรากฐานของโลกดิจิทัล ระหว่างการงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการและนโยบายดังกล่าว หัวเว่ยได้แบ่งปันความรู้และกรณีศึกษาเกี่ยวกับบทบาทและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีไอซีทีในอุตสาหกรรมพลังงาน

อาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวย้ำว่า “การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานต้องเผชิญกับความท้าทายเป็นอย่างมาก แต่ในขณะเดียวกันก็นำมาซึ่งโอกาสอันยิ่งใหญ่ทางธุรกิจ พลังงานดิจิทัลจะเป็นอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในระยะเวลา 30 ปีข้างหน้า เราจะยังคงใช้เทคโนโลยีที่ล้ำหน้าที่สุด ประกอบกับประสบการณ์อันเชี่ยวชาญในด้านอุตสาหกรรม มาช่วยผลักดันประเทศไทยไปสู่การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานดิจิทัลและความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยจะแบ่งปันความเชี่ยวชาญและแนวทางผ่านกระทรวงพลังงานแห่งประเทศไทย และให้การสนับสนุนในฐานะพาร์ทเนอร์ที่พึ่งพาได้ สู่แผนความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศไทย”

“ความเป็นกลางทางคาร์บอนได้กลายเป็นมติเอกฉันท์และเป็นภารกิจของทุกประเทศทั่วโลก นวัตกรรมทางเทคโนโลยีจะมีบทบาทสำคัญในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการไปสู่เป้าหมายด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หัวเว่ยส่วนธุรกิจพลังงานดิจิทัล มุ่งมั่นในการผสมผสานเทคโนโลยีดิจิทัลและเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ พัฒนาพลังงานสะอาดและเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานดิจิทัล ส่งเสริมการปฏิวัติพลังงาน รวมไปถึงการสร้างอนาคตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสดใส” ดร. ฟาง เหลียงโจว รองประธานบริหารและหัวหน้าฝ่ายการตลาด บริษัทหัวเว่ย ภาคส่วนธุรกิจพลังงานดิจิทัล กล่าวเสริม

การที่ประเทศไทยจะก้าวไปถึงเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนได้นั้น การเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานดิจิทัลเป็นเทรนด์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ การผสมผสานเทคโนโลยีดิจิทัลและพลังงานผ่านนวัตกรรม จะนำไปสู่การบริหารจัดการที่ชาญฉลาดในด้านการผลิต การส่งผ่าน การกระจาย การกักเก็บ และการใช้พลังงาน ซึ่งจะส่งผลดีอย่างยิ่งต่อประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน